ผู้เขียน หัวข้อ: ดีเดย์ 15 พ.ย.จ่ายเงินยาง 1,000 บาท/ไร่  (อ่าน 849 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84531
    • ดูรายละเอียด
ดีเดย์ 15 พ.ย.จ่ายเงินยาง 1,000 บาท/ไร่


นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการจ่ายเงินให้ชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ ว่าจะเปิดให้ชาวสวนยางขึ้นทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.-15 ธ.ค.นี้ พร้อมจัดทำหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเสนอครม.พิจารณา อีกครั้ง เนื่องจากชาวสวนยางยังมีความหลากหลายกว่าเมื่อเทียบกับชาวนา ที่จะเพาะปลูกในพื้นที่มีกรมสิทธิ์อย่างถูกต้องเท่านั้น ขณะที่ยางพารายังมีพื้นที่ของเขตป่าไม้และอื่นๆ ดังนั้นการจ่ายเงินจะต้องมีการตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับสิทธิอย่างเข้มข้น มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับอำเภอขึ้นมา เพื่อตรวจสอบสิทธิ์ที่อาจมีการเปลี่ยนมือไป

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าโครงการนี้จะเริ่มจ่ายเงิน ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพ.ย.นี้ ให้กับเกษตรกร 850,000 ครัวเรือน ในพื้นที่ 8.2 ล้านไร่ วงเงิน 8,500 ล้านบาท โดยจะจ่ายเงินได้เสร็จภายใน 6 เดือน หรือภายในเดือนเม.ย. 2558

สำหรับระบบตรวจสอบรับรองสิทธิครั้งนี้มีความรัดกุม เนื่องจากเป็นการทำงานประสานหลายหน่วยงาน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้รับขึ้นทะเบียน แต่จะมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบสิทธิระดับตำบลประกอบด้วยหลายฝ่าย เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ทำงานร่วมกันตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีด รวมถึงมีเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมในคณะทำงาน เพื่อให้การรับรองกรณีเป็นพื้นที่ป่าที่กระทรวงฯอนุญาตให้ทำการเกษตรได้

"คนที่เคยได้รอบก่อนที่ชดเชยให้ 2,520 บาทต่อไร่ ก็จะต้องตรวจสอบใหม่เช่นกัน แต่จะทำได้เร็วกว่าเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนใหม่ ซึ่งต้องตรวจสอบสภาพยางและการเปิดกรีด" นายโอฬาร กล่าว

นายโอฬาร กล่าวว่าการขึ้นทะเบียนชดเชยรายได้ชาวนา 1,000 บาท/ไร่ ขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนแล้ว 3 ล้านครัวเรือน คณะทำงาน ตรวจสอบสิทธิระดับตำบลตรวจสอบแล้ว 1.5 ล้านครัวเรือน และส่งข้อมูลผ่านอำเภอไปยังธ.ก.ส.แล้ว 2 แสนครัวเรือน

"การรับรองสิทธิรูปแบบที่รัฐบาลนี้สั่งการถือเป็นรูปแบบที่ดี เพราะมีหลายหน่วยงานร่วมกัน ถ้าเกษตรกรแจ้งผิดจะต้องรับโทษทางอาญา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะย้ำเกษตรกรเรื่องนี้ทุกครั้ง และมีอำนาจทางปกครองที่จะเรียกตรวจสอบได้" นายโอฬารกล่าว

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมธ.ก.ส. กล่าวว่าที่ประชุมได้อนุมัติการช่วยเหลือชาวสวนยาง 3 โครงการ วงเงิน 2.42 หมื่นล้านบาท แต่บอร์ดให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรปรับปรุงการอนุมัติให้การช่วยเหลือ เพื่อให้กระบวนการเร็วขึ้น การช่วยเหลือชาวสวนยางต้องไม่ขัดกับองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ)

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า นายสมหมาย ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการช่วยเหลือชาวสวนยาง ควรมีการทบทวนหลักเกณฑ์การช่วยเหลือให้เป็นเกษตรกรรายย่อย ส่วนเจ้าของสวนที่มีพื้นที่เพาะปลูกตั้งแต่ 100-1,000 ไร่ ขึ้นไป ให้กระทรวงการเกษตรฯ ซึ่งเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ช่วยเหลือสวนยางไปทบทวนว่าควรจำกัดกลุ่มการช่วยเหลือหรือไม่ โดยให้เสนอครม. อีกครั้ง

นายลักษณ์ กล่าวถึงการจ่ายเงินให้ชาวนาว่า ยังมั่นใจว่าจะจ่ายให้ทั้งหมดได้ภายในสิ้นเดือนพ.ย.นี้ แม้ว่าช่วงแรกการจ่ายเงินจะได้น้อย เพราะได้มีเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบสิทธิชาวนาอีก 2 ขั้นตอน เพื่อความโปร่งใส ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ขอให้ธ.ก.ส. ส่งข้อมูลการจ่ายเงินชาวนาไปให้ เพื่อส่งให้องค์กร ตรวจสอบอื่นๆ ช่วยตรวจสอบด้วย เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)


Souce: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ