ผู้เขียน หัวข้อ: หึ่ง!เวียนเทียนยาง รัฐเสียค่าโง่'บัฟเฟอร์ฟันด์'/แฉโรงรมควันฟันกำไร 2 ต่อ (16/01/2558)  (อ่าน 1087 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 83157
    • ดูรายละเอียด
หึ่ง!เวียนเทียนยาง รัฐเสียค่าโง่'บัฟเฟอร์ฟันด์'/แฉโรงรมควันฟันกำไร 2 ต่อ (16/01/2558)



แกนนำชาวสวนปูด อ.ส.ย.เสียค่าโง่  กองทุนมูลภัณฑ์กันชนซื้อยางจ้างโรงงานเอกชนรมควันถูกนำมาเวียนเทียนขายในตลาดกลางฟันกำไร2ต่อ ยันราคายาง 60 บาทที่ตลาดกลางตกไม่ถึงท้องเกษตรรายย่อย ระบุต้องชดเชยรูปพันธบัตรที่ 80 บาท/กก.เท่านั้น ขณะ"อำนวย" ขอเวลาดัน ล่าสุดลุยก๊อก 2 สั่งขยายเครือข่ายจุดรับซื้อยางเพิ่มอีก 108 จุด ชี้ชุมนุมประท้วงไม่มีสิทธิ์ห้าม




จากกรณีรัฐบาลได้ใช้เงินจากกองทุนมูลภัณฑ์กันชน (บัฟเฟอร์ ฟันด์) ก้อนแรก 6 พันล้านบาท ในการเข้าซื้อยางพารา ณ ตลาดกลางยางพาราทั่วประเทศ ในราคาชี้นำตลาดแข่งกับผู้ค้ายางเอกชน และสหกรณ์ชาวสวนยาง เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ล่าสุดแม้จะดันราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ได้ที่ระดับ 60 บาท/กิโลกรัมได้ตามสัญญาในเบื้องต้นแล้ว แต่ปรากฏราคายางพาราในระดับท้องถิ่นที่เกษตรกรขายได้ทั้งยางก้อนถ้วย น้ำยางสด ยางแผ่นดิบยังต่ำกว่า 50 บาท/กิโลกรัม




++ชี้บัฟเฟอร์ฟันด์ล้มเหลว
นายสุนทร  รักษ์รงค์  ตัวแทนสมัชชาชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดยระบุว่า จากที่รัฐบาลได้ใช้เงินกองทุนมูลภัณฑ์กันชน เข้าซื้อยางในตลาดกลางยางพาราในราคาชี้นำตลาด แต่ราคาท้องถิ่นที่เกษตรกรได้รับยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 กิโลกรัม ถือเป็นความล้มเหลว เพราะเกษตรกรรายย่อยยังเข้าไม่ถึงราคายาง ที่ 60 บาท/กิโลกรัม และเชื่อว่าเหลืออีกประมาณ 1 เดือน(ถึงกลางเดือนก.พ.) ที่เกษตรกรต้องหยุดกรีดยาง จากยางผลัดใบ






ขณะเดียวกันจากที่องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.)ที่ได้ใช้เงินบัฟเฟอร์ ฟันด์ซื้อยางเข้าเก็บสต๊อก และส่วนหนึ่งส่งออกตามสัญญาที่มีอยู่กับต่างประเทศ ผู้บริหาร อ.ส.ย.ได้ยอมรับว่าได้มีการทุจริตเกิดขึ้น โดยในข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งที่ อ.ส.ย.ต้องซื้อเป็นยางแผ่นดิบมาผ่านขั้นตอนการแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันอีกต่อหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันโรงรมควันยางของ อ.ส.ย.มีกำลังการอบหรือรมควันประมาณ 1 พันตัน/วัน และแต่ละครั้งต้องใช้เวลาอบนาน 7 วัน ดังนั้นกรณีที่ อ.ส.ย.ซื้อยางมาเกิน 1 พันตัน เช่น 2 พันตันต้องไปจ้างโรงรมควันของเอกชน




"สิ่งที่เกิดขึ้นคือโรงรมควันเอกชนเหล่านี้ได้นำยางแผ่นรมควันคุณภาพดีของรัฐบาลไปเวียนเทียนประมูลขายในตลาดกลาง และนำของด้อยคุณภาพไปใส่ไว้แทน ถือเป็นการโกงภาษีประชาชน และผิดกฎหมาย นายทุนเหล่านี้ถือไม่รู้จักพอ ได้กำไรจากรับจ้างรมควันแล้วยังเอายางของรัฐบาลไปหากินอีกต่อหนึ่งซึ่งจะต้องส่งคนไปเฝ้า หรือจับตาใกล้ชิดในเรื่องนี้"




++ยัน80ชดเชยพันธบัตรทำได้
นอกจากนี้นายสุนทร ยังกล่าวย้ำถึงข้อเรียกร้องว่ายังยืนยันข้อเสนอราคายางที่ 80 บาท/กิโลกรัม  โดยส่วนต่างราคาตลาดรัฐบาลชดเชยในรูปพันธบัตร ซึ่งจากที่เหลือเวลาอีกไม่เกิน 1 เดือนก่อนปิดกรีด คาดจะใช้เงินชดเชยไม่ถึง 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากคาดปริมาณยางในตลาดที่จะออกสู่ตลาดก่อนปิดกรีดในกลางเดือนกุมภาพันธ์จะมีไม่ถึง 7 แสนตัน โดยการจ่ายชดเชยราคายางของเกษตรกรนี้ถือว่าแก้ปัญหาถูกจุดที่สุด  และโกงไม่ได้เพราะมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และจ่ายตรงกับเกษตรกรที่มีสิทธิ์ไปขึ้นเงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย ธ.ก.ส.หักค่าดำเนินการ เช่น 3-5% เปรียบเสมือนรัฐบาลไปกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ในเรื่องนี้หากใช้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)สามารถทำได้ไม่ขัดกับระเบียบการคลังของประเทศ
++เร่งช่วย6แสนครัวช่วงปิดกรีด




ขณะเดียวกันในช่วงปิดกรีดยาง 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.58) ชาวสวนยางจะขาดรายได้ ล่าสุดได้เสนอนายอำนวย  ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อประสานงานและติดตามผลการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบภายในเดือนกุมภาพันธ์ โดยคณะนี้ต้องลงถึงระดับจังหวัด เพื่อเร่งจัดทำบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน(ไม่ได้แปลว่ารุกป่า) เช่นเป็นโฉนดชุมชน หรือเครือข่ายปฏิรูปที่ดินที่ต่อสู้อยู่ในชั้นศาลเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ที่ยังไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้




โดยที่กลุ่มคนเหล่านี้มีประมาณ 6 แสนครอบครัว โดยเสนอให้นายอำนวยใช้อำนาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อของบฉุกเฉินในการเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือในการจ่ายชดเชยเงินช่วยเหลือ 1 พันบาท/ไร่
++บุกตลาดกลางพิสูจน์ของจริง




ด้านนายมนัส  บุญพัฒน์ ว่าที่นายกสมาคมผู้กรีดยางและชาวสวนยางรายย่อยแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่สถาปนาขึ้นใหม่  ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้เดินทางไปยังตลาดคลองจันดี ตลาดกลางประมูลซื้อขายยางพาราของจังหวัดนคศรีธรรมราช เพื่อสอบถาม และขอข้อมูลกรณีราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ตลาดประมูลที่ตั้งราคาที่ 61.75 บาท/กิโลกรัม ขณะที่เกษตรกรในท้องถิ่นขายน้ำยางสด ยางแผ่นดิบให้กับพ่อค้าเอกชน และ อ.ส.ย.ได้เฉลี่ยเพียง 40-46 บาท/กิโลกรัม ราคาห่างกันกว่า 20 บาท/กิโลกรัม ถือว่าช่องว่างราคาห่างกันมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และค้ากำไรเกินควร จากปกติราคาท้องถิ่นกับราคาตลาดกลางจะต่างกันเพียง 2-3 บาท/กิโลกรัม




"เราได้ไปขอดูระบบซื้อขายที่ตลาดกลางว่ามีใครหรือกลุ่มไหนมาขาย และใครมาประมูลบ้าง เพื่อดูประวัติ และการประมูลราคาเป็นไปตามความน่าจะเป็นหรือเป็นไปตามกลไกตลาดจริงหรือไม่ มีการผูกขาดหรือแข่งเสรี เพราะรัฐมนตรีอำนวยบอกพอใจที่ยางถึง 60 บาท/กิโลกรัมแล้ว แต่เกษตรกรยังขายได้แค่กว่า 40 บาทยังห่างกันมาก อยากให้รัฐบาลได้เข้าไปกำกับดูแลเพื่อไม่ให้ราคาห่างกันเกินไป นอกจากไปดูข้อมูลที่ตลาดจันดีแล้ว ทราบว่ายังมีตัวแทนชาวสวนยางได้เดินทางไปขอข้อมูลที่ตลาดกลางหาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี เป็นต้น"
++เปิดจุดรับซื้อเพิ่ม 108 แห่ง




ต่อเรื่องนี้ นายอำนวย  ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ประธานคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราอย่างเป็นระบบ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ล่าสุดได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการยางประจำจังหวัดที่มีการปลูกยาง ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานได้ไปพิจารณาขยายเครือข่ายตลาดกลางเพื่อเปิดจุดรับซื้อยางจากเกษตรกรเพิ่มอีก 108 จุดซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เดิมที่มีอยู่แล้ว ทั้งเป็นของสหกรณ์ หรือลานรับซื้อของเอกชน ทั้งนี้ เพื่อให้มีการแข่งขันซื้อยางจากเกษตรกรในราคาชี้นำตลาด เพื่อผลักดันราคายางให้สูงขึ้นเพื่อขยายจุดรับซื้อให้มากที่สุด และเตรียมพร้อมไว้สำหรับฤดูการกรีดใหม่ในช่วงเดือนเมษายน




ปัจจุบันมีตลาดกลางของรัฐและเอกชน 10 แห่ง ซึ่งเกษตรกรต้องการให้เปิดลูกข่ายหรือจุดรีบซื้อเพิ่มโดยเร็ว แต่การขยายจุดซื้อไม่ทันความต้องการของเกษตรกร เพราะต้องมีเครื่องชั่ง และนักวิชาการตรวจคุณภาพ ต้องมีที่เก็บของ และอื่น ๆ เชื่อว่าการเปิดจุดรับซื้อเพิ่มจะช่วยดันราคาให้ขยับขึ้นได้




"เกษตรกรอยากได้ราคา 60 แปลว่าราคายางแผ่นรมควันต้อง 80 บาท/กิโลกรัม หากยางแผ่นรมควัน 80 บาท ก็แปลว่ายางแผ่นดิบต้อง 75 น้ำยางสด หรือยางก้อนถ้วยต้อง 70 และเศษยาง 60 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเรากำลังเร่งดำเนินการอยู่ต้องขอเวลาดันไปที่ละสเต็ป อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาทางกองทุนมูลภัณฑ์กันชนได้ใช้เงินซื้อยางไปแล้วประมาณ 2.3 พันล้านบาท คิดเป็นปริมาณยางเกือบ 4 หมื่นตันแล้ว  ซึ่งก็มีทั้งที่ต้องแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันเก็บสต๊อกไว้ รวมถึงส่งออก และใช้ในประเทศที่รอการส่งมอบ ที่เราต้องสต๊อกไว้บางส่วน เพราะถ้าปล่อยออกไปเร็วราคายางในประเทศจะตก ดังนั้นจึงต้องสร้างสมดุลให้เป็นมูฟวิ่งสต๊อก ส่วนกรณีชาวสวนระบุจะชุมนุมประท้วงใหญ่ปลายเดือนนี้ก็เป็นสิทธิ์ของเขา ที่ผ่านมาเราก็ประชุมร่วมกันอยู่แล้ว เขาเข้าใจดีว่าเราทำอะไร"
++22 ม.ค.ทะลวงท่อแก้ทุกปัญหา




นายอำนวยกล่าวว่าในวันที่ 22 มกราคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราฯ ที่ประชุมจะได้มีการติดตามสถานการณ์ราคายาง  รวมถึงติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาราคายางซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีแผนบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบรวม 16 มาตรการ(วงเงินรวม 90,029 ล้านบาท) ทั้งมาตรการด้านการลดผลผลิต การเพิ่มสภาพคล่องแก่สถาบันเกษตรกรในการรวบรวมยาง สินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา สินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง และสินเชื่อเป็นทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและการตลาด และมาตรการเพิ่มการใช้ยางในประเทศ ซึ่งในส่วนมาตรการที่ติดขัดจะเร่งผลักดันให้เกิดความคืบหน้าโดยเร็ว




ขณะเดียวกันล่าสุดแผนรักษาเสถียรภาพราคายางในขั้นที่ 2 ที่รัฐบาลโดย อ.ส.ย. กับภาคเอกชนผู้ส่งออกและผู้ค้ายาง 7 ราย จะร่วมลงขันตั้งกองทุนเพื่อซื้อยางในตลาดซื้อขายสินค้าตลาดล่วงหน้า(เอเฟท) หรือรับเบอร์ ฟันด์ เป้าหมายเพื่อรักษาราคายางในประเทศให้มีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้ง 2 ฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงในการร่วมลงขันฝ่ายละ 140 ล้านบาท รวมเป็น 280 ล้านบาท ขณะนี้ในส่วนของ อ.ส.ย.คณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และรอเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานให้ความเห็นชอบในขั้นต่อไป ส่วนเอกชนอยู่ระหว่างแต่ละบริษัทขออนุมัติจากบอร์ดของแต่ละบริษัทให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นจะนัดประชุมเพื่อดำเนินการในชั้นต่อไป เชื่อจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางไม่ให้ตกต่ำได้






ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,018  วันที่  15 - 17  มกราคม  พ.ศ. 2558