ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558  (อ่าน 863 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันอังคารที่  20  มกราคม  พ.ศ. 2558


ปัจจัย

วิเคราะห์

1. สภาพภูมิอากาศ

- บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนยังคงแผ่ปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนโดยทั่วไปมีอากาศหนาวเย็นอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาคใต้มีเมฆบางส่วนกับมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ขณะที่อากาศเย็นในตอนเช้าเอื้อต่อการกรีดยาง ทำให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

2. การใช้ยาง

- กรมสถิติมาเลเซียรายงานว่า ปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติมาเลเซียเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมร้อยละ 11.0 หรือมีปริมาณ 53,040 ตัน และลดลงร้อยละ 21.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนสต๊อคยางมาเลเซีย ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายนยังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนตุลาคมที่มีปริมาณ 132,048 ตัน และลดลงร้อยละ 17.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

3. เศรษฐกิจโลก

- ธนาคารกลางเดนมาร์กประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยตราสารเงินฝากลงร้อยละ 0.15 สู่ร้อยละ -0.20 หลังจากที่เงินคราวน์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโรเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งเดนมาร์กผูกติดค่าเงินคราวน์ไว้กับเงินยูโร

- นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า เศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ยังคงเผชิญกับแรงกดดันในช่วงขาลงในปีนี้ แต่การขยายตัวยังคงอยู่ในช่วงที่ยอมรับได้

- ผลสำรวจพบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB.) จะประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ด้วยการดำเนินโครงการซื้อพันธบัตรในวงเงิน 5.50 แสนล้านยูโร (6.35 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ) ในการประชุมวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งเป็นวงเงินที่สูงเป็นประวัติการณ์

- นักวิเคราะห์คาดว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จีน ปี 2557 จะขยายตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี ลดลงร้อยละ 0.3 จากปี 2556 ส่วน GDP ไตรมาส 4 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.3 เท่ากับไตรมาส 3 แต่ต่ำกว่า GDP ตลอดทั้งปี 2557 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเผชิญอุปสรรครุนแรงขึ้นในปี 2558 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสแรกที่การขยายตัวของ GDP อาจใกล้เคียงกับร้อยละ 7.0

- สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่นเดือนธันวาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ 38.8 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน นับเป็นสัญญาณชี้ว่าการตัดสินใจเลื่อนระยะเวลาการปรับขึ้นภาษีบริโภคของนายกรัฐมนตรีสามารถคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น

4. อัตราแลกเปลี่ยน

- เงินบาทอยู่ที่ 32.67 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.03 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ

- เงินเยนอยู่ที่ 118.12 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 1.00 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ

5. ราคาน้ำมัน

- ตลาดน้ำมันนิวยอร์กปิดทำการ เนื่องในวันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

- เจ้าหน้าที่อิหร่านระบุว่า ยังไม่มีสัญญาณว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) จะดำเนินมาตรการเพื่อพยุงราคาน้ำมัน พร้อมกล่าวว่าอุตสาหกรรมน้ำมันของอิหร่านสามารถรับมือกับราคาน้ำมันที่อาจทรุดตัวยลงแตะ 25 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล

- รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันอิรักเปิดเผยว่า อิรักกำลังเร่งผลิตน้ำมันสูงเป็นประวัติการณ์ เฉลี่ยที่ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน พร้อมทั้งเดินหน้าส่งเสริมการส่งออกน้ำมันดิบในปีนี้ ท่ามกลางวิกฤตราคาน้ำมันลดลงเนื่องจากภาวะอุปทานล้นตลาด

6. การเก็งกำไร

- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 189.6 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.6 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 195.2 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.0 เยนต่อกิโลกรัม

- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 160.9 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.9 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม

7. ข่าว

- รัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป (EU.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลที่จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ถึงแม้มีการยื่นข้อเสนอปรองดองจากหัวหน้านโยบายต่างประเทศของ EU. ก็ตาม เนื่องจากยังมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในยูเครน

- มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า แนวโน้มโดยรวมของอันดับความน่าเชื่อถือต่อธนาคารจีนยังคงมีเสถียรภาพในช่วง 12 - 18 เดือนข้างหน้า

8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ

- ราคายางยังคงทรงตัว เพราะไม่มีปัจจัยที่ชัดเจนนอกจากนโยบายรัฐบาล ซึ่งไม่สะท้อนราคายางโดยภาพรวม และราคา TOCOM ที่สูงขึ้น 1 - 2 เยน ก็ไม่ส่งผลต่อราคายางในประเทศมากในระยะนี้ เพราะสภาพอากาศที่เอื้อต่อการกรีดยาง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น เห็นได้จากราคาน้ำยางสดปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วจากกิโลกรัมละ 48 บาท ในสัปดาห์ที่แล้ว มาอยู่ที่กิโลกรัมละ 38 บาท ในสัปดาห์นี้

แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ ทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยมีปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของเงินเยน และนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB.) จะประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ประกอบกับมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางของภาครัฐ ส่วนปัจจัยลบมาจากนักทุนระมัดระวังในการซื้อขาย เพื่อรอดูข้อมูลเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4 ปี 2557 ที่จะเปิดเผยในวันนี้ และอุปทานยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้อต่อการกรีดยาง

ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา