ผู้เขียน หัวข้อ: สวนยางขอ7.5พันล.อุ้มผู้ปลูกตกสำรวจ  (อ่าน 692 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84533
    • ดูรายละเอียด
สวนยางขอ7.5พันล.อุ้มผู้ปลูกตกสำรวจ
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 03, 2015, 01:02:37 PM »
สวนยางขอ7.5พันล.อุ้มผู้ปลูกตกสำรวจ


แกนนำชาวสวนยาง ขีดเส้นเดือนพ.ค. หากทำไม่ได้พร้อมยกระดับเปิดศึกกับรัฐบาล จี้แก้วิกฤติราคายางตกต่ำก่อนปิดกรีด ยันคำเดิมให้รับซื้อที่ กก.ละ 80 บาท ชดเชยส่วนต่างเป็นพันธบัตร ยื่นเงื่อนไขต่อรองของบ 7.5 พันล้านช่วยผู้ปลูก-คนกรีดที่ตกสำรวจ 1 พันบาท/ไร่ ครัวเรือนละ 1.5 หมื่น ด้านนายกฯประยุทธ์ รับลูก ฝากรมว.กลาโหมมาเลย์ช่วยประสานเปิดถกร่วมไทย-มาเลย์-อินโดฯจับมือกำหนดราคายาง

จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เกษตรกรยังขายยางไม่ได้ในราคา 60 บาท/กิโลกรัมตามเป้าหมายของรัฐบาล แต่ระบุภายหลังว่าราคา 60 บาท/กิโลกรัมสามารถผลักดันได้แล้วโดยเป็นราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางประมูลซื้อขายยางพารา ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีออกมาประกาศเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 ว่าราคายาง 1 เดือนจากนี้จะขึ้นไปที่ 80 บาท/กิโลกรัมหลังหารือกับ 5 เสือส่งออกยาง แต่ภายหลังเอกชนที่รับปากระบุยังไร้มาตรการที่จะช่วย ยิ่งเป็นกระแสพรุ่งตรงไปยังรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหาราคายางเร่งด่วน

ล่าสุดนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานสมัชชาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ที่มี 7 องค์กรยางเป็นผู้ก่อตั้ง(ก่อตั้งเมื่อ 22 ม.ค.58) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ทางสมัชชา ได้เตรียมนำเสนอเรื่องต่อรัฐบาล ใน 3 เรื่องสำคัญ เรื่องแรก การแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งทางสมัชชาจะหารือกันในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้

โดยในระยะเร่งด่วนเสนอให้เร่งเปิดจุดรับซื้อยางที่เป็นเครือข่ายของตลาดกลางยางพารา 108 จุด เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยมีที่ขายสินค้า และเข้าถึงราคาใกล้เคียงราคาตลาดกลางที่กองทุนมูลภัณฑ์กันชน(บัฟเฟอร์ฟันด์)ของรัฐบาลเป็นผู้ซื้อราคาชี้นำตลาดมากขึ้น ทั้งนี้หากจังหวัดใดไม่มีสถานที่เก็บยางให้ใช้สถานที่ราชการเช่น ศาลากลาง หรือโรงรถเป็นที่เก็บ เพื่อรอองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.)ที่เป็นผู้ซื้อมารับยางแผ่นดิบไปยังโรงงานเพื่ออบรมควันต่อไป

"ที่ผ่านมาเกษตรกรรายย่อยไม่มีที่ขาย ต้องถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา หากเปิดจุดรับซื้อเพิ่มได้เร็วเกษตรกรรายย่อยจะเข้าถึงตลาดและขายได้ราคาดีขึ้นก่อนที่จะปิดกรีดยางในภาคใต้ในช่วงเดือนมีนาคม หรือเพื่อเตรียมการไว้สำหรับฤดูการกรีดใหม่ในเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้เสนอให้รัฐบาลเร่งระบายยางในสต๊อกใหม่ที่ซื้อมาเก็บเพราะเป็นช่องทางให้โรงงานรมควันยางของเอกชนที่ไม่ซื่อสัตว์บางรายนำยางคุณภาพดีไปเวียนเทียนขายในตลาดกลาง แล้วนำของไม่ดีไปใส่ไว้แทน"

นายอุทัย กล่าวอีกว่า ส่วนในเรื่องที่ 2 ขอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติถอนไม้ยางพาราออกจากบัญชีต้นไม้ ท้ายร่าง พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 ฉบับแก้ไข โดยสาระสำคัญคือ ต่อไปการตัดโค่นและการเคลื่อนย้ายไม้ยางต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ป่าไม้สุ่มเสี่ยงต่อการแสวงหาผลประโยชน์

เรื่องที่ 3 รัฐบาลต้องเร่งสนับสนุนและผลักดันการแปรรูปยางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งออกให้มากขึ้นเพราะเป็นทางออกในระยะยาว เห็นได้จากในปี 2556 ไทยส่งออกยางวัตถุดิบ 3.6 ล้านตัน นำเงินเข้าประเทศ 2.5 แสนล้านบาท แต่ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่ม 5 แสนกว่าตันได้เงินกว่า 2.7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ต้องเร่งผลักดันองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) หรือเทศบาลทั่วประเทศนำยางไปใช้ในการผสมกับแอสฟัลต์ในการทำถนนลาดยาง หรือเพื่อการอื่นๆ ของจังหวัดเพื่อช่วยเพิ่มการใช้ยางในประเทศ

++แถลงการณ์ย้ำ80บาท/กก.

ขณะที่นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาวิกฤติราคายางพาราตกต่ำ(30 ม.ค.) ใน 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้รัฐบาลยุติโครงการมูลภัณฑ์กันชน (บัฟเฟอร์ ฟันด์) ตั้งแต่เปิดฤดูกรีดยางใหม่ในเดือนพฤษภาคม (ขณะนี้ในภาคเหนือ และภาคอีสานปิดกรีดยางแล้วจากยางผลัดใบ ส่วนภาคใต้คาดเริ่มปิดกรีดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์) และให้ใช้วิธีการของแนวร่วมฯที่เคยเสนอไว้คือ ให้รัฐบาลรับซื้อยางพารากิโลกรัมละ 80 บาท โดยชดเชยส่วนต่างเป็นพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งมาตรการนี้แก้ไขปัญหาได้ตรงเป้าหมาย ช่วยบรรเทาทุกข์และเยียวยาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้อย่างทั่วถึงทุกกลุ่ม และสามารถป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้

2.ให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณฉุกเฉินจำนวน 7.5 พันล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง(ที่อยู่ในเขตไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินหรือยู่ระหว่างพิสูจน์สิทธิ์)และคนกรีดยางจำนวน 5 แสนครัวเรือนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลกรณีเงินชดเชยรายได้ 1 พันบาท/ไร่ โดยช่วยเหลือเป็นเวลา 3 เดือนในช่วงปิดกรีดยางคือตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม โดยจ่ายช่วยเหลือเดือนละ 5 พันบาทรวมเป็น 1.5 หมื่นบาท/ครัวเรือน 3.ทางแนวร่วมฯขอคัดค้าน และต่อต้านการบรรจุไม้ยางพาราในบัญชีต้นไม้ท้าย พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 ฉบับแก้ไขจนถึงที่สุด

++ขีดเส้นพ.ค.ทำไม่ได้เจอกัน

4.ขอสนับสนุนการจัดตั้ง "สมัชชาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย" เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ขบวนการต่อสู้ของพี่น้องชาวสวนยาง 5.ขอสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางได้ทำการแก้ไขแล้วในขั้นการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญ และ 6. ขอสนับสนุนการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เพื่อเปิดพื้นที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อปฏิรูปยางพาราทั้งระบบของเครือข่าย/สมาคม/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ

"หากรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคายางให้อยู่ที่ 80 บาท/กิโลกรัมได้ภายในเดือนพฤษภาคมจะขอเปิดศึกกับรัฐบาลอย่างแน่นอน โดยการแสดงพลังเรียกเรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา เราจะยอมติดคุกด้วยกฎอัยการศึก แต่จะไม่ยอมอดตาย"

++ยื่นหนังสือนายกฯร้องทุกข์

ด้านนายพนัส แพชนะ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลในการรับหนังสือจากนายไพโรจน์ ฤกษ์ดี แกนนำกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านส้องและพันธมิตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้เร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำทั้งระบบ

สำหรับปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางสรุปได้ว่า 1.ปัญหายางพาราได้รับการแก้ไขเฉพาะแผ่นยางรมควัน ซึ่งกลุ่มทุนและผู้ประกอบการได้รับประโยชน์ ไม่ครอบคลุมถึงเกษตรกรที่ผลิตยางแผ่นดิบซึ่งมีราคาต่ำกว่ายางรมควัน 2.ราคาน้ำยางสดที่กิโลกรัมละประมาณ 45-48 บาทเป็นราคาเฉพาะสมาชิกกลุ่มสหกรณ์ ไม่ครอบคลุมถึงเกษตรกรที่ไม่สังกัดกลุ่มสหกรณ์ ที่ต้องขายให้พ่อค้ารายย่อยในราคากิโลกรัมละ 33-35 บาท

3.กลุ่มเกษตรกรที่ผลิตเศษยาง ยังไม่ได้รับการดูแลแก้ไข ปัจจุบันราคากิโลกรัมละไม่ถึง 20 บาท 4.ปัญหาราคายางตกต่ำขณะนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากลูกจ้างยางพาราไม่สามารถยึดเป็นอาชีพรับจ้างกรีดยางได้ ทำให้แรงงานขาดแคลน ขาดรายได้ ขัดแย้งกับที่นายกรัฐมนตรีระบุว่ายางพาราล้นตลาด 5.ปริมาณยางแผ่นรมควันวันที่นำออกมาขายกับตลาดกลางยางพาราและตามจุดรับซื้อมีปริมาณมาก องค์กรสวนยางควรเร่งขนย้ายและระบายบางออกจากจุดรับซื้อเพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกรที่นำยางไปขาย และขอรัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบเรื่องปริมาณยางแผ่นรมควันว่า เหตุใดจึงมีปริมาณมากผิดปกติ ซึ่งอาจมีการทุจริตหมุนเวียนยางมาจำหน่ายหรือไม่

++ลั่นพร้อมบุกทำเนียบ

นอกจากนี้กลุ่มแนวร่วมฯเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยรัฐบาลต้องเข้ามาควบคุมดูแลราคายางพาราทั้งระบบ คือ ยางแผ่นดิบ น้ำยางสด และเศษยาง ไม่เฉพาะแต่ยางแผ่นรมควัน คือ 1.กำหนดราคาขั้นต่ำของยางพาราทุกชนิด หากกลุ่มหรือผู้ซื้อรายใดไม่ปฏิบัติตามให้ใช้มาตรการทางกฎหมาย 2. ให้รัฐบาลตั้งจุดรับซื้อยางพาราทั้งระบบประจำตำบลตำบลละ 2 ครั้งต่อ 1 เดือน หากรัฐบาลไม่สามารถทำเองได้ให้ดึงเอกชนเข้ามาร่วมมือ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล

ส่วนการแก้ไขระยะยาว ให้รัฐบาลส่งเสริมเกษตรกรรวมกลุ่มและสนับสนุนให้มีการผลิตยางคุณภาพทุกชนิด ขยายตลาดเพิ่มเติมและส่งเสริมอาชีพทางเลือกใหม่และอาชีพเสริมอย่างจริงจัง โดยให้กระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการ และเกษตรกรจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มประมาณ 10-20 คน ขอกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาล เพื่อซื้ออุปกรณ์ในการทำยางแผ่นคุณภาพดี นำมาประมูลในตลาดของรัฐบาล

ในหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า หากการทวงถามของกลุ่มแนวร่วมฯไม่ได้รับการแก้ไข ทางผู้ประสานงานแนวร่วมเกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านส้องและพันธมิตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเคลื่อนไหวไปยังทำเนียบรัฐบาลด้วยวิธีการที่เข้มข้นต่อไป จนกว่าจะได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง

++ประยุทธ์"รับลูกถก3ชาติ

ด้าน ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐบาลตรี เปิดเผยหลังการเข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของดาโต๊ะ สรี ฮิซามุดิน ตุน ฮุสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขอมาเลเซีย(30 ม.ค.) ว่านอกจากทั้งสองฝ่ายจะมีการหารือแนวทางในการสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างกันแล้ว นายกรัฐมนตรียังได้ฝากให้รัฐมนตรีกลาโหมของมาเลเซียประสานกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียและรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้มีการประชุมร่วม 3 ฝ่ายคือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อกำหนดราคายางให้มีเสถียรภาพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่า รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำด้วยการลดซัพพลาย และการจัดโซนนิ่ง

++แนวโน้มชาวสวนได้ราคาเพิ่ม

ขณะที่นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยว่าขณะนี้ได้มีการเปิดจุดรับซื้อยางของที่เป็นเครือข่ายของตลาดกลางได้ครบ 108 แห่งแล้ว รวมถึงจุดรับซื้อที่เป็นของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางฯ ทั่วประเทศอีกร้อยกว่าแห่ง ซึ่งจะช่วยรองรับยางส่วนเกินที่ไม่สามารถเข้าถึงตลาดกลาง เพราะอยู่ไกลจากตลาดกลาง หรือมีการขนยางไปขายที่ตลาดกลางที่มีอยู่ 10 แห่งทั่วประเทศแต่ใช้เวลารอนานเป็นวัน เนื่องจากปริมาณยางเข้าตลาดกลางในเวลานี้มีมาก ซึ่งการมีจุดรับซื้อเพิ่มจะทำให้เกษตรกรขายางได้ราคาที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน และจะส่งผลดีต่อราคายางที่จะเปิดกรีดในปี 2558/59 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

ผู้สื่อข่าวได้โทร.ติดต่อไปยังนายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแลยางพาราของประเทศ เพื่อสอบถามความเห็นกรณีข้อเรียกร้องของแกนนำชาวสวนยางในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำและมาตรการเยียวยา รวมถึงกรณีแกนนำชาวสวนยางเรียกร้องให้การเปลี่ยนทีมแก้ไขปัญหายางพาราของรัฐบาล โดยอำนวยระบุติดประชุม ยังไม่สะดวก(16.30น. ของวันที่ 30 ม.ค.)

เช่นเดียวกับการประชุมเครือข่ายชาวสวนยางใน20จังหวัด ที่จังหวัดตรังในวันเดียวกัน เพื่อร่วมกันหารือในประเด็นปัญหาและหาทางออกเพื่อนำเสนอไปยังรัฐบาลให้ดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ปรากฏว่าผ่านมากว่า 2 ชั่วโมง(16.30น.)ยังไม่มีข้อสรุปใดๆออกมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,023 วันที่ 1 - 4 กุมถาพันธ์ พ.ศ. 2558 Souce: เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ (Th)