ผู้เขียน หัวข้อ: ปลัดฯ แฉไอ้โม่งหวังผลทุบราคา  (อ่าน 957 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84550
    • ดูรายละเอียด
ปลัดฯ แฉไอ้โม่งหวังผลทุบราคา
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 06, 2015, 04:28:54 PM »
ปลัดฯ แฉไอ้โม่งหวังผลทุบราคา


ก.เกษตรฯฉุนข่าว คสช.สั่งอายัดยาง 49 ตู้คอนเทนเนอร์ขายให้ไชน่า ไห่หนาน อ.ส.ย.ยันแค่ข่าวลือหวังทุบราคายางซื้อของถูก ขณะอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยอมรับมีการชะลอรับมอบยาง 2.1 แสนตันจริง ชี้ตกลงเรื่องคุณภาพไม่ได้ ระบุฝ่ายจีนกดราคารับซื้ออ้างเป็นราเปียก ด้าน "อุทัย" ชี้มีกลิ่นตุ เจ้าหน้าที่ อ.ส.ย.มีพิรุธ ปิดปากเงียบ หากไม่มีมูลต้องแจงออกมาแล้ว

จากกรณีมีรายงานข่าว เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้มีโทรศัพท์ด่วนไปยังองค์การสวนยาง หรือ อ.ส.ย.ที่เป็นคู่สัญญาในการซื้อขายยางพารากับบริษัท ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ อินดัสทรีกรุ๊ปฯ ให้ทำการอายัดยางพาราจำนวน 49 ตู้คอนเทนเนอร์ ปริมาณ 790 ตัน เพื่อส่งมอบให้กับไชน่าไห่หนาน โดยระบุเป็นยางเกรดต่ำ คาดมีการขายให้กับรัฐวิสาหกิจจีนไม่ถึง 46 บาท/กิโลกรัม เป็นเหตุให้ราคายางในประเทศตกต่ำ และไม่มีการซื้อขายยางในตลาด

ต่อเรื่องนี้นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เป็นข่าวลือจากผู้ไม่หวังดี ที่หวังผลให้ราคายางตก อ้างคสช. สั่งเบรกขายยาง จำนวน 2.1 แสนตันที่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายกับไชน่าไห่หนานไปแล้ว รวมถึงการสั่งซื้อยางใหม่นอกโครงการอีก 2 แสนตัน ในราคา 62 บาทต่อกิโลกรัมเช่นเดียวกัน โดยกำหนดส่งมอบเดือนละ 2 หมื่นตัน โดยในเรื่องนี้ได้สอบถามไปยังนายอรุณ เลิศวิไลย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการองค์การสวนยาง และคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การสวนยางแล้ว ได้รับการยืนยันว่า เป็นเพียงแค่ข่าวลือ ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ดี อ.ส.ย. เป็นรัฐวิสาหกิจมีความเป็นเอกเทศ เรื่องการซื้อขายต้องไปว่ากันเองกับทางไชน่า ไห่หนาน ทางกระทรวงไม่ได้ควบคุมโดยตรง เป็นเพียงแค่กำกับดูแล

"ในส่วนของการซื้อขายยางระหว่าง อ.ส.ย. กับไชน่า ไห่หนาน ในแง่ของการปฏิบัติตั้งแต่มีการเริ่มต้นจนถึงการอนุมัติเซ็นสัญญาได้ทำถูกต้องตามขั้นตอนทุกประการ ไม่งั้นจะมีการเซ็นสัญญาได้อย่างไร แต่ไม่ทราบว่าผิดสัญญาอะไรกัน ถึงได้มีการอายัดนั้นไม่ทราบจริงๆ หากสมมติว่ามีการอายัดจริง หากเราผิดสัญญา ทางไชน่าไห่หนาน ก็มีสิทธิ์ฟ้องเราได้ "

สอดคล้องกับนายสุวิทย์ รัตนพงศ์ คณะที่ปรึกษานายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงข่าวลือจากผู้ไม่ปรารถนาดี เพราะไม่ต้องการให้ราคายางขึ้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ทางคณะทำงานของนายอำนวย ได้เชิญผู้แทนจากไชน่า ไห่หนาน มาหารือเพื่อขอให้เร่งรับมอบยางโดยเร็ว ซึ่งทางบริษัทได้เปิดแอล/ซี ใน 2 ล็อตแรกแล้ว โดยล็อตแรกจำนวน 2 พันตัน และล็อตที่ 2 จำนวน 8 พันตัน ขณะนี้การดำเนินการส่งมอบยางยังอยู่ในล็อตแรก

"จากข่าวที่ออกมาทำให้ไม่เป็นผลดีต่อวงการยาง เพราะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น ลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีความตั้งใจดี ในการยกระดับราคายางในทุกภาคส่วนช่วยเหลือเกษตรกร โรงงานแปรรูป และผู้ประกอบการให้ราคายางไปถึง กิโลกรัมละ 60 บาท ยังมีข่าวออกมาอย่างนี้คนทำงานเสียกำลังใจกันหมด"

ขณะที่นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ได้ข่าวเช่นเดียวกันว่าให้ชะลอการขายยาง อาจจะเป็นการตกลงเรื่องคุณภาพไม่ได้ สัญญาที่ได้ตกลงกัน มีการคัดคุณภาพยางระหว่างฝั่งผู้ขายเป็นคุณภาพยางแบบนี้ ซึ่งในสัญญาหากบอกว่าตกลงไม่ได้ก็ไม่ต้องขน เพราะฝั่งผู้ขายก็อยากขายยางคุณภาพดี แต่ยางในสต๊อกก็มียางเสื่อมไปบางส่วน ซึ่งในสัญญาซื้อขาย หากราคายาง(ยางแผ่นรมควัน) คุณภาพดีราคากิโลกรัมละ 63.56 บาท แต่หากเป็นยางเสื่อมคุณภาพ จะใช้ราคาในวันที่เซ็นสัญญา ซึ่งทางฝั่งผู้ขายก็อยากขายยางคุณภาพดีเพราะได้ราคา ขณะที่ฝั่งผู้ซื้อเป็นธรรมดาที่อยากซื้อในราคาถูก

โดยแบ่งเกรดราคารับซื้อยางเป็น 3 ประเภท ได้แก่ยางเสียรูปทรง ต้องปรับลดราคาลง 30 สตางค์/กิโลกรัม ยางที่เป็นราสนิมหรือราแห้งปรับลดลง 90 สตางค์/กิโลกรัม ส่วนยางที่เป็นราเปียก ราสีขาว มีความชื้น ทำผลิตภัณฑ์ไม่ได้ ปรับราคาลดลง 4.48 บาท/กิโลกรัม ปัจจุบันมีการส่งมอบยางพาราให้กับไชน่า ไห่หนานจริงเพียง 377 ตันเท่านั้น จากที่มีการเปิดแอล/ซีล็อตแรกไว้ที่ 2 พันตัน ดังนั้นล็อตที่มีข่าวหลุดออกมาคาดว่าจะตกลงราคากันไม่ได้ อย่างไรก็ดีการส่งมอบยางเดือนละ 2 หมื่นตัน ภายใน 10 เดือน จะไม่กระทบกับราคาในประเทศ

ในขณะที่นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้โทรศัพท์สอบถามไปยังผู้อำนวยการอ.ส.ย. และเจ้าหน้าที่ กรณีที่คสช. ได้มีคำสั่งอายัดยาง 49 ตู้คอนเทนเนอร์ โดย 40 ตู้มีการขนลงเรือจาก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อไปลงเรือใหญ่ที่แหลมฉบัง จังหวัดระยอง ส่วนอีก 9 ตู้คอนเทนเนอร์ ยังอยู่ที่สถานียางขุนทะเลที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และกำลังเตรียมพร้อมในการขนส่ง ว่าจริงหรือไม่ ทั้งนี้ผู้อำนวยการ อ.ส.ย. รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปิดปากเงียบ จึงเห็นว่ามีพิรุธ ปกปิด ส่อเจตนาทุจริต หากไม่มีมูลคงชี้แจงแล้ว

ขณะเดียวกันเพื่อนำเสนอประเด็นให้รอบด้าน "ฐานเศรษฐกิจ"ได้พยายามติดต่อนายอรุณ เลิศวิไลย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการองค์การสวนยาง และคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การสวนยาง แจ้งว่ายังไม่สะดวกที่จะพูดคุยด้วย ส่วนด้านนายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่การกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบบริหารจัดการยางพาราของประเทศ ไม่สามารถติดต่อได้

ด้านนักวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพารา ระบุว่าราคายางปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดต่างประเทศที่เริ่มดีขึ้น ขณะที่ผลผลิตยางในประเทศเริ่มลดลง ผู้ประกอบการบางรายยังต้องซื้อเพื่อส่งมอบ อย่างไรก็ตาม ยังคงขายออกยาก และล่าสุดมีข่าวว่าผู้ซื้อเลื่อนกำหนดรับสินค้าออกไป ชี้ให้เห็นว่าราคายางยังมีความเสี่ยง จึงไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ต้องรอดูหลังจากนี้อีกประมาณ 1 เดือน ซึ่งผลผลิตจะลดลงอย่างชัดเจน

ส่วนสมาคมผู้ค้ายานยนต์ญี่ปุ่น (JADA) เปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่เดือนมกราคมลดลง19.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สู่ 401,366 คัน ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 2 เดือน และปรับตัวลงรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 3 ปี จากการปรับขึ้นภาษีบริโภคในเดือนเมษายน 2557 ได้ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคเดือนธันวาคมลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับที่เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพฤศจิกายน โดยราคาน้ำมันและยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลงเป็นสาเหตุทำให้การใช้จ่ายปรับตัวลดลง

อนึ่ง รายงานจากสถาบันวิจัยยาง ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ราคายางตลาดกลางยางพาราอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ยางแผ่นดิบอยู่ที่ระดับ 58.55 บาท/กิโลกรัม และยางแผ่นรมควันอยู่ที่ระดับ 63.15 บาท/กิโลกรัมไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นราคาที่องค์การสวนยางซื้อตามโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษา เสถียรภาพราคายาง (บัฟเฟอร์ ฟันด์) โดยภาพรวมราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูง ขึ้นตามตลาดล่วงหน้าโตเกียวและราคาน้ำมันดิบ ประกอบกับใกล้เข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ ผลผลิตยางเริ่มออกสู่ตลาดน้อยลง และนโยบายแก้ไขปัญหาราคายางของภาครัฐ น่าจะเป็นปัจจัยหนุนราคายางได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงซบเซา ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ยาง

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางกรณีค่าชดเชยรายได้ 1 พันบาท/ไร่ ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ว่า ขณะนี้ได้อนุมัติจ่ายเงินไปแล้วมากกว่า 90% ของวงเงินที่ตั้งเอาไว้แล้ว(วงเงิน 8.5 พันล้านบาท) แต่เงินอาจไม่ถึงมือเกษตรกรทันที เพราะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบให้ถูกต้องหลายขั้นตอน ทั้งนี้จะมีการจัดระเบียบทะเบียนสหกรณ์ใหม่ทั้งหมด โดยอาจอนุโลมให้คนที่อยู่มาก่อนเป็นเวลานาน รวมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาใน 2 สัปดาห์ว่าจะทำอย่างไรเพื่อนำยางมาใช้ในประเทศให้มากขึ้น เพื่อดันราคายางให้สูงขึ้น

ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวจะสนับสนุนให้ใช้กลไกสหกรณ์ช่วยรับซื้อและต่อรองราคาขาย โดยที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และรัฐก็จะไม่ไปแทรกแซงกลไกตลาดอย่างที่ทำกันมาแบบผิดๆ ในรัฐบาลก่อน โดยรัฐบาลนี้จะให้เงินอุดหนุกลุ่มสหกรณ์ใหญ่เพื่อนำไปกระจายสู่สหกรณ์ย่อยต่อไป

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ


6/2/2015