ผู้เขียน หัวข้อ: เกษตรฯเร่งสางปมราคายางร่วง สั่งทุกจังหวัดเกาะติดสถานการณ์ (12/01/258)  (อ่าน 763 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด
เกษตรฯเร่งสางปมราคายางร่วง สั่งทุกจังหวัดเกาะติดสถานการณ์ (12/01/258)


เกษตรฯเร่งสางปมราคายางร่วง สั่งทุกจังหวัดเกาะติดสถานการณ์


แจงจ่ายชดเชยครบกลางเดือน


นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจร เพื่อชี้แจงซักซ้อมความเข้าใจ และมอบนโยบายการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายางพารา ด้วยกลไกคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจร ทั้งระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัด แก่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดที่มีการปลูกยาง 69 จังหวัด เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหายางพารามีประสิทธิภาพ


ทั้งนี้ได้เร่งรัดให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการใน 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้วิเคราะห์ติดตามสถานการณ์ปัญหายางพาราในพื้นที่อย่างใกล้ชิด หากมีปัญหาและสามารถแก้ไขในระดับจังหวัดได้ให้เร่งดำเนินการโดยด่วน ส่วนปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ ให้ส่งส่วนกลางพิจารณาแก้ไขตามขั้นตอน 2.ให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนการผลิตและจำหน่ายยางพาราปี 2558/59 เพื่อทำเป็นแผนรวมของประเทศ 3.ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับทราบข้อมูลและเข้าถึงความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง 4.สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ..... เพื่อมีองค์กรกลาง คือ การยางแห่งประเทศไทย รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการเกี่ยวกับยางพาราของประเทศอย่างครบวงจร 5.ร่วมมือกันปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ทั้งสภาวะปกติ และเร่งชี้แจงทำความเข้าใจหากมีการเคลื่อนไหวชุมนุมในพื้นที่


ส่วนความคืบหน้าการดำเนินมาตรการต่างๆ อาทิ โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 15,000 บาท ขณะนี้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้เกษตรกรแล้ว 3 แสนกว่าครัวเรือน เป็นเงินประมาณ 3,400 ล้านบาท ทั้งนี้จะเร่งดำเนินให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนนี้ ส่วนโครงการควบคุมปริมาณการผลิต โดยการลดพื้นที่ปลูกยางพาราไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนนั้น สกย. ดำเนินการได้พื้นที่ 9 หมื่นไร่จากเป้าหมาย 1 แสนไร่ สำหรับโครงการพัฒนาตลาดตามแผนปรับโครงสร้างระบบตลาดยางพารานั้น นอกจากกรมวิชาการเกษตรจะติดตามสถานการณ์ราคายางพาราอย่างใกล้ชิด ยังมีการปรับปรุงพัฒนาเรื่องตลาดยางพารา โดยกำลังดำเนินการเรื่องตลาดแลกเปลี่ยนยางธรรมชาติในประเทศ เพื่อให้ตลาดกลางยางพาราที่มีอยู่ทั้งในส่วนของกรมวิชาการเกษตร สกย. และอบต. มีมาตรฐานและเครือข่ายเดียว เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงตลาดดังกล่าวได้ รวมทั้งการขับเคลื่อนเรื่องตลาดต่างประเทศด้วย


ทั้งนี้ สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราของรัฐบาล 16 มาตรการ ประกอบด้วย 1.โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง 2.โครงการชดเชยรายได้ชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 15,000 บาท 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเสริมรายละไม่เกิน 100,000 บาท 4.โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง 5.โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนสถาบันเกษตรเพื่อรวบรวมยาง 10,000 ล้านบาท 6.โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา 5,000 ล้านบาท 7.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง 15,000 ล้านบาท 8.โครงการพัฒนาตลาดตามแผนปรับโครงสร้างระบบตลาดยางพารา 9.โครงการจัดหาตลาดเพื่อส่งออกยางพารา 10.โครงการส่งเสริมการลงทุนผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ 11.โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมยาง 12.โครงการควบคุมปริมาณการผลิต 13.โครงการเสริมรายได้ในสวนยางตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 14.โครงการลดต้นทุนการผลิต 15.โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิต 16.โครงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรไร่ละ 2,520 บาท รวม 6,159 ล้านบาท


ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า (วันที่ 9 มกราคม 2558)