ผู้เขียน หัวข้อ: ส่งออกเครียดบาทแข็งทุบออร์เดอร์ใหม่  (อ่าน 406 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 85757
    • ดูรายละเอียด
ส่งออกเครียดบาทแข็งทุบออร์เดอร์ใหม่
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 24, 2015, 10:05:55 AM »
ส่งออกเครียดบาทแข็งทุบออร์เดอร์ใหม่





บาทแข็ง-ค่าเงินคู่ค้าอ่อนส่อเค้าป่วนยาวทุบออร์เดอร์ใหม่ไตรมาส1วูบ กลุ่มอาหาร-เกษตร โดนหนักสุด  ข้าวชี้แข็งค่าทุก 20 สตางค์ทำราคาแพงขึ้น 2 ดอลล์/ตัน ยิ่งแข่งยาก รับคำสั่งซื้อต้องคิดหลายตลบ  "ยาง-มันสำปะหลัง"เจอลูกค้าใช้ราคาคู่แข่งที่ต่ำกว่ามากดรับซื้อ "ไก่-การ์เมนต์"เลิกขายสกุลยูโรหวั่นขาดทุนอ่วม  "อัญมณี-รถยนต์"ผวาวืดเป้า สภาหอฯยังมั่นใจแบงก์ชาติเอาอยู่ "พาณิชย์"ขยับปรับลดเป้าส่งออก "สมภพ"จี้ไทยเลิกเป็น "จับกัง อีโคโนมี"  แนะเร่งรายได้บริการแทนส่งออก
จากเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค และมีความผันผวนจากเงินทุนไหลเข้า ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทย โดยเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทยนำโดยนายอิสระ  ว่องกุศลกิจ ได้เข้าพบนายประสาร  ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพื่อให้ข้อมูลผลกระทบและขอให้ ธปท.ช่วยดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพไม่เสียเปรียบคู่แข่งขัน สอดรับกับการตรวจสอบของ"ฐานเศรษฐกิจ"ที่พบว่าผู้ส่งออกได้รับผลกระทบในวง กว้างจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างชัดเจนมากขึ้น
++บาทแข็งข้าวไทยแพงโด่ง
นายเจริญ  เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย   เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" เวลานี้อัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาทเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆการส่งออก ข้าวไทย เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่ามีผลต่อราคาข้าวที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างข้าวขาว5 % ส่งออกราคาเอฟโอบี(ราคา ณ ท่าเรือต้นทาง)ของไทย ณ ปัจจุบันเฉลี่ยที่ 421 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนเวียดนามราคาเพียง 355 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เป็นผลจากปีที่ผ่านมาเวียดนามได้ปรับลดค่าเงินด่อง 2 ครั้ง ทำให้เงินด่องอ่อนค่าลง 2% มีผลให้ข้าวเวียดนามต่ำกว่าไทย ส่วนราคาข้าวอินเดีย และปากีสถานก็ต่ำกว่าไทย
ดังนั้นหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากปีที่แล้วที่เฉลี่ยอยู่ที่  33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ  มาอยู่ที่ 32.50 บาทในขณะนี้  หากบาทแข็งค่าขึ้นอีกเช่น 20 สตางค์(มาอยู่ที่ 32.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ)จะมีผลให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้นอีก 2 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันยิ่งขายยาก
"การจะรับออร์เดอร์ใหม่วันนี้ ต้องคิดหนักหลายตลบ ทั้งการโค้ดราคา การทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน(ฟอร์เวิร์ด) ฟิกซ์เรตไว้กับแบงก์ที่เขาจะเป็นผู้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยน กำหนดวงเงิน และระยะเวลา ขณะที่การซื้อขายเราให้เครดิตเทอมการชำระเงินแก่ลูกค้า เช่นลูกค้าจีนเฉลี่ย 90-120 วัน สหรัฐฯ60-90 วัน ซึ่งกว่าเขาจะชำระเราอาจขาดทุนแลกเปลี่ยนที่ทำฟอร์เวิร์ดไว้กับแบงก์ก็ได้"
++ถุงมือยาง-มันถูกกดราคาหนัก
ขณะที่นายประชัย  กองวารี  นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกระทบต่อผู้ส่งออกถุงมือยางเช่นกัน เพราะมีผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ขณะที่ลูกค้าได้ใช้ราคาที่เจรจากับคู่แข่งขันของไทยเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนามที่ค่าเงินอ่อนกว่าไทย และสินค้าราคาถูกกว่ามากดราคาซื้อจากไทย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งทางสมาคมจะได้ตรวจสอบผลกระทบที่ชัดเจนอีกครั้ง
สอดรับกับนางสุรีย์  ยอดประจง นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทยที่ระบุว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในเวลานี้ได้รับผลกระทบมาจากเงินบาทที่ อ่อนค่าน้อยกว่าคู่แข่งหรืออีกนัยหนึ่งคือแข็งค่ามากกว่า ขณะที่เวลานี้เวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งอันดับ 1 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยไม่ว่าจะเป็นมันเส้น และแป้งมันที่ส่งออกไปตลาดใหญ่สุดคือจีนได้ปล่อยให้เงินด่องอ่อนค่า ทำให้สินค้ามีราคาถูกลง มีผลให้คู่ค้าจากจีนได้นำราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของเวียดนามที่ต้นทุนการ ผลิตต่ำกว่า และราคาถูกกว่ามาต่อรองเพื่อกดราคาซื้อสินค้าไทย เช่น ราคาเวียดนาม 210 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันก็มากดราคาซื้อไทยที่ 205 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เป็นต้น
++ไก่ไทยตลาดยุโรปราคารูด
ด้านนางฉวีวรรณ  คำพา ประธานกรรมการ บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไก่ มีตลาดหลักที่สหภาพยุโรป(อียู) กล่าวว่า ลูกค้าในตลาดอียูสัดส่วน 70% จะซื้อขายสินค้าไก่เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และอีก 30% จะซื้อขายเป็นสกุลยูโรและสกุลปอนด์ ซึ่งเวลานี้ที่กระทบมากคือการซื้อขายเป็นสกุลยูโร และสกุลปอนด์ เพราะค่าเงินลดลง โดยคู่ค้าอ้างเศรษฐกิจยุโรปไม่ดี และเงินทั้ง2สกุลที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลให้ราคานำเข้าสินค้าไก่ของอียูจากไทยลดลงอย่างมาก
"เวลานี้ลูกค้ายังต่อราคาลงอีก โดยหากไม่ยอมจะหันไปนำเข้าสินค้าไก่จากบราซิลที่มีราคาถูกกว่าแทน ทำให้การเจรจาซื้อขายช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มสั่งซื้อสินค้ากันมากขึ้น เป็นไปด้วยความระมัดระวังของทั้ง 2 ฝ่าย"
++การ์เมนต์เลิกขายสกุลยูโร
เช่นเดียวกับนายวัลลภ  วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า จากเงินบาทที่แข็งค่ามากสุดในภูมิภาค มีผลให้การส่งออกเครื่องนุ่งห่ม(การ์เมนต์)ไปตลาดอียูซึ่งเป็นหนึ่งในตลาด สำคัญของไทย(ปี 57 มีสัดส่วน 24%ของการส่งออกในภาพรวม)  ค่อนข้างมีปัญหาเพราะที่ผ่านมาการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปอียูจะซื้อขายเป็น สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และสกุลยูโรสัดส่วน 50:50  เวลานี้ในส่วนที่ซื้อขายเป็นสกุลดอลลาร์ไม่มีปัญหาเพราะดอลลาร์แข็งค่า ราคาสินค้าไม่เปลี่ยนแปลงมาก แต่มีปัญหาที่ซื้อขายเป็นสกุลยูโร ที่อ่อนค่าลงจากปลายปี 2557 ค่าเงินยูโรเทียบเป็นเงินบาทเฉลี่ยที่ 41 บาท/ยูโร แต่ล่าสุดเฉลี่ยเหลือเพียง 36.90 บาท/ยูโร หรือหายไป 4.10 บาท/ยูโร ทำให้คำสั่งซื้อล่วงหน้าขาดทุน
"สิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้คือออร์เดอร์ใหม่เราไม่ขายเป็นสกุลยูโรเพราะถ้ารับ ก็จะขาดทุน ส่วนจะซื้อขายเป็นดอลลาร์ ลูกค้าก็จะให้ลดราคาลงอีกหากเราลดให้เขาไม่ได้เขาก็อาจย้ายไปซื้อที่ถูกกว่า ไทย มีผลให้การรับออร์เดอร์ลูกค้ายุโรปในเวลานี้ต้องคิดหนัก"
++อัญมณีฯจับตาเดือนต่อเดือน
นายสมชาย  พรจินดารักษ์ นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทย และเครื่องประดับ กล่าวว่า จากเงินบาทที่แข็งค่า มีผลให้คำสั่งซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากต่างประเทศเข้ามายังไทยใน ช่วงนี้น้อยมาก เพราะมีผลให้สินค้าไทยแพงขึ้น ลูกค้าส่วนใหญ่ได้หันไปสั่งซื้อจากเวียดนาม ฮ่องกง รวมถึงเทรดดิ้งอย่างสิงคโปร์แทน
ส่วนตลาดใหม่ที่เป็นความหวัง เช่นรัสเซียก็ประสบปัญหาค่าเงินรูเบิลอ่อนค่า และจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงมาก มีผลให้รัสเซียมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันและพลังงานลดลง ทำให้มีกำลังซื้อลดลง มองสถานการณ์ภาพรวมส่งออกอัญมณีฯปีนี้อาจแย่กว่าปีที่ผ่านมา(ปี57 โดยไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับรวมทองคำ มูลค่า 3.24 แสนล้านบาท) ทั้งนี้คงต้องจับตาสถานการณ์แบบเดือนต่อเดือน เพราะปัจจัยที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงเร็ว
++รถยนต์ผวาไม่ถึงเป้า
นายสุรพงษ์  ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ค่าเงินมีผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ค่อนข้างมาก ล่าสุดคือค่าเงินรูเบิลที่อ่อนอาจมีผลให้การนำเข้ารถยนต์ของรัสเซียจากไทยใน ปีนี้ลดลง ซึ่งในเรื่องค่าเงินนี้คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในทุกตลาด เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้น ๆ รองจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ของไทยที่ตั้งเป้า หมายไว้ในปีนี้ที่ 1.2 ล้านคน จากปี 2557 ส่งออก 1.12 ล้านคัน
++หอฯเชื่อแบงก์ชาติเอาอยู่
นายวิชัย  อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เผยว่า เรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกนี้ทางหอการค้าไทยได้หารือ กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งทางผู้ว่าการได้รับปากจะช่วยดูแล ทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นระดับหนึ่งว่า ธปท.จะดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนมากได้  ส่วนเครื่องมือที่จะใช้คงไม่สามารถเปิดเผยได้ ขณะที่มองปัจจัยเสี่ยงส่งออกปีนี้มากสุดตามลำดับคือ เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจคู่ค้า ราคาน้ำมันที่ลดลงกระทบต่อรายได้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และค่าเงินบาท
++พาณิชย์ส่งซิกลดเป้าส่งออก
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง โดยจะประเมินว่าความเปลี่ยนแปลงค่าเงินเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหรือช่วง ก่อนหน้านั้นมีทิศทางที่มากกว่าคู่แข่งหรือไม่
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า จะมีการเรียกประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกในช่วงเดือนมีนาคม เพื่อประชุมหารือสถานการณ์การส่งออก รวมถึงหารือว่าจะมีการปรับเป้าหมายการส่งออกลงจากเดิมที่ 4% มูลค่า 2.39 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลงหรือไม่ เบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีการปรับเป้าลงตามสถานการณ์
++ จี้ลดพึ่งส่งออกหันพึ่งบริการ
รศ.ดร.สมภพ  มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM)  กล่าวว่า  ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการส่งออกเป็นหลัก แต่พบว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมาภาคส่งออกของไทยมีการเติบโตแบบถดถอย และเชื่อว่าในอนาคตนับจากนี้ไปการส่งออกจะไม่ใช่พระเอกหรืออัศวินขี่ม้าขาว อีกแล้ว แต่จะเป็นภาคบริการ ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตมากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับภาคบริการมากกว่า  เช่น ญี่ปุ่น สัดส่วนภาคบริการ 60% ของจีดีพี หรือสิงคโปร์ ที่มีสัดส่วนภาคบริการสูงถึง 70-80% ของจีดีพี
"ในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อนภาคบริการมีสัดส่วนราว 55-60% ของจีดีพี แต่เมื่อรัฐบาลปรับโครงสร้างธุรกิจหันไปมุ่งเน้นภาคส่งออกทำให้สัดส่วนของ ภาคบริการลดลง แต่วันนี้โลกเปลี่ยนไป ประเทศมหาอำนาจแม้แต่จีน ยังลดบทบาทภาคการส่งออก หันไปใช้การลงทุนในต่างประเทศแทน และมีนโยบายที่จะเพิ่มภาคบริการให้มากขึ้น ดังนั้นไทยเองก็ต้องปรับตัวไม่ใช่เป็น "จับกัง อีโคโนมี" อีกต่อไป และหันมาให้ความสำคัญกับภาคบริการที่ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 48% ของจีดีพีประเทศ โดยรัฐบาลต้องผลักดันให้เพิ่มเป็น 55% ภายใน 3 ปี และ 60% ภายใน 5 ปีนับจากนี้ เพื่อทำให้ไทยมีความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจมากขึ้น โดยภาคบริการไทยที่น่าสนใจและมีศักยภาพได้แก่ เฮลธ์แคร์ , อาหาร และท่องเที่ยว เป็นต้น"


ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558)