ผู้เขียน หัวข้อ: ไม่ไหวแล้ว! ชาวสวนยางประกาศขายสวน-โค่นทิ้งพรึ่บ หันปลูกปาล์มแทน (23/12/2557)  (อ่าน 922 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 83222
    • ดูรายละเอียด
ไม่ไหวแล้ว! ชาวสวนยางประกาศขายสวน-โค่นทิ้งพรึ่บ หันปลูกปาล์มแทน (23/12/2557)

ผู้สื่อข่าวประจำ จ.นครศรีธรรมราช รายงานว่า ภายหลังจากที่ราคายางพาราตกต่ำเหลือ 3 กิโลกรัม 100 บาท ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางในทุกพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาอย่างหนักในการดำรงชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายภายในครัวเรือน ภาระหนี้สินต่างๆ ที่เกษตรกรจะต้องรับผิดชอบ ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชไม่สามารถที่จะยึดอาชีพชาวสวนยางต่อไปได้ จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนอาชีพการทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรหลายรายที่ไม่สามารถแบกรับภาระต่างๆได้ ถึงกับต้องติดประกาศขายสวนยางพารา
ากการสำรวจพบว่าเกษตรกรจำนวนมาก ได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่สวนยางจากเดิมมาเป็นปลูกปาล์มน้ำมันแทน หลังช่วงราคายางพาราตกต่ำเหลือ 3 กก. ต่อ 100 บาท เกษตรกรหลายรายที่ไม่สามารถแบกรับภาระต่างๆ ได้ ต้องติดประกาศขายสวนยาง โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ อ.ทุ่งสง อ.ทุ่งใหญ่ ได้นำป้ายไวนิลเขียนข้อความประกาศขายสวนยางพารามาทำการติดไว้อย่างเห็นเด่นชัดบริเวณริมถนน ให้กับนายทุนหรือผู้ที่สนใจที่ผ่านไปมาได้เห็น เนื่องจากทนกับสภาพภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ไหว


ทั้งนี้ ตลอดเส้นทางถนนสาย 4110 ทุ่งสง-ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช นั้น ทั้งสองฝั่งถนนจะเต็มไปด้วยสวนยางพาราและบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน ปัจจุบันพบว่าสวนยางพาราหลายแปลงได้ถูกโค่นต้นยางทิ้ง เหลือเพียงแต่ที่ดินว่างเปล่า โดยการนำไม้ไปขายให้กับโรงงานไม้ยาง บางรายได้ทำการไถกลบที่ดินเตรียมพร้อมที่จะนำพื้นที่ไปทำการเกษตรชนิดอื่น

นายปิยพงษ์ เพชรสี่หมื่น อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 138/36 ต.ชะมาย อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ตนเป็นเสมียนไม้ยางพารา อยู่ที่ลานเทพรณรงค์ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ได้เห็นปรากฏการณ์ที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีพี่น้องชาวสวนทำการตัดโค่นไม้ยางขายกันเป็นสวนๆ ทำให้ในแต่ละวันลานเทรับไม้เข้ามามากกว่า 20 ตันต่อวัน ซึ่งผิดจากเดิมครึ่งต่อครึ่ง น่าเห็นใจพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราเป็นอย่างมาก

เดิมทีไม้ยางที่รับเข้ามาส่วนใหญ่แล้วเป็นไม้ยางที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี ที่หมดน้ำยางแล้ว ชาวสวนจะทำการโค่นไม้ขาย และทำการปลูกใหม่ทดแทน แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าไม้ยางที่ทางชาวสวนตัดโค่นมาขายนั้นส่วนใหญ่เป็นไม้ยางที่ยังคงใช้งานได้ อายุไม้ที่เหลือนั้นไม่ต่ำกว่า 10 ปี อย่างแน่นอน ซึ่งจากการสอบถามเจ้าของสวนต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นเพราะราคายางพาราตกต่ำ จึงต้องโค่นยางขาย เพื่อหันไปปลูกปาล์มนำมันแทน



ผู้สื่อข่าวรายงาน นายมณเฑียร วัยวัฒน์ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 140/4 หมู่ 7 ต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเกษตรกรชาวสวนยางพาราอีกรายหนึ่ง ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยการลงมือตัดต้นยางพาราเพื่อนำมาทำเป็นที่ค้างบวบ

โดยนายมณเฑียร เปิดเผยว่า ตนมีสวนยางพาราอยู่ จำนวน 5 ไร่ รวมกับสวนของญาติพี่น้องอีก 2 คน เป็นทั้งหมด 14 ไร่ ก่อนหน้านี้ 3 ปี ในช่วงที่ราคายางพารายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทุกคนได้ทำการตัดสินใจปลูกยางพร้อมกัน รวมทั้งสิ้น 900 ต้น ใน 14 ไร่ เพราะคิดว่าภายใน 4 ปี คงจะสามารถได้ผลผลิตจากต้นยางดังกล่าว เงินลงทุนที่ลงไปก็จะสามารถได้กลับคืนมาอย่างรวดเร็ว เพราะราคายางพาราในช่วงนั้นเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก

แต่พอมาถึงปัจจุบัน กลับเป็นที่น่าเวทนาอย่างยิ่งที่ราคายางพาราเหลือเพียงกิโลละไม่ถึง 30 บาท โดยเห็นว่าอนาคตชาวสวนยางไม่ไปไม่รอด จึงตัดสินใจกันกับพี่น้องทั้งสองคนว่า จะตัดต้นยางพารามาทำค้างบวบแทน ซึ่งการตัดในลักษณะนี้นั้น จะทำการตัดเพียงช่วงปลายของต้นยางให้เหลือจากโคนประมาณ 3 เมตร เท่าๆ กัน จะไม่เป็นการทำลายให้ต้นยางตายแต่อย่างใด


ซึ่งหากยางพารามีราคาสูงขึ้นเหมือนในอดีต ต้นยางก็สามารถที่จะใช้งานได้อีกโดยการเร่งปุ๋ยให้ใบและกิ่งใหม่เกิดขึ้น แต่วิธีการนี้อาจจะต้องยืดระยะเวลาการเจริญเติบโตของต้นยางออกไปอีก จาก 4 ปี เป็น 8 ปี จึงจะสามารถกรีดยางได้ ซึ่งบวบ และสินค้าการเกษตรช่วงที่ผ่านมามีราคาแพงมากในพื้นที่ จึงเล็งเห็นว่าดีกว่าไปเสียเวลากับสวนยางพาราที่ราคาลดลงทุกวัน ประกอบกับพี่น้องก็ไม่ติดขัดอะไร

อย่างไรก็ตาม อยากวิงวอนไปยังรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนโดยด่วน เพราะปัญหาปากท้องเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้
ที่มา : มติชนออนไลน์ (23/12/2557)