ผู้เขียน หัวข้อ: 'ประยุทธ์'จี้เงินอุ้มราคายางต้องถึงเกษตรกรรายย่อย  (อ่าน 752 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84347
    • ดูรายละเอียด
'ประยุทธ์'จี้เงินอุ้มราคายางต้องถึงเกษตรกรรายย่อย

วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2015 เวลา 15:39 น.


'ประยุทธ์'จี้เงินอุ้มราคายางต้องถึงเกษตรกรรายย่อย


"พล.อ.ประยุทธ์" นายกฯ จี้เงินอุ้มราคายาง ต้องถึงเกษตรกรรายย่อย บริษัทร่วมทุนยางแนะเร่งระบายสต็อก


"ประยุทธ์" กำชับประชุมกนย.ใช้เงิน 6,000 ล้านซื้อยางนำราคาตลาดให้เกษตรกรรายย่อยได้ประโยชน์ มอบคณะกรรมการระดับจังหวัดดูแลรายพื้นที่ป้องกันรายใหญ่หาประโยชน์ "อำนวย" เล็งระบายยางช่วงปิดกรีดยางหากได้ราคาเหมาะสม สั่งกระทรวงวิทย์ฯ ทำแผนใช้ยางพาราในประเทศ เสนอครม.เป็นแพ็คเกจโดยเร็ว "เยี่ยม" กระทุ้งรัฐ ระบายยางในสต็อก ชี้แนวโน้มราคาสูงขึ้น เร่งตั้งตลาดซื้อขายจริง


นาย อำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน วานนี้ (19 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติวงเงิน 6,000 ล้านบาทจากกองทุนมูลภัณฑ์กันชน (บัฟเฟอร์ฟันด์) ที่มีวงเงินเพื่อซื้อยางทั้งหมด 20,000 ล้านบาท การอนุมัติวงเงิน 6,000 ล้านบาทนี้ เป็นการซื้อยางในราคานำราคาตลาด เพื่อช่วยเกษตรกรแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ1.อนุมัติวงเงิน 4,000 ล้านบาทให้องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ซื้อยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควันจากเกษตรกรรายย่อยเพื่อเก็บเข้าสต็อก และนำยางดังกล่าวมาแปรรูป พร้อมระบายขายออกราคาที่สูงขึ้นในเวลาที่เหมาะสม


2.อนุมัติ วงเงิน 2,000 ล้านบาท ให้ อ.ส.ย.ซื้อน้ำยางสดและยางก้อนถ้วยจากเกษตรกรรายย่อย ช่วยแก้ปัญหาราคาน้ำยางสดและยางก้อนถ้วยที่ราคารับซื้อต่ำกว่า 40 บาทต่อกิโลกรัม หลังเริ่มใช้วงเงินเข้าไปรับซื้อทำให้น้ำยางสดราคาขยับขึ้นมาอยู่ที่ 45.5 บาทต่อกิโลกรัม
ที่ประชุม กนย.ได้หารือถึงหลักเกณฑ์รับซื้อยางพาราทั้งสองส่วน เน้นให้ซื้อจากเกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตรรายย่อย ไม่ใช่รับซื้อยางพาราจากผู้ค้ารายใหญ่


"นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตลาดกลางและส่วนราชการในระดับจังหวัดตรวจสอบว่า เกษตรกรที่มาขายยางให้รัฐบาลรับซื้อนั้นต้องเป็นเกษตรกรรายย่อยที่จดทะเบียน ซื้อขายยางกับตลาดกลางไว้ รวมถึงสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน พ่อค้ารายใหญ่ห้ามนำยางมาขายให้รัฐบาล" นายอำนวย กล่าว


แนวทางระบายยางออกจากสต็อก ที่ประชุม กนย.หารือว่าจะยึดตามมติ ครม.ให้ระบายยางช่วงที่ราคาเหมาะสมไม่ระบายช่วงราคาตกต่ำเพราะจะยิ่งทำให้ ราคาลดลง โดยขณะนี้สถานการณ์ราคายางในประเทศ ราคาเอฟโอบีขยับขึ้นมาที่ 60 บาท/กก.ใกล้กับราคาที่รัฐบาลรับซื้อไว้ที่ 63.15 บาท/กก.ส่วนเอ็มโอยูกับจีนเรื่องสินค้าเกษตร คือ ข้าว 2 ล้านตันและยางพารา 2 แสนตัน ถ้าตกลงราคากับจีนได้ก็เป็นเวลาเหมาะสมในการระบายช่วงที่ปิดกรีดยาง คาดไม่กระทบกับราคายางพาราในประเทศ


ส่วนการเพิ่มปริมาณใช้ยางในประเทศ กนย.มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำแพ็คเกจเพิ่มปริมาณใช้ยางในประเทศในปีนี้ โดยรวบรวมข้อมูลการใช้ยางในประเทศเป็นอย่างไร โดยเสนอต่อ ครม.ให้พิจารณาโดยเร็ว


ที่ประชุม กนย.ยังรับทราบถึงสถานการณ์ราคายางในตลาดโลกด้วยว่า สาเหตุที่ราคายางยังไม่เป็นไปตามเป้า เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงส่งผลให้ราคายางเทียมมีราคาถูกภาคอุตสาหกรรม การผลิตจึงเลือกที่จะใช้ยางเทียมมากกว่ายางธรรมชาติ ราคายางธรรมชาติจึงตกลงตามราคาน้ำมัน โดย 3 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินมาตรการต่างๆให้ราคายางขยับขึ้น


"หลังฤดูปิดกรีด กระทรวงเกษตรมีเวลา 2 เดือนครึ่ง จะเป็นฤดูผลัดใบที่ไม่กรีดยาง รัฐบาลจะหารือและทำความเข้าใจกับชาวสวนและทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ทำไปว่าเกิดประสิทธิภาพและเพียงใด นายกฯ ยังพูดถึงการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยมีเงินใช้สอย และขอผู้ประกอบการช่วยแก้ปัญหาราคายางต่อไป" นายอำนวย กล่าว


นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ ประธานผู้บริหารบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCO) กล่าวว่า ช่วงที่ปิดหน้ากรีดยางพารา จะส่งผลให้น้ำยางออกสู่ตลาดน้อย ดังนั้นจึงเหมาะสมที่รัฐบาลจะระบายยางที่มีอยู่ในสต็อกออก โดยไม่กระทบกับราคายางในประเทศ เพราะสต็อกของไทยที่มีอยู่เดิม 2 แสนตัน และที่รับซื้อจากโครงการบัฟเฟอร์ ฟันด์ ตามครม.อนุมัติเงินรับซื้อ หากใช้ซื้อยางในโครงการได้ทั้งหมดจะส่งผลให้ไทยมียางในสต็อกมากถึง 4 แสนตัน ถือเป็นปริมาณที่สูงมาก


"ขณะนี้ไม่มีเหตุผลใดที่ไม่ให้ระบายยางออกสู่ตลาด แต่การระบายต้องมีการบริหารจัดการที่ดี หากสามารถจัดการได้จะทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นได้"


นายเยี่ยม กล่าวว่า การสต็อกยางมีความจำเป็นแต่ไม่ควรจะเกิน 45 วัน หากเกินกว่านี้จะบริหารยาก ทั้งประเทศสต็อกไม่ควรเกิน 5 แสนตัน แต่ต้องระบายยางอย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้สถานการณ์ราคาช่วงแล้งหรือปิดหน้ากรีดนี้ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นถึง 70 บาท/กก.และอาจจะถึง 80 บาท/กก.ได้ช่วงปลายฤดู มีปัจจัยบวกจากความต้องการใช้ยางยังมีเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันไทยควรรีบดำเนินการจัดตั้งตลาดซื้อขายจริงให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เช่นเดียวกับตลาดของรับเบอร์ซิตี้ ในมณฑล ชิงเต่าของจีน ซึ่งเรื่องนี้ทาง IRCO ได้เสนอให้กระทรวงเกษตรฯพิจารณาไปแล้ว แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหว ตลาดดังกล่าวจะเป็นการลดอำนาจการซื้อขายยางในตลาดล่วงหน้าได้ และจะเป็นประโยชน์ต่อชาวสวนยางที่จะขายได้ในราคาที่สูงขึ้น


โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 


วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558, 11:54