ผู้เขียน หัวข้อ: เข็น'บัฟเฟอร์ ฟันด์' ซื้อยางแข่งพ่อค้า (05/11/2557)  (อ่าน 1084 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84347
    • ดูรายละเอียด
เข็น'บัฟเฟอร์ ฟันด์' ซื้อยางแข่งพ่อค้า

(รายงาน) เข็น"บัฟเฟอร์ ฟันด์" ซื้อยางแข่งพ่อค้า
หลังจากมีการจัดตั้งกองทุนมูลภัณฑ์กันชน หรือ Buffer Fund ด้วยวงเงินประเดิมครั้งแรก 6,000 ล้านบาท เรื่องนี้นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กองทุนมูลภัณฑ์กันชน สามารถเข้ารับซื้อยางพาราได้ทันที ขณะนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติเงินกู้แล้ว 6,000 ล้านบาท การเข้าซื้อยางต้องเกิดขึ้นภายในเงื่อนไขคือต้องมีคู่สัญญา ที่จะรับซื้อยางต่อจากกองทุนมูลภัณฑ์กันชน เพื่อให้สต็อกยางพารามีการเคลื่อนไหว กองทุนจะรักษาเสถียรภาพยางพาราที่รับซื้อยางมาสต็อก 2.08 แสนตัน
?สัญญาซื้อขายยางต้องส่งให้อัยการตรวจสอบเพื่อความรอบคอบ ที่ผ่านมามีผู้ซื้อยางให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง การใช้กองทุนมูลภัณฑ์กันชน ดูดซับยางออกจากระบบไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าซื้อมาไม่มีที่ขายออกก็จะยุ่ง ที่ผ่านมารัฐบาลได้ตั้งกรรมการขึ้นมาดูแล เชื่อว่าจะสามารถขับเคลื่อนให้ราคายางขยับขึ้นได้?นายปีติพงศ์ กล่าว

ชงครม.เกณฑ์จ่ายเงินชาวสวนยาง
นายปีติพงศ์ กล่าวว่า วันนี้ (4 พ.ย.) จะเสนอหลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือโครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ เนื่องจากกระบวนการขั้นตอนการดำเนินการตรวจสอบพื้นที่สวนยางเปิดกรีดได้ อยู่ในข่ายได้รับการช่วยเหลือประมาณ 8.2 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกยางที่ดินของรัฐจำนวนมาก จึงต้องมีกระบวนการกลั่นกรองและหลักฐานการอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ที่ชัดเจน คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินให้กับชาวสวนยาง ได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.นี้

เร่ง3มาตรการแก้ปัญหายางราคาตก
ส่วนมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังดำเนินการขณะนี้ แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก 1. การเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ได้ให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ หารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม ถึงการใช้ยางเพื่อทำถนน ที่เบื้องต้นได้กำหนดพื้นที่นำร่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทั้งสองกระทรวงฯจะกำหนดพื้นที่ทำถนนให้ชัดเจนเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกัน ยังได้สั่งให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวก.) เร่งผลิตผลงานวิจัยที่มีผลชัดเจนว่าจะสามารถนำยางไปใช้ในพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้มีกลุ่มสินค้าใดบ้าง

2. การเชิญนักธุรกิจชาวจีนมาศึกษาดูงานการผลิตยางในไทยระหว่างวันที่ 23 - 28 พ.ย.นี้ เพื่อดูความพร้อมและศักยภาพการลงทุนในไทย มากกว่าการสั่งซื้อวัตถุดิบอย่างเดียว 3. การประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิตยาง ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ระหว่างวันที่ 20 - 21 พ.ย.นี้ ซึ่งมาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เพื่อร่วมหารือถึงมาตรการกระตุ้นให้ราคายางมีราคาสูงขึ้น คาดว่ามาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐกำลังเร่งรัดดำเนินการอยู่จะกระตุ้นให้ราคายางในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น พิจารณาได้จากราคายางพาราในปัจจุบัน ที่ตลาดกลางยางพาราสงขลา โดยยางแผ่นดิบคุณภาพดี อยู่ที่กิโลกรัมละ 52.25 บาท ยางแผ่นรมควัน อยู่ที่กิโลกรัมละ 55.70 บาท
อสย.เผยจีนสนใจขอซื้อยาง
นายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) กล่าวว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี สั่งให้อ.ส.ย. เข้าประมูลซื้อยางวันที่ 5 พ.ย.นี้ ขณะนี้มีเอกชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศโดยเฉพาะจีน ได้ติดต่อมาขอทำสัญญาซื้อยาง เบื้องต้นมีออเดอร์เข้ามากกว่า 12 เดือนแล้ว ภายในเดือนพ.ย.นี้จะสามารถส่งมอบยางล็อตแรกได้ 20,000 ตัน ส่วนราคาจะตกลงแบบเดือนต่อเดือน
สำหรับการรับซื้อยาง อ.ส.ย.อยู่ระหว่างประเมินปริมาณว่า มียางในระบบเท่าไหร่ เพื่อประเมินทิศทางตลาด การทำงานของกองทุนมูลภัณท์กันชน ได้กำหนดเงื่อนไขของการขายไว้ว่า หากซื้อครบ 20,000 ตัน ให้มีการขายออกอัตโนมัติ ในราคาตลาด

หวั่นพ่อค้าปั่นราคาเกินจริง
นายชนะชัย กล่าวว่ารู้สึกกังวลเกี่ยวกับราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจไม่ใช่ราคาที่สะท้อนจากปัจจัยพื้นฐานของราคายาง แต่อาจเกิดจากการปั่นราคา กักตุน ของนักเก็งกำไร เพื่อรอการเข้าซื้อจากกองทุนมูลภัณฑ์กันชน ที่เตรียมจะเข้าซื้อยางพารา เพราะราคายางในประเทศขณะนี้ สูงกว่าราคาในตลาดโลก เช่น ตลาด ญี่ปุ่น

สำหรับความเคลื่อนไหวราคายางในประเทศ หลังจากรัฐบาลประกาศจัดตั้งกองทุนมูลภัณฑ์กันชนได้ 2 สัปดาห์ ราคาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่กิโลกรัมละ 49.13 บาท เพิ่มขึ้น13.4 % หรือ 6.57 บาท ขณะที่ราคาวานนี้ (3 พ.ย.) อยู่ที่กิโลกรัมละ 55.70 บาท
ราคาตลาดโตคอมปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนตลาดโตคอม ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดซื้อขายล่วงหน้า ที่มีการซื้อขายในเดือนต.ค. ที่ผ่านมา สำหรับสัญญาที่จะส่งมอบเดือนธ.ค.นี้ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 194 เยน สัญญาที่จะส่งมอบเดือนมี.ค.2558 ราคาปิดอยู่ที่กิโลกรัมละ 200.6 เยน/กก. และราคาเพื่อการส่งมอบเดือนเม.ย.2558 ราคาปิดอยู่ที่กิโลกรัมละ 201.9 เยน ซึ่งราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
รายงานข่าวจากสถาบันวิจัยยาง แจ้งว่า ราคายางตลาดกลางยางพาราสงขลา โดยยางแผ่นดิบแตะระดับ 52.25 บาทต่อกิโลกรัม ปรับตัวสูงขึ้นกิโลกรัมละ 0.20 บาท โดยมีปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของเงิน เยนและเงินบาท ดังนั้นผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในการซื้อขาย และติดตามการเข้ามาซื้อยางของรัฐบาลโดยองค์การสวนยางว่าจะออกมาในรูปแบบใด

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (วันที่ 4 พฤศจิกายน 2557)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 05, 2014, 08:46:00 AM โดย Rakayang.Com »