ผู้เขียน หัวข้อ: ฝ่าวิกฤติราคายางพารา?กลยุทธ์และการปรับตัว  (อ่าน 1142 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 85104
    • ดูรายละเอียด
ฝ่าวิกฤติราคายางพารา กลยุทธ์และการปรับตัว



ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์ฝ่าวิกฤติราคายางพารา?กลยุทธ์และการปรับตัว  โดยระบุว่า


ราคายางพาราที่ปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากภาวะความไม่สมดุลของผลผลิตและการบริโภคยางพาราในตลาดโลก ราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากผลผลิตยางพาราโลกในช่วงปี 2010-14 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเฉลี่ยปีละ 4.2% จากการเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกในระหว่างปี 2005-08 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคายางพาราอยู่ในเกณฑ์ดี  ส่งผลให้ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั่วโลกมีพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นราว 11.3 ล้านไร่ (ยางพาราจะเริ่มให้ผลผลิตหลังจากปลูกแล้วประมาณ 6-7 ปี) ในขณะความต้องการบริโภคยางพาราโลกมีการเติบโตในระดับต่ำเฉลี่ยปีละ 2.5% ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นสุดท้าย (ยางล้อและผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ถุงมือยาง) เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และจีน ที่มีสัดส่วนการบริโภคผลิตภัณฑ์ยางรวมกันกว่า 62% ของการบริโภคทั้งโลก (รูปที่ 1) ประกอบกับในช่วงปี 2006-11 ที่ราคายางพาราสูงกว่าราคายางสังเคราะห์ (สินค้าทดแทนกัน) ทำให้ในปัจจุบันผู้ประกอบการหันมาใช้ยางสังเคราะห์เพิ่มขึ้น (รูปที่ 2) จากสภาวะดังกล่าวทำให้ตลาดยางพาราโลกเข้าสู่ภาวะสินค้าล้นตลาด (Oversupply) ผลักดันให้ปริมาณสต็อกยางพาราโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 3) โดยในปี 2014 คาดว่าสต็อกยางพาราโลกจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 3.2 ล้านตัน นับเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์  ซึ่งปริมาณสต็อกยางพาราที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ประกอบกับราคายางสังเคราะห์ที่มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง มีผลให้ราคายางพาราปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา
โดยราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงดังกล่าว กระทบต่อรายได้ของประเทศและเกษตรกรค่อนข้างมาก ยางพาราถือได้ว่าเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย เห็นได้จากรายได้จากการส่งออกยางพาราในปี 2013 ที่มีมูลค่าสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท มากเป็นอับดับ 1 ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด และมากเป็นอันดับ 8 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย โดยราคาส่งออกยางพาราที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2012 ส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้จากการส่งออกยางพาราไปแล้วราว 4.2 แสนล้านบาท และส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกยางซึ่งมีจำนวนราว 1.4 ล้านครัวเรือน ลดลงโดยเฉลี่ย 132,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี นอกจากนี้ ราคายางพาราที่ลดลงยังส่งผลให้รายได้ของแรงงานกรีดยางปรับตัวลดลงตามไปด้วย เนื่องจากการจ่ายค่าจ้างกรีดยางจะใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์จากรายได้เป็นเกณฑ์ โดยในปี 2011 แรงงานมีรายได้จากการกรีดยางวันละ 1,060 บาท ในขณะที่ในปัจจุบันแรงงานมีรายได้เพียง 380 บาทต่อวัน หรือปรับตัวลดลงราว 680 บาทต่อวัน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าราคาที่ลดลงจะมีผลกระทบในวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ แต่การแก้ปัญหาของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา กลับยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากข้อมูลในอดีต พบว่า ราคายางพาราจะสามารถหลุดพ้นจากวัฏจักรราคาในช่วงขาลงได้ ก็ต่อเมื่อตลาดยางพาราเข้าสู่ภาวะสินค้าขาดตลาด (Excess demand) ตัวอย่างเช่น ภาวะสินค้าขาดตลาด 0.6 ล้านตันที่เกิดขึ้นในปี 2000 ที่นำไปสู่การสิ้นสุดของวัฎจักรราคาขาลงที่ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 4 ปี โดยภาวะดังกล่าวจะสามารถเกิดขึ้นได้ในปัจจุบันก็ต่อเมื่อมีการกระตุ้นให้การบริโภคยางพาราโลกเพิ่มขึ้นจากปีนี้อีกราว 1 ล้านตัน หรือทำการปรับลดปริมาณผลผลิตยางพาราโลกลงจากปีนี้อีก 1 ล้านตัน ซึ่งในแง่ของการบริโภคจะพบว่าไทยมีศักยภาพในการกระตุ้นที่ต่ำมาก เนื่องจากไทยมีการบริโภคผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นสุดท้ายเพียง 0.2% ของการบริโภคทั้งโลก ในขณะที่การจัดซื้อน้ำยางมูลค่า 835 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการซ่อมบำรุงถนนสามารถช่วยเพิ่มการบริโภคยางพาราได้เพียง 2 หมื่นตันเท่านั้น ในส่วนของผลผลิต แม้ไทยจะมีศักยภาพในการปรับลดผลผลิต (ไทยมีผลผลิตยางพาราคิดเป็น 34% ของผลผลิตทั้งโลก) แต่มาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลดผลผลิตมากนัก เช่น โครงการสนับสนุนเงินแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยางและแปรรูปยาง ที่ไม่มีผลต่อการลดผลผลิต หรือโครงการสนับสนุนการโค่นยางเก่าปีละ 4 แสนไร่ ที่ช่วยให้ผลผลิตยางพาราลดลงเพียงราวปีละ 7 หมื่นตัน (ต้นยางเก่าจะให้ผลผลิตต่อไร่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย)จึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงที่ผ่านมาราคายางพารายังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่มาตรการลดผลผลิตของกลุ่มเกษตรกรก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมีปัญหา Free riderในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรมีการออกมาตรการลดผลผลิตยางพารา แต่มาตรการดังกล่าวกลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากการลดผลผลิตยางพาราเพื่อยกระดับราคามีปัญหา Free rider กล่าวคือ เกษตรกรที่ไม่เข้าร่วมลดผลผลิตสามารถได้ประโยชน์จากราคาที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผลผลิตลดลง ส่งผลให้เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว หรือเมื่อเข้าร่วมแล้ว พอราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้น เกษตรกรก็จะกลับมากรีดยางอีกครั้ง ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาผลผลิตยางพาราของไทยยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่กลุ่มเกษตรกรพึงตระหนัก คือ การลดผลผลิตของไทยเพื่อยกระดับราคายางพาราเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน เพราะราคาที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้เกษตรกรในประเทศอื่นๆ มีแรงจูงใจในการเพิ่มผลผลิต ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะทำให้ราคากลับมาลดลงอีกครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น การลดการผลิตของไทยเพียงประเทศเดียวยังจะส่งผลให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาด (market share) ในตลาดยางพาราโลกอีกด้วย
อีไอซี มองว่า ราคายางพารายังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไปภาวะผลผลิตยางพาราล้นตลาด ยังมีแนวโน้มดำเนินต่อไปในช่วง 2-4 ปีข้างหน้า เนื่องจากปริมาณผลผลิตยางพารายังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ต้นยางพาราที่ปลูกในช่วงกลางทศวรรษ 2000 จะเข้าสู่ช่วงอายุที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ประกอบกับต้นยางพาราที่ปลูกใหม่ในช่วงปี 2009-11 อีกราว 5.6 ล้านไร่ ก็กำลังจะเริ่มให้ผลผลิตในอีก 2-3 ปีจากนี้ ในขณะที่การบริโภคยางพารา แม้จะมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่เพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใน สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ รวมทั้งการที่ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะหันมาบริโภคยางพาราทดแทนยางสังเคราะห์เพิ่มขึ้น (จากราคายางพาราที่ถูกกว่า) แต่แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของความต้องการดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับปริมาณผลผลิตยางพาราที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ประกอบกับราคายางสังเคราะห์ยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง (แต่ยังสูงกว่าราคายางพารา) จากภาวะผลผลิตล้นตลาดและราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ซึ่งจาก 2 ปัจจัยดังกล่าว จะส่งผลให้ราคายางพารายังมีแนวโน้มปรับลดลงในระยะต่อไป
Implication               
 
 
 
รัฐบาลไทยควรจัดตั้งกองทุนวิจัย เพื่อส่งเสริมการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากยางล้อ พร้อมทั้งเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวในไทยยางพาราสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและทางการแพทย์ ได้มากมายหลายชนิด เช่น ถุงมือยาง ยางยืด ถุงยางอนามัย (รูปที่ 4) แต่อย่างไรก็ดี ความนิยมในการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับการใช้ยางสังเคราะห์ เนื่องจากยางพารามีคุณสมบัติบางอย่างที่ด้อยกว่ายางสังเคราะห์ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากยางพาราสามารถก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้แก่ผู้ใช้ได้ ส่งผลให้การใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยางล้อ อยู่ในระดับต่ำเพียง 3.5 ล้านตันหรือคิดเป็น 30% ของการใช้ยางรวมอุตสาหกรรมดังกล่าว แตกต่างจากในอุตสาหกรรมยางล้อที่มีการใช้ยางพาราในสัดส่วนที่สูงถึง 52% ของการใช้ยางทั้งหมดในอุตสาหกรรม (รูปที่ 4) ดังนั้น ไทยควรจัดตั้งกองทุนวิจัย (ปัจจุบันภาครัฐอุดหนุนงบวิจัยที่เกี่ยวกับยางพาราเพียง 50 ล้านบาท) เพื่อเร่งให้เกิดการวิจัยและพัฒนาคุณสมบัติยางพาราให้มีลักษณะที่สามารถแข่งขันได้กับยางสังเคราะห์ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากยางล้อในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งหากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าวหันมาใช้ยางพารามากขึ้น จนทำให้สัดส่วนการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% จะส่งผลให้มีความต้องการบริโภคยางพาราเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกราว 2.4 ล้านตัน เพียงพอที่จะทำให้ตลาดยางพาราโลกเข้าสู่ภาวะสินค้าขาดแคลนได้ในอนาคต
                ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยควรร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ออกมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาถึงแม้ว่าความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เนื่องจากการรักษาเสถียรภาพด้านราคา (ไม่ใช่มาตรการยกระดับราคาให้สูง) มีความสำคัญ ทั้งในแง่การลดความผันผวนของรายได้จากการส่งออกและสร้างเสถียรภาพด้านรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งจะช่วยให้การวางแผนและตัดสินใจบริโภคอยู่บนรากฐานที่สมเหตุสมผลมากขึ้น นอกจากนี้ ราคาที่มีความผัวผวนในระดับต่ำ ยังจะส่งผลดีต่อการวางแผนบริหารจัดการต้นทุนผู้ประกอบการที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบอีกด้วย อย่างไรก็ดี ไทยเพียงประเทศเดียวคงจะไม่สามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาในตลาดโลกได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา เช่น การควบคุมปริมาณผลผลิตยางพาราโลกให้ใกล้เคียงกับความต้องการบริโภค เป็นต้น  พร้อมทั้งร่วมกันส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตจากยางพารา ซึ่งมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสินค้าที่ผลิตจากยางสังเคราะห์
                เกษตรกรควรมีการปรับตัว เพื่อที่จะสามารถอยู่รอดได้ในยุคที่ราคายางพาราตกต่ำคำถามหนึ่งที่สำคัญที่เกษตรกรจะต้องหาคำตอบให้ได้ คือ จะปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดได้ในช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำ?ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตผ่านการรวมกลุ่มกันในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต การถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการสวนยางเพื่อลดต้นทุนการผลิตรวมทั้งการหาแหล่งรายได้เสริมอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงรายได้จากยางพาราเพียงอย่างเดียว




โดย :  เกียรติศักดิ์ คำสี (Kaittisak.kumse@scb.co.th)
Economic Intelligence Center (EIC)
EIC Online: www.scbeic.com


เรียบเรียง โดย อรนุช ภัทรกุล  
                อีเมล์. reporter@efinancethai.com
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 24, 2014, 12:55:58 PM โดย Rakayang.Com »