ผู้เขียน หัวข้อ: สศก. เกาะติดสถานการณ์นำเข้าปาล์ม 5 หมื่นตัน แจงผลผลิตพร้อมออกตลาดแล้วมีนาคม-พฤษภาคมนี้  (อ่าน 442 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 85852
    • ดูรายละเอียด
สศก. เกาะติดสถานการณ์นำเข้าปาล์ม 5 หมื่นตัน แจงผลผลิตพร้อมออกตลาดแล้วมีนาคม-พฤษภาคมนี้

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -25 ก.พ. 58 12:58 น.


สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเกาะติดผลกระทบจากการนำเข้า5 หมื่นตัน ระบุ มาตรการช่วยเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มให้ได้รับราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาทเตรียมหมดสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ แจง ผลผลิตปาล์มพร้อมเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคม และมากสุดในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2558

                นายเลอศักดิ์  ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ถึงสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในขณะนี้ว่า จากสถานการณ์ของผลผลิตปาล์มน้ำมันตึงตัวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 จนถึง เดือนมกราคม 2558 ส่งผลให้ในคราวการประชุม กนป .เมื่อ วันที่ 19 มกราคม 2558 ได้มีให้มีการบริหารจัดการทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน คือ ให้ อคส.นำเข้าน้ำมันปาล์มจำนวน 50,000 ตัน ให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เพื่อผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวด  ขณะเดียวกันให้กระทรวงพลังงานลดการใช้เพื่อพลังงานทดแทนเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.5 แต่ไม่เกินร้อยละ 7 เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมันปาล์ม

                ในการนี้ สศก. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการใช้มาตรการลดผลกระทบจากการนำเข้า ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้รับราคาขายผลปาล์มน้ำมันไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท โดยให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม และโรงงานไบโอดีเซลรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 30 บาท ในช่วงเวลานำเข้าจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นั้น ส่งผลให้ราคาผลปาล์มสด ณ หน้าโรงงาน ยังสูงกว่ากิโลกรัมละ 5.00 บาท โดยในช่วงวันที่ 1- 23 กุมภาพันธ์ 2558 ราคาผลปาล์มสด ณ หน้าโรงงาน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.82 บาท แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ประกอบกับในเดือนมีนาคม ต่อจนไปถึงช่วงไตรมาสที่สองของปี 2558  ซึ่งเป็นช่วงผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น จะทำให้อุปทานน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยจะทำให้ราคาผลปาล์มที่เกษตรกรขายได้อ่อนตัวลงอีก
                พร้อมนี้ สศก. ได้ลงพื้นที่ในจังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานีระหว่างวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อติดตามสถานการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม และติดตามผลกระทบจากการนำเข้าน้ำมันปาล์ม 50,000 ตัน โดยได้ตรวจเยี่ยมและรับฟังความคิดเห็นจากทั้งบริษัทเอกชน ชุมนุมสหกรณ์ และเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ซึ่งพบว่า  ผลผลิตปาล์มน้ำมันเริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม และจะมีปริมาณมากสุดในเดือนเมษายนต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งทำให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบกลับสู่ระดับปกติ นอกจากนี้ ยังพบว่า ยังคงมีปริมาณน้ำมันปาล์มขวดวางจำหน่ายใน modern trade จำนวนมากและบางแห่งจำหน่ายในราคาที่ตำกว่าราคาควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ (42 บาท/ขวด) ประกอบกับโรงสกัดได้รายงานว่า เริ่มมีการปฏิเสธการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงกลั่น เนื่องจากคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบจะปรับตัวลดลงตามปริมาณผลผลิตปาล์มที่จะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

                ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มอุปสงค์ของตลาด ขณะนี้จึงไม่มีความจำเป็นในการจำกัดปริมาณการนำซื้อน้ำมันขวด    (ไม่เกินครอบครัวละ  3-6 ขวด) และสามารถปรับสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไบโอดีเซลให้กลับไปเป็นบี 7 ตามปกติได้ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2558 เพื่อไม่ให้เกษตรกรได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาตกต่ำ

                ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งผลักดันร่างยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2558-2569 ให้สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ คณะทำงานได้ดำเนินการปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม  ปี 2558-2569 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ส่งร่างยุทธศาสตร์ ให้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เพื่อพิจารณา โดยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะกรรมการ กรอ. ได้มีเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ (Roadmap) 4 สินค้า โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน เร่งรัดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ โดยให้ความสำคัญกับ การพัฒนาตลาดและส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อย การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ สู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่น และ การประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะได้เตรียมการเพื่อจัดทำแผนงาน/โครงการ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ทั้ง 4 ต่อไป


เรียบเรียง โดย อิทธิพล พันธ์ธรรม  
                อีเมล์. reporter@efinancethai.com อนุมัติ    โดย พิมพ์รภัส ศิริไพรวัน