ผู้เขียน หัวข้อ: การแก้ไขปัญหายางพาราไทยอย่างถึงราก  (อ่าน 1525 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84883
    • ดูรายละเอียด

การแก้ไขปัญหายางพาราไทยอย่างถึงราก




โดย สิริอัญญา   2 กรกฎาคม 2557 12:10 น.        




       ปัญหายางพารากำลังก่อตัวเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาแทนที่ปัญหาข้าว ที่ชาวนาร่วมล้านครอบครัวได้รับการเยียวยาช่วยเหลือจาก คสช.คืนเงินที่ถูกโกงไปกว่า 6 เดือนเสร็จสิ้นเรียบร้อยไปแล้ว หลังจากการยึดอำนาจผ่านไปราวเดือนเศษ
       
       แต่ทว่าปัญหาเรื่องชาวสวนยาง เรื่องยางพารา ที่หมักหมมมายังมิได้รับการเยียวยาแก้ไขเลยแม้แต่น้อย
       
       จนปัญหาเริ่มลุกลามบานปลายมากขึ้นทุกที ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริหารบ้านเมืองจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจและหาทางแก้ไขให้ถึงรากถึงโคนไปสักครั้งหนึ่ง มิฉะนั้นปัญหานี้ก็จะเกิดๆ ดับๆ สลับกันไปไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่ผ่านมาเกือบร้อยปีแล้ว
       
       ขณะนี้ราคายางพารากลับตกต่ำอย่างน่าใจหาย จนถึงขณะนี้ราคาลดต่ำลงเหลือเพียงกิโลกรัมละราว 60 บาทเท่านั้น อย่างนี้ก็เจ๊งกันถ้วนหน้า เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า อย่าได้สงสัยเลย
       
       ในห้วงเวลาที่ คสช.ยังมีอำนาจเต็มที่อยู่นี้เป็นสถานการณ์อันดียิ่งที่จะได้กอบกู้ฟื้นฟูชาวสวนยางและการผลิตยางพาราของประเทศให้เป็นมรรคเป็นผลแก่เศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจัง
       
       ก่อนอื่นก็ต้องทำความรู้ทำความเข้าใจสองเรื่องสำคัญว่าทำไมปัญหาจึงซ้ำซากและหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้?
       
       เรื่องแรก ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราส่งออกรายใหญ่ของโลก และมีผลต่อเชิงตลาดยางพาราของโลกด้วย แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกยางดิบเป็นหลักเหมือนที่เคยทำมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ไม่มีใครสนใจที่จะทำให้ยางพาราเป็นกำลังเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่ของประเทศชาติเลย นี่คือสิ่งที่พรรคการเมืองและนักการเมืองทั้งหมดต้องรับผิดชอบ
       
       เรื่องที่สอง แต่ก่อนมาประเทศไทยส่งยางออกไปต่างประเทศโดยผ่านประเทศนายหน้าหลายประเทศ และไปยังผู้ซื้อหลายประเทศ แต่ปัจจุบันนี้ยางพาราดิบกำลังกลายเป็นของผูกขาด และผู้ที่จะผูกขาดรายใหญ่ของโลกก็คือนักธุรกิจจีนที่เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อกิจการยางพาราและชาวสวนยางของประเทศไทย
       
       เรื่องที่สองนี่แหละที่จะต้องเข้าใจกันให้ลึกซึ้ง มีการตั้งธุรกิจยางขนาดใหญ่ระดับโลกขึ้นที่ภาคอีสานของประเทศจีน และดำเนินการผูกขาดการซื้อยางพาราจากหลายประเทศ เพื่อคุมตลาดยางของโลกไว้ในกำมือ ยางที่ซื้อมาแล้วก็จำหน่ายขายไปและแปรรูป ทั้งในประเทศจีนและในประเทศอื่นๆ ที่ต้องการ เป็นวิธีการเดียวกันกับการผูกขาดการขายเครื่องบินโบอิ้งที่แม้แต่สหรัฐฯ ก็ดิ้นไม่ออกอยู่ในขณะนี้
       
       กิจการค้ายางดังกล่าวได้ตั้งตัวแทนหรือพยายามเข้ามาตั้งหน่วยงานรับซื้อในประเทศไทยในพื้นที่หลายจังหวัด ใช้ศักยภาพที่เหนือกว่าเอาชนะคู่แข่งจนเกือบจะราบคาบแล้ว
       
       ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่กิจการค้ายางดังกล่าวสามารถผูกขาดการซื้อยางพาราทั้งหมดของประเทศไทยมากขึ้นเพียงใด กิจการยาง ชาวสวนยาง และราคายางของประเทศไทยก็จะตกอยู่ในกำมือของกิจการค้ายางจากจีนรายนี้ และนี่คือมหันตภัยที่คนไทยทั้งประเทศโดยเฉพาะ คสช.จะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับประเทศชาติและประชาชนไทย
       
       จะต้องหยุดยั้งการผูกขาด หยุดยั้งการปล่อยให้กิจการยางพาราและชาวสวนยางพารา ตลอดจนราคายางพาราของประเทศอยู่ในอุ้งตีนของกิจการยางพารารายนี้ให้จงได้ และต้องทำเสียก่อนที่การผูกขาดจะสัมฤทธิผลทั้งประเทศ!
       
       ก็เหมือนการที่จะปราบกุมภกรรณนั้นก็ต้องทำลายพิธีปลุกหอกโมกขศักดิ์ให้พินาศไปเสียก่อนฉันใดก็ฉันนั้น แล้วจะทำกันอย่างไรเล่า?
       
       ประเทศไทยไม่มีทางเลือกอย่างอื่น นอกจากจำเริญและอัญเชิญพระบรมราโชบายของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไว้นานนักหนาแล้วว่าประเทศไทยต้องเดินไปสู่หนทางเกษตรอุตสาหกรรมเท่านั้น
       
       เราจะจำเริญและอัญเชิญธงชัยของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้มาแก้ไขปัญหายางพาราของประเทศได้อย่างไร?
       
       ประการแรก จะต้องจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพาราระดับชาติขึ้นในประเทศไทย ให้มีศูนย์กลางใหญ่อยู่ที่ภาคตะวันออกและอาจมีสาขาย่อยอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ เราต้องจัดตั้งขึ้นในภาคตะวันออกก็เพื่อความสะดวกและเพื่อการลดต้นทุนในการระดมยางพาราดิบจากทั่วทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก แม้กระทั่งภาคใต้บางส่วนเข้ามายังนิคมอุตสาหกรรมระดับชาตินี้ และต้องกระทำในรูปรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทมหาชนที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
       
       ประการที่สอง นิคมอุตสาหกรรมยางพารานี้จำเป็นต้องใช้พื้นที่ระหว่าง 5,000-10,000 ไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคและทันสมัยในเรื่องยางพาราของโลก ซึ่งสามารถเลือกสรรเทคโนโลยีทันสมัยขนาดไหนมาทำก็ได้ ในนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวจะมีธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราระดับชาติ 3 ประเภทดังนี้
       
       ประเภทที่หนึ่ง ธุรกิจจัดซื้อยางพาราจากผู้ค้าและชาวสวนยางทั่วประเทศ ซึ่งรัฐจะต้องมีบทบาทในการชี้นำเกี่ยวกับราคาที่สอดคล้องกับตลาดและที่จะทำให้ชาวสวนยางพาราและผู้ค้ายางพารามีกำไร ธุรกิจนี้ก็ต้องทำเป็นบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ที่รัฐถือหุ้นเกินครึ่งหนึ่ง
       
       ประเภทที่สอง ธุรกิจแปรรูปยางพาราเบื้องต้น เป็นธุรกิจที่จะรับซื้อยางพาราจากบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามประเภทที่หนึ่ง เพื่อทำการแปรรูปยางพาราให้เป็นการแปรรูปขั้นต้น ซึ่งอาจต้องตั้ง 3-5 บริษัท เพื่อให้รองรับกับปริมาณยางพาราที่กำลังจะเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ และอาจขยายไปถึงการรับซื้อยางพาราจากพม่า ลาว และกัมพูชาอีกด้วย
       
       ประเภทที่สาม ธุรกิจแปรรูปยางพาราปลายน้ำ คือธุรกิจที่แปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ โดยนำเอาผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูปจากประเภทที่สองไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งควรมุ่งเน้นธุรกิจที่สำคัญและเป็นยุคสมัยของโลกดังนี้คือ
       
       (1) บรรดาธุรกิจแปรรูปยางพาราเป็นล้อเครื่องบิน เป็นอุปกรณ์สำหรับเครื่องบิน ยานอวกาศ และดาวเทียม
       
       (2) บรรดาธุรกิจแปรรูปยางพาราที่ใช้สำหรับเรือทุกชนิด รวมทั้งเรือรบ และเรือดำน้ำ และยานดำน้ำทุกชนิดด้วย
       
       (3) บรรดาธุรกิจแปรรูปยางพาราที่ใช้สำหรับรถ อุปกรณ์ตกแต่งรถ รวมทั้งรถถัง และยานรบทางบกทุกประเภทด้วย
       
       (4) บรรดาธุรกิจแปรรูปยางพาราเพื่อใช้กับอุปกรณ์ไฮเทค ไฟฟ้าแม่เหล็กของโลก รวมทั้งที่ใช้กับการแพทย์ขั้นสูง รวมทั้งการใช้เป็นสิ่งเทียมอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย
       
       (5) ประเภทที่ต้องอยู่ขี้โหล่ท้ายสุดก็คือยางรถยนต์ ที่เอะอะก็พูดแต่เรื่องยางรถยนต์ซึ่งเป็นเรื่องที่กระจอกที่สุด
       
       ทั้ง 5 ประเภทใหญ่นี้รัฐจะให้การส่งเสริมการลงทุนอย่างเต็มที่เพื่อชักชวนเอาผู้ประกอบการจากทั่วโลกเข้ามาตั้งสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมระดับชาตินั้น
       
       เมื่อเป็นเช่นนี้ก็สามารถหยุดการยึดครองยางพาราของประเทศไทยที่กำลังเป็นอันตรายใหญ่หลวงนี้ได้ และประเทศไทยก็จะเป็นประเทศแรกและได้เปรียบกว่าใครในโลกในการผลิตยางพาราครบวงจร อันจะทำให้มูลค่าเพิ่มทั้งหมดตกอยู่แก่ประเทศไทยและคนไทย.