ผู้เขียน หัวข้อ: รายงานพิเศษ : ผ่าทางรอดเกษตรกรสวนยางพารา  (อ่าน 990 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด
รายงานพิเศษ : ผ่าทางรอดเกษตรกรสวนยางพารา

            ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ มีการปลูกกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมประมาณ 22 ล้านไร่    เคยเป็นพืชเศรษฐกิจดาวรุ่ง  แต่...ในปัจจุบันกลับกลายเป็น "ดาวร่วง" ราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยราคาพุ่งทะลุกิโลกรัมละ 150 บาท  ลดลงเหลือประมาณกิโลกรัมละ 45 - 47 บาท   ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อน  และได้เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

            พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  ได้ให้ความสำคัญเรื่องยางพาราเป็นพิเศษ  และขอดูแลด้วยตนเองโดยตรงอย่างไรก็ตามต้องยอมรับความจริงว่า  ราคายางพารา ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้กำหนด ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบโดยตรงต่อราคายางก็คือ  อุปสงค์และอุปทาน   หรือ ความต้องการของตลาดและปริมาณผลผลิต  ซึ่งในปัจจุบันอุปสงค์ มีน้อยกว่า อุปทาน ราคาจึงตกต่ำอย่างที่เป็นอยู่   ดังนั้นหากต้องการให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้น จำเป็นจะต้องเพิ่มปริมาณอุปทาน ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของโลกด้วย  เพราะตลาดยางพาราของไทยจะพึ่งตลาดส่งออก โดยเฉพาะตลาดประเทศจีนเป็นหลัก

                แนวโน้มอนาคตราคายางพาราจะเป็นอย่างไรนั้น จะต้องพิจารณาถึงปริมาณยางทั้งในและต่างประเทศที่จะออกสู่ตลาด  สถาพเศรษฐกิจ ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความต้องการใช้ยางพารา หากเศรษฐกิจดีกำลังซื้อก็จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์  ยางรถยนต์  ถุงยางอนามัย  ถุงมือแพทย์  เป็นต้น  ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจของโลกยังทรงตัว ในขณะที่ปริมาณยางกำลังจะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ฤดูกาลกรีดยางกำลังจะมาถึง  พื้นที่ปลูกยางใหม่ทั้งในและต่างประเทศก็กำลังจะเปิดกรีด

                นายประสิทธิ์  หมีดเส็น  รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)  ได้วิเคราะห์สถานการณ์ราคายางว่า  ขณะนี้เริ่มมีปัจจัยบวกที่จะทำให้ราคายางเพิ่มขึ้นแล้ว เช่น ปริมาณสต๊อกยางในตลาดโลกเริ่มลดน้อยลง  ประเทศไทยเริ่มมีการหาตลาดใหม่ๆ นอกจากประเทศจีน   รัฐบาลกำลังหามาตรการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง  เป็นต้น  ดังนั้นในอนาคตราคายางน่าจะเพิ่มขึ้น แต่คงจะไม่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า กิโลกรัมละ 100 บาทเหมือนในอดีต

                 รักษาการแทน ผอ.สกย. ยังได้ให้ข้อคิดกับเกษตรกรชาวสวนยางว่า  ไม่ว่าสถานการณ์ราคายางจะเป็นเช่นไร หากเกษตรกรนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" มาใช้  อาชีพการทำสวนยางก็จะมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนแน่นอน   โดยเกษตรกรจะต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น  สิ่งไหนสามารถทำเองได้ก็ทำเอง ไม่ต้องซื้อ เมื่อเหลือก็นำไปจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้  การทำสวนยางไม่ควรจะปลูกยางเพียงอย่างเดียว ควรจะปลูกพืชอื่นๆด้วย   เช่น  การปลูกไม้ผล  การปลูกพืชผัก  การเลี้ยงสัตว์  การเลี้ยงมดแดง ในสวนยาง  เป็นต้น   หรือไม่ก็ทำอาชีพเสริมอื่นๆ  เช่น  การเพาะเห็ด   การเลี้ยงปลา  การทำปุ๋ยอินทรีย์  เป็นต้น  ซึ่ง สกย.พร้อมให้การส่งเสริมและสนับสนุน

                 นอกจากนี้ในการทำสวนยางอย่างยั่งยืนนั้น เกษตรกรจะต้องเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ยากเกินไป  เริ่มตั้งแต่พันธุ์ยางจะต้องเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง เช่น ยางพันธุ์ RRIT 251   ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงถึงเฉลี่ยประมาณ 462 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี    เจริญเติบโตในช่วงก่อนเปิดกรีดได้ดีมาก ขนาดลำต้นทั้งแปลงมีความสม่ำเสมอดี  จำนวนวงท่อน้ำยางมาก มีจำนวนต้นเปิดกรีดต่อไร่มาก    และน้ำยางมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการแปรรูปทางอุตสาหกรรม  แตกต่างจากพันธุ์ RRIM 600 ที่นิยมปลูกในปัจจุบัน ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยเพียงประมาณ 297 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี

                 ดังนั้นเมื่อสวนยางที่ครบอายุต้องโค่นเพื่อปลูกยางใหม่ หากสวนยางอยู่ในพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกยางก็ควรเลือกยางพันธุ์ดีดังกล่าว  แต่ถ้าสวนยางอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เมื่อโค่นแล้วควรจะปลูกพืชอื่นๆ ที่ตลาดมีความต้องการและให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า  เช่น ปาล์มน้ำมัน  ไม้ผล เป็นต้น   ซึ่ง สกย.ก็พร้อมให้เงินทุนสงเคราะห์ โดยเฉพาะการปลูกแทนยางด้วยปาล์มน้ำมันนั้น ให้เงินสงเคราะห์ถึงไร่ละ 26,000 บาท
                 สำหรับการดูแลรักษาสวนยางก็เช่นเดียวกัน  เกษตรกรควรจะทำด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการตัดแต่งกิ่ง  การกำจัดวัชพืช และการให้ปุ๋ย  เกษตรกรจะต้องการลดการใช้ปุ๋ยเคมี  ให้ใช้ควบคู่กับปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยชีวภาพ    เพราะนอกจากจะลดต้นทุนการผลิตได้แล้ว ยังช่วยปรับสภาพดิน ทำให้ดินสามารถดูดซับธาตุอาหารจากปุ๋ยเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะค่อย ๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารให้ต้นยางพาราใช้ประโยชน์     รวมทั้งยังช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน ปรับสภาพดินให้มีชีวิต ต้นยางพาราก็จะเจริญเติบโตได้ดี  ทำให้ผลผลิตน้ำยางเพิ่มขึ้น

                    นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะปราศจากสารเคมี และสิ่งเจือปน จึงปลอดภัยต่อต้นยางพาราและผู้ใช้อีกด้วยเมื่อถึงระยะเปิดกรีดยาง เกษตรกรจะต้องไม่เปิดกรีดยางต้นเล็ก แม้จะมีอายุมากกว่า 5 ปีแล้วก็ตาม  ต้นยางที่จะสามารถเปิดกรีดได้นั้น ต้องมีเส้นรอบต้นไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ณ ความสูงจากพื้นดินขึ้นไป 150 เซนติเมตร หากต้นยางมีเส้นรอบลำต้นน้อยกว่านี้ เกษตรกรไม่ควรจะเปิดกรีด เพราะจะทำให้ผลผลิตน้ำยางต่ำ ต้นยางเจริญเติบโตช้า และอายุการกรีดจะสั้นลงไม่ถึง 25 ปี เกษตรกรควรจะชะลอการเปิดกรีดไว้ก่อน จนกว่าจะดูแลบำรุงรักษาให้ต้นยางได้ขนาดมาตรฐาน   


                 และที่สำคัญในแต่จะสวนที่จะเปิดกรีดนั้น ควรจะมีจำนวนต้นยางขนาดดังกล่าวไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของต้นยางทั้งหมด หรือประมาณ 42 ต้นต่อไร่ หากมีจำนวนน้อยกว่านี้ จะไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปการเปิดกรีดยางต้นเล็กที่ยังไม่ได้ขนาด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าข่มขืนต้นยางนั้น มีผลเสียตามมามากมายนอกจากผลผลิตต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง การเจริญเติบโตช้าแล้ว  ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะทำลายหน้ากรีด เพราะเปลือกยางบาง  และที่สำคัญอาจจะไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติให้เงินสงเคราะห์ในการปลูกยางใหม่ทดแทนยางเก่า ในอัตราไร่ละ 16,000 บาท จาก สกย.ก็เป็นได้  ถ้าหากตรวจพบว่า เกษตรกรกรีดยางต้นเล็กไม่ได้ขนาด   รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติ      เพราะแทนที่จะได้ผลผลิตส่งออกจำนวนมาก  กลับต้องส่งออกได้ในปริมาณที่ลดน้อยลง ทำให้เงินไหลเข้าประเทศน้อยลงไปอีกด้วย

                 สำหรับเทคนิคการกรีดยางก็เป็นเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องที่มีผลต่อผลผลิตยางเช่นกัน   เกษตรกรจะต้องมีความชำนาญในการกรีดยาง  มิฉะนั้นอาจจะทำให้หน้ากรีดเสียหายได้  ปริมาณน้ำยางที่ได้ก็น้อยลง ดังนั้น เกษตรกรจะต้องฝึกกรีดยางให้มีความชำนาญ ซึ่งสามารถติดต่อแสดงความจำนงที่จะเข้ารับการฝึกอบรมได้ที่ครูยาง หรือ หรือที่ สกย. ประจำอำเภอทั่วประเทศ


                 หากเกษตรกรสามารถปฏิบัติตามข้อแนะนำดังกล่าวแล้ว  รักษาการแทน ผอ.สกย. มั่นใจว่า จะทำให้ต้นทุนการผลิตยางเฉลี่ยต่ำกว่า 40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แม้ราคายางจะตกต่ำก็ตาม


                 นอกจากนี้ เกษตรกรรายย่อยจะต้องรวมกลุ่มกัน พัฒนาตัวเองก้าวสู่การเป็นนิติบุคคลให้ได้  แม้อาจจะต้องใช้ระยะเวลาก็ตามเพราะจะทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น รัฐบาลสามารถให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนได้อย่างรวดเร็ว และตรงกับความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง    รวมทั้งยังจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์ชาวสวนยางด้วยกัน  เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในตลาด หรือทำให้หาตลาดใหม่ๆ ได้ ตลอดจนสามารถกำหนดราคาที่เหมาะสม และยุติธรรม ไม่ทำให้เกิดการตัดราคาแย่งตลาดซึ่งกันและกัน   อีกทั้งยังจะสามารถหามืออาชีพที่มีความชำนาญด้านการตลาดมาบริหาร เพื่อขยายตลาดได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ  ประหยัดงบประมาณในการช่วยเหลือจากภาครัฐ

             ด้วยวิธีการร่วมมือกันเรียนรู้และพัฒนาของชาวสวนยางแบบ Win Win นี้แหละ จะทำให้เกษตรกรเกิดความมั่นคงในอาชีพการทำสวนยางพาราอย่างยั่งยืนได้




ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า (วันที่ 30 กันยายน 2557)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 01, 2014, 10:07:52 AM โดย Rakayang.Com »