ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2557  (อ่าน 888 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84462
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันอังคารที่  9  ธันวาคม  พ.ศ. 2557


ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


- บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่ปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ มีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนอยู่ในเกณฑ์กระจายร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง


2. การใช้ยาง


- นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าหลังจากราคายางพาราในประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่กดดันให้ราคายางพาราตกต่ำทั่วโลกเมื่อวานนี้  จึงได้สั่งการด่วนให้องค์การสวนยาง (อสย.) ใช้มาตรการระยะสั้นเข้าซื้อยางพาราในราคานำตลาด โดยใช้เงินจากกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางกำหนดเป้าหมายรับซื้อยางเดือนละ 3 แสนตัน เป็นเวลา 3 เดือน รวม 9 แสนตัน จากเงินกองทุนทั้งหมดจำนวน 2 หมื่นล้านบาท โดยระบุว่าจะวางแผนการเข้าซื้อยางวันต่อวัน เพือกำหนดราคารับซื้อในราคานำตลาดขณะนี้ล่าสุดเมื่อวานนี้ราคายางแผ่นรมควันรับซื้อกิโลกรัมละ 51.00 บาท และราคายางแผ่นดิบรับซื้อกิโลกรัมละ 45.00 บาท


3.เศรษฐกิจโลก


- กระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนี รายงานว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม ขยายตัวร้อยละ 0.2 ซึ่งชะลอตัวลงจากอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 ในเดือนกันยายน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.4


- สำนักงานศุลกากรจีน เปิดเผยว่า การส่งออกของจีนในเดือนพฤศจิกายน ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบรายปี แตะระดับ 2.1166 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าหดตัวลงร้อยละ 6.7 สู่ระดับ 1.5719 แสนล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม การส่งออกในเดือนพฤศจิกายน ขยายตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 11.6 ในเดือนตุลาคม และร้อยละ 15.3 ในเดือนกันยายน


- บริษัทโตเกียว โซโกะ รีเสิร์ซ เปิดเผยว่า ยอดบริษัทล้มละลายในญี่ปุ่นเดือนพฤศจิกายน ลดลงร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบรายปี แตะระดับ 736 แห่ง และเป็นการปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2


- องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) เปิดเผยว่า ดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD ในเดือนตุลาคม ส่งสัญญาณว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในยูโรโซนมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยมีความเสี่ยงจะเผชิญกับภาวะหดตัว โดย OECD ระบุว่าดัชนีนำกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มสมาชิกของ OECD อยู่ที่ 100.4 ซึ่งแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า


- ราคาพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมีความต้องการซื้อสินทรัพย์ที่ปลอดภัยอีกครั้งหลังจากมีข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังจากในเอเชียและยุโรป


4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 33.01 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่า 0.03 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ  และเงินเยนอยู่ที่ 120.73 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่า 0.78 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมกราคม 2558 ปิดตลาดที่ 63.03 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 2.79 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากมีรายงานว่าอิรักประกาศลดราคาน้ำมันดิบให้กับลูกค้าในสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศเอเชีย


- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนมกราคม 2558 ปิดที่ 66.19 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 2.88 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล


- ราคาน้ำมันดิบร่วงลงหลังจาก SOMO ซึ่งเป็นบริษัทด้านการตลาดน้ำมันของอิรัก รายงานว่าอิรักซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสองของกลุ่มโอเปคได้ปรับลดราคาน้ำมันอย่างเป็นทางการให้กับลูกค้าในประเทศเอเชีย และสหรัฐฯ โดยมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม ปีหน้า  ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าซาอุดิอารเบียมีความกังวลเกี่ยวกับการรักษาส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าการปรับขึ้นราคาน้ำมันและไม่มีความตั้งใจจะลดการผลิตแต่อย่างใด


 


- ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของแอลจีเรีย เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี ในขณะนี้อาจจะไม่ปรับตัวลดลงไปมากกว่านั้น โดยคาดว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกนั้นจะปรับลดลงหลังช่วง 6-8 เดือน ไปพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก นอกจากนี้เขายังคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 100.0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อีกครั้ง


6. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ 184.1 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 5.2 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ 195.1 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 5.6 เยนต่อกิโลกรัม


- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 153.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 2.1 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


7. ข่าว


- รายงานร่วมของ Pwc และเออร์แบน แลนด์ อินสติติวท์ ที่มีการเปิดเผยเมื่อวานนี้  ระบุว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงมีแนวโน้มจะปรับตัวล้าหลังเมืองอื่น ๆ ในเอเชียในปี 2558 เนื่องจากนักลงทุนยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงในปีหน้า หลังจากเศรษฐกิจจีนได้ชะลอตัวลง และรัฐบาลจีนได้ใช้มาตรการเพื่อชะลอความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์เมื่อปีที่แล้ว ท่ามกลางความวิตกกังวลว่ารัฐบาลจีนอาจจะเข้าแทรกแซงต่อเนื่อง


8. ข้อคิดเห็นของ   
ผู้ประกอบการ


- โดยภาพรวมราคายางปรับตัวลดลงตามราคาตลาดต่างประเทศ แต่ในระยะนี้รัฐบาลเข้ามาอุดหนุนราคายางก็น่าจะซื้อในทิศทางเดียวกับตลาดโลก


แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามตลาดล่วงหน้าโตเกียวและราคาน้ำมันที่ทำสถิติครั้งใหม่แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี  ประกอบกับนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หลังจากญี่ปุ่น จีน และยุโรป เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวัง  อย่างไรก็ตามนโยบายของภาครัฐยังเป็นปัจจัยสนับสนุนราคายางได้ในระดับหนึ่ง




ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา