ผู้เขียน หัวข้อ: ทวงหนี้ข้าวพลิก วรงค์ชงผุด?กก.? สอบ?สต็อก?หาย  (อ่าน 720 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 83118
    • ดูรายละเอียด

ทวงหนี้ข้าวพลิก วรงค์ชงผุด?กก.? สอบ?สต็อก?หาย
  คลังจ่อรีดสภาพคล่อง ธ.ก.ส.เพิ่มจ่ายชาวนาระหว่างรอเงินกู้ 6 มิ.ย. คาด 4 หมื่นล้านก้อนแรกหมด 31 พ.ค. ป.ป.ช.นัด 4 พยานแจงทุจริตจำนำสัปดาห์หน้า หมอวรงค์บี้ตั้ง กก.กลางสอบข้าวหาย 3ล้านตัน เหตุแก๊งเจ้าหนี้ทวงโหด โอละพ่อ! ที่แท้รู้จักกันดี แถมให้ยืมไร้ ดบ. ทหารช่วยไกล่เกลี่ยยันไม่ใช่คคีฝ่าคำสั่ง คสช.
          เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ได้หารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว ว่าให้นำสภาพคล่องของธนาคารมาจ่ายสำรองเพิ่มเติมในโครงการรับจำนำข้าวไปก่อน ระหว่างที่ยังรอเงินกู้จากกระทรวงการคลังในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ เพราะธนาคารยังมีวงเงินเหลือเพียงพอ จากเดิมที่มีการนำสภาพคล่องมาใช้ก่อนหน้านี้แล้ว 4 หมื่นล้านบาท
           ทั้งนี้ สบน.จะมีการทบทวนแผนการกู้เงินก้อนแรก 5 หมื่นล้านบาท โดยจะมีการเปิดประมูลเงินกู้ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท และจะส่งมอบเงินในวันที่ 6 มิ.ย. วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และในวันที่ 13 มิ.ย. อีก 2 หมื่นล้านบาท
         ?สบน.จะหารือกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมประมูลว่าสามารถส่งมอบเงินทั้ง 5 หมื่นล้านบาทในวันที่ 6 มิ.ย.นี้เลยได้หรือไม่ เพราะ ธ.ก.ส.ได้เร่งจ่ายเงินให้ชาวนาได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเดิมที่คาดว่าจะจ่ายได้เต็มที่วันละ 4 พันล้านบาท แต่จากข้อมูลล่าสุด จ่ายได้สูงถึงวันละ 9 พันล้านบาท? น.ส.จุฬารัตน์ระบุ
    โดยในสัปดาห์หน้าจะออกหนังสือเชิญสถาบันการเงินทั้ง 32 แห่ง ให้ร่วมยื่นประมูลเงินกู้ที่เหลืออีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้กระทรวงการคลังกู้เงินจำนำข้าวไม่เกิน 9.24 หมื่นล้านบาท  สำหรับความคืบหน้าในการจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว ปีการผลิต 2556/57 มียอดจ่ายสะสมอยู่ที่ 3.03 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 3.08 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะจ่ายครบ 4 หมื่นล้านบาท ภายในวันที่ 31 พ.ค.นี้
        แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส.เปิดเผยว่า นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยอมรับว่า คาดไม่ถึงว่าพนักงานของธนาคารจะเร่งจ่ายเงินให้ชาวนาได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ธ.ก.ส.คำนึงถึงความเดือดร้อนของชาวนา จึงเร่งทำงานทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ทำให้ต้องรีบนำเงินล็อตที่ 2 ซึ่งจะต้องมาจากการกู้เงินของกระทรวงการคลังมาจ่ายให้ชาวนา โดยเบื้องต้น ธ.ก.ส.ได้เรียกลูกค้ามาทำสัญญาหมดแล้ว รอเพียงการกดเงินเข้าบัญชีเท่านั้น
         อย่างไรก็ดี ยอดการรับจำนำข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 มีชาวนาเข้าร่วมโครงการ 1.67 ล้านราย คิดเป็นจำนวนข้าวเปลือก 11.64 ล้านตัน และคิดเป็นวงเงิน 1.92 แสนล้านบาท โดย ธ.ก.ส.ได้เร่งทยอยจ่ายเงินให้ชาวนาในช่วงก่อนหน้าคำสั่งของ คสช.ไปแล้ว 8.33 แสนราย คิดเป็นปริมาณ 6.29 ล้านตัน และคิดเป็นวงเงิน 1.03 แสนล้านบาท
    ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้ากรณีการดำเนินคดีอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต และไม่ยับยั้งความเสียหายในโครงการจำนำข้าว ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงกรณีคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ตรวจสอบผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 2 ปีกว่า พบว่าขาดทุนสูงขึ้นกว่าเท่าตัว หรือ 5 แสนล้านบาท และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ โดยให้ไต่สวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกรณี 4 รายนั้น
        ได้มีการกำหนดเวลาการเข้าให้ข้อมูลจำนำข้าวที่สำนักงาน ป.ป.ช. จ.นนทบุรี ของพยาน 4 ราย ดังนี้ นายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายใน วันที่ 3 มิ.ย. เวลา 13.30 น., นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้ตรวจกระทรวงการคลัง วันที่ 4 มิ.ย. เวลา 13.30 น., นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง วันที่  5 มิ.ย. เวลา 09.30 น. และผู้จัดการธนาคาร ธ.ก.ส./ผู้แทน วันที่ 6 มิ.ย. เวลา 09.30 น.
    ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวตรวจสอบพบข้าวสารหาย 3 ล้านตันว่า ล่าสุด นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ออกมาปฏิเสธว่าข้าวสารไม่ได้หาย ซึ่งจะเชื่อถือข้อมูลของ อคส.ได้แค่ไหน เพราะ อคส.คือหน่วยงานหลักในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ต้องทำหน้าที่เป็นคอหอยกับลูกกระเดือกให้ฝ่ายการเมือง ดังนั้นก่อนที่นายชนุตร์ปกรณ์จะออกมาพูดเรื่องข้าว 3 ล้านตัน ควรชี้แจงก่อนว่าทำไมช่วงที่รักษาการในตำแหน่ง ผอ.อคส.จึงไม่ลงนามในสัญญาโครงการทำข้าวถุง 1.8 ล้านตัน แต่ข้าวกลับถูกเบิกออกไป โดยผลประโยชน์ไปตกอยู่ที่ฝ่ายการเมืองและผู้ใกล้ชิดทั้งสิ้น
    นพ.วรงค์กล่าวว่า ทางที่ดีเพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใสในการติดตามหาข้าวสารที่หายไป 3 ล้านตัน ผู้มีอำนาจควรสั่งยุติการกระทำใดๆ เกี่ยวกับข้าวสาร โดย อคส. องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) และข้าราชการจากกระทรวงพาณิชย์ ควรแต่งตั้งกรรมการผู้เชี่ยวชาญจากบุคคลภายนอก รวมทั้งสื่อมวลชนเข้ามาตรวจสอบโกดังข้าว ที่สำคัญนอกจากตรวจสอบในเชิงปริมาณแล้ว ควรสุ่มตรวจสอบเชิงคุณภาพด้วย
    พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าคดีที่เกี่ยวข้องกับโครงการจำนำข้าวว่า คดีที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่จะเป็นคดียักยอกทรัพย์ หรือประเภทสวมสิทธิ์ รวมทั้งสิ้น 250 คดีทั่วประเทศ ซึ่งเรื่องทุจริตจะเป็นในระดับผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่อยู่ในจุดรับจำนำร่วมกันกับโรงสีข้าวในการฉ้อโกง โดยตรวจสอบแล้วพบมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างเข้าไปเกี่ยวข้อง 3 คดี ส่วนอีก 7 คดีที่เหลือยังอยู่ในช่วงดำเนินการ
    ที่ ธ.ก.ส. สาขาอาลัมภางค์ ถ.ลำปาง-แม่ทะ ต.พระบาท อ.เมืองฯ จ.ลำปาง นายชวน ชัยเลิศ อายุ 49 ปี ลูกค้า ธ.ก.ส.ซึ่งถูกเจ้าหนี้ตามทวงหนี้เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้เข้ารับมอบสมุดธนาคารเล่มใหม่ ซึ่งธนาคารโอนเงินค่าจำนำข้าวเข้าบัญชีจำนวน 186,875.50 บาท และนายชวนได้ถอนเงินออกมาจำนวน 120,000 บาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
    ส่วนกรณีที่เจ้าหนี้หรือนางแสงหล้า ไชยจุก อายุ 42 ปี ได้ยึดรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า ฟีโน่ ทะเบียน 1 กก 5821 ลำปาง ราคากว่า 40,000 บาท ไปด้วย โดยที่นายชวนไม่ยินยอมและได้ไปร้องทุกข์ต่อ สภ.เมืองลำปาง ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้ทั้งสองฝ่ายมาตกลงไกล่เกลี่ยกัน ในเวลา 10.00 น. วันที่ 30 พ.ค.ปรากฏว่านางแสงหล้าไม่ได้เดินทางมาตามนัดหมาย แต่ได้นำรถจักรยานยนต์มาคืนไว้ที่ สภ.เมืองลำปางแทน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายทหารได้นำนายชวนไปสอบปากคำที่มณฑลทหารบกที่ 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี และติดต่อนางแสงหล้ามาพบ
    จากนั้น พ.อ.ชัยณรงค์ แกล้วกล้า รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบก 32 (รอง ผบ.มทบ.32) ชี้แจงถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า นายชวนกับนางแสงหล้ารู้จักกันเป็นอย่างดี เคยทำธุรกิจรับซื้อข้าวจากชาวบ้านด้วยกัน แต่นายชวนมีปัญหาหนี้สินส่วนตัว จึงไปขอกู้เงินจากนางแสงหล้า และได้ยกรถไถนามูลค่า 8 หมื่นบาทใช้คืนไปบางส่วน แต่ยังเหลือหนี้ค้างอยู่ 4.7 หมื่นบาท และวันที่เกิดเหตุ (28 พ.ค.) ที่มีการจ่ายเงินตามใบประทวนรับจำนำข้าว นายชวนและนางแสงหล้ามานั่งทานข้าวด้วยกันที่หน้า ธ.ก.ส.เพื่อรอเบิกเงินใช้หนี้ แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะเบิกได้ในวันถัดไป นายชวนจึงยอมให้นางแสงหล้ายกรถจักรยานยนต์ไป
    นอกจากนี้ นายชวนยังได้กู้เงินนายธีระพงษ์ ก๋องวงศ์ ญาติของนางแสงหล้าอีก 130,000 บาท ตำรวจจึงเรียกมาเจรจา ในที่สุดนายชวนยอมจ่ายหนี้คืน 105,000 บาท ส่วนนางแสงหล้ายอมรับชำระหนี้จากนายชวน 80,000 บาทด้วยรถไถนา และยอมคืนรถจักรยานยนต์ให้นายชวน แต่ขอร้องสื่อช่วยแก้ข่าวให้ตนเองด้วย เนื่องจากไม่ไช่แก๊งเงินกู้ และให้ยืมในฐานะคนรู้จัก ไม่ได้คิดดอกเบี้ย
    รอง ผบ.มทบ. 32 ยืนยันว่า ไม่มีเหตุการณ์เจ้าหนี้ตามทวงเงินลูกหนี้ที่เป็นชาวนาตัวจริงและเป็นหนี้นอกระบบตามคำสั่งของ คสช.แต่อย่างใด.