ผู้เขียน หัวข้อ: ส่องอนาคตสินค้าเกษตร"58 "ข้าว-ยางพารา"ยังร้อนฉ่า  (อ่าน 859 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด
ส่องอนาคตสินค้าเกษตร"58 "ข้าว-ยางพารา"ยังร้อนฉ่า


รายงานพิเศษ


การขับเคลื่อนสินค้าเกษตร อาหาร และพลังงานทดแทนจากสินค้าเกษตร เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งและความสมดุลของภาคการเกษตร


รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งให้ภาครัฐสร้างมาตรการ และเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือภาคการเกษตรและรากหญ้า เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทย ให้ความสำคัญ และพยายามให้มาตรการลดต้นทุน เพื่อสร้างกำไรให้เกษตรกร โดยเฉพาะ ข้าว และยางพารา


แต่ตลอดปี 2557 แม้รัฐบาลจะพยายามสร้างความเข้มแข็งในภาคเกษตร เพื่อลดความผันผวนของราคา แต่เหมือนเป็นวิบากกรรมของเกษตรกร สินค้าภาคเกษตร ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง


ภายหลังยกเลิกโครงการรับจำนำ ราคาข้าวเปลือกก็ปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยราคาข้าวเฉลี่ยเหลืออยู่ที่ประมาณตันละ 5,000-6,000 บาท เนื่องจากราคาในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง และข้อจำกัดด้านงบประมาณ นอกจากนี้สต๊อกข้าวสารที่รัฐบาลรับจำนำเข้าโครงการไว้ปริมาณสูงเกินกว่า 20 ล้านตัน ส่งผลให้สต๊อกรัฐบาลเป็นตัวถ่วงไม่ให้ราคาข้าวไทยปรับตัวขึ้นได้


ส่วนยางพารา ที่เคยเป็นสินค้าดาวรุ่งส่งออกอันดับ 1 ของประเทศไทย ต้องประสบกับความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง และที่คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง รับซื้อยางพาราด้วยงบประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อสต๊อกเก็บหวังดึงราคาให้ปรับตัวสูงขึ้น แต่กลายเป็นปัญหาซ้ำรอยรับจำนำข้าว เพราะราคาในตลาดโลก ปรับตัวลดลงพร้อมกับราคาน้ำมันที่ลดลง


ทำให้สต๊อกยาง 2 แสนตันกลายเป็นตัวถ่วงไม่ให้ราคาในประเทศขยับตัวสูงขึ้นได้ โดยฉุดให้ราคาทั้งปี 2557 มีการเคลื่อนไหวอยู่ที่ราคาเฉลี่ยประมาณ 60 บาท/ก.ก. ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คำนวณไว้ที่ 62-64 บาท/ก.ก.


ซึ่งบางเวลาสำหรับราคาน้ำยางสดราคาร่วงมาเคลื่อนไหวอยู่ที่ราคา 3 กิโลฯ 100 บาท ซึ่งถือว่าต่ำมากจนชาวสวนยางออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ รับซื้อก.ก.ละ 80 บาท


ราคา 80 บาท/ก.ก. ถือว่าต่ำกว่าสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เคยเสนอให้ก.ก.ละ 90 บาทเมื่อช่วงต้นปี 2557 แต่ชาวสวนยางภาคใต้ไม่ยอมรับถึงขั้นปิดถนนครั้งใหญ่ เรียกร้องก.ก.ละ 120 บาท


ขณะที่ไก่ ดูเหมือนจะเป็นสินค้าที่มีอนาคต ประเทศไทยเป็น ผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ติดอันดับที่ 3 ของโลก ผู้ประกอบการมีกำไร เพราะประเทศคู่ค้ายังมีความต้องการ แต่ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถผลิตไก่ป้อนความต้องการ แม้ส่วนหนึ่งจะไม่มั่นใจ ว่าหากผลิตในจำนวนมากจะกลายเป็นปริมาณที่ล้นตลาดฉุดราคาหรือไม่


โดยการส่งออกเนื้อไก่ ทั้งไก่สดและไก่แปรรูป ประมาณ 80-90% ไปยังตลาดสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น


สำหรับการส่งออกเนื้อไก่ ทั้งไก่สดและไก่แปรรูปในปี 2557 ทางสมาคมส่งออกไก่ส่งออกทั้งหมด 5.6 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 8 พันล้านบาท หรือ 9% ทั้งนี้ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกคือ ค่าเงินบาทที่จะส่งผลต่อราคาสินค้าและประเทศคู่ค้าที่มีการผลิตเนื้อไก่ด้วย
ส่วนอีกสินค้าที่ยังต้องเจอกับวิบากกรรม คือ"กุ้ง"เพราะตลอด 2 ปีก่อนหน้านี้ และในปี 2557 ตลาดกุ้งไทยก็หดตัวอีกเป็นปีที่ 3


โดยปี 2556 สหรัฐเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับ 1 ของไทย ก็ลดการนำเข้าอันเนื่องจากกุ้งไทยต้องประสบปัญหาโรคตายด่วน ส่งผลให้กุ้งไม่เติบโต สหรัฐจึงหันไปนำเข้าจาก อินโดนีเซีย เวียดนาม และอินเดีย


จากเดิมที่สหรัฐเคยนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยด้วยสัดส่วน 36.2% จากการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากทั่วโลก ลดเหลือ 22.1% ในปี 2556 และในปี 2557 ขณะที่ปัญหาโรคตายด่วนในกุ้งไทย ยังแก้ไขไม่ได้


ช่วงกลางปี 2557 ก็มีปัจจัยลบที่เข้ามาสร้างแรงกดดันตลาดกุ้งไทยเพิ่มขึ้น คือการที่ไทยถูกปรับลดสถานะเป็น"Tier 3"ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐ ส่งผลให้ถูกยกเลิกคำสั่งซื้อทำให้ตลาดกุ้งไทยหดตัวต่อเนื่องอีก 20% จากปี 2556


เปิดศักราชใหม่ปี 2558 สำหรับสินค้าเกษตรไทยถือว่าเป็นดัชนีวัดฝีมือของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ ข้าว และยางพารา ที่ยังถือว่าลูกผีลูกคน เพราะผลผลิตใหม่อาจจะลดลงบ้าง แต่สต๊อกเก่ายังเป็นภาระและตัวถ่วงให้ราคาไม่ขยับตัวขึ้นได้


โดยรัฐบาลตั้งกองทุนเข้ามารับซื้อยางในระบบ พอจะทำให้ราคาขยับขึ้นได้บ้าง


กระทั่งช่วงปลายปี 2557 ราคายางแผ่นไต่ถึงก.ก.ละ 61 บาท พร้อมออกมาตรการใช้ยางพาราแปรรูปเป็นพื้นสนามฟุตซอลสร้างไปทั่วประเทศ เพื่อดึงยางในสต๊อกมาใช้ เพื่อหวังว่าราคายางในตลาดจะสูงขึ้นอีก


ขณะที่ราคาไก่และกุ้ง สำหรับปี 2558 ถือว่าอนาคตสดใส ค่าเงินบาทอ่อนตัว เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น ราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลายๆอย่างลดลง


นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตทั้งในประเทศและตามมาตรฐานสากลอย่าง เคร่งครัดและครบถ้วน ผู้ประกอบการไทยล้วนให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานและระบบปฏิบัติด้านการผลิตตลอดจนห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงมือผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในไก่ไทยมีมากขึ้น


"ตลอดปี 2557 ไทยมีผลผลิตไก่อยู่ที่ 1.9 ล้านตัน หรือประมาณ 1,300 ล้านตัว/ปี ราคาเฉลี่ยไก่มีชีวิตอยู่ที่ประมาณ 44 บาท/ตัว ซึ่งราคาใกล้เคียงปีก่อนหน้า แบ่งเป็นผลผลิตเพื่อการส่งออก 5.6 แสนตัน บริโภคภายในประเทศประมาณ 1.4 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเติบโตขึ้นเล็กน้อย"


สำหรับปี 2558 คาดว่าปริมาณผลผลิตไก่ของไทยจะเพิ่มขึ้นต่ำสุด 3% แต่หากรัฐบาลสนับสนุนการเปิดตลาดไก่ได้เพิ่มขึ้น เชื่อว่าผู้ผลิตไทยสามารถเพิ่มผลผลิตได้เพิ่มขึ้นอีก 5-6% จากปี 2557 หรือคาดว่ามีผลผลิตเพิ่มเป็นประมาณ 2.03-2.1 ล้านตัน


แบ่งเป็นผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 6.2 แสนตัน และในส่วนของการบริโภคในประเทศใกล้เคียงปีก่อนหน้าคือ 1.4 ล้านตัน โดยปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสินค้าไก่ไทย คงเป็นเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นตัวแปรที่อาจทำให้ไทยมีการนำเงินตราเข้าประเทศจากการส่งออกไก่ได้น้อยลงหากเงินของคู่ค้าอ่อนตัวมากๆ อาทิ เยนญี่ปุ่น


นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งไทยปี 2557 ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 8-10% หรือมีผลผลิตประมาณ 2.1 แสนตัน มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ว่าน่าจะมีผลผลิตประมาณ 2.5 แสนตัน หรือมูลค่าที่วางไว้ประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท ราคาเฉลี่ยลดลงตลอดทั้งปี เนื่องจากประเทศคู่ค้าหันไปซื้อกุ้งจากประเทศอินเดีย และเวียดนามที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ตามในปี 2558 คาดว่าผลผลิตกุ้งไทยน่าจะเติบโตดีขึ้นประมาณ 10-20% หรือผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัน มูลค่าประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเติบโตดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่า รัฐบาลต้องฟื้นฟูผลผลิตได้เพิ่มขึ้น


นายหลักชัย กิตติพล คณะกรรมการที่ปรึกษาสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่าประมาณการผลผลิตยางพาราไทยในปี 2558 คาดว่าจะอยู่ที่ 4 ล้านตัน การส่งออกคาดว่าอยู่ที่ 3.5-3.6 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกคาดว่าจะประมาณ 2 แสนล้านบาท จากปี 2557 ที่มีผลผลิตประมาณ 4.1 ล้านตัน ส่งออกประมาณ 3.6 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 2.2 แสนล้านบาท


สาเหตุที่ผลผลิตลดลงมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ราคายางพาราตกต่ำ เมื่อราคายางไม่จูงใจทำให้เกษตรกรชะลอการกรีดยาง และเกษตรกรผู้กรีดยางเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น


เมื่อรัฐบาลเดินหน้ามาตรการต่างๆ ตามที่ได้มีการอนุมัติไว้ ทั้งมาตรการส่งเสริมเงินทุนหมุนเวียนให้กับสถาบันเกษตรกรสำหรับซื้อยางเพื่อแปรรูปทั้งระดับต้นน้ำถึง ปลายน้ำ เพื่อให้มีการซื้อยางในประเทศเพิ่ม


อย่างไรก็ตามไม่เห็นด้วยหากรัฐจะมีนโยบายแทรกแซงราคาตลาดเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากทำให้กลไกตลาดบิดเบือน


หากดูข้อมูลตัวเลขต่างๆ ในเรื่องสินค้าเกษตรที่สำคัญ ดูเหมือน"ข้าว"และ"ยางพารา"ยังเป็นศึกหนักของรัฐบาลในปี 2558 เพราะสินค้าเกษตรอื่นๆ ยังพอมีอนาคตอยู่บ้าง


ที่สำคัญทั้ง"ข้าวและยางพารา" ไม่ใช่แค่สินค้าเกษตรธรรมดา แต่มีนัยทาง"การเมือง"แฝงอยู่ด้วย Souce: เว็บไซต์ข่าวสด (Th)