จี้ผนึกผู้ผลิตยางอาเซียนรวมยอดผลิต70%สร้างฐานต่อรองตลาดโลก ยุพิน พงษ์ทอง
เอกชน ระบุสัดส่วนการปลูกยาง ของไทยลดเหลือ 24 % ขณะที่ผลผลิตยางในโลกจะเพิ่มเป็น 17 % เหตุ CLMV ผลิตมากขึ้นการแข่งขันจะรุนแรง ไทยต้องเร่งปรับทั้งระบบ ใช้เทคโนโลยีช่วยผลผลิตต่อไร่ แนะผู้ผลิตยางอาเซียนรวมตัวสร้างอำนาจต่อรองตลาดโลก หลังยอดผลิต รวมกันพุ่ง 70 % ของตลาดโลก "อัทธ์" ฟันธงราคายางในอนาคตร่วงหลังหลายประเทศแห่ปลูกเพิ่มกว่า 18 ล้านไร่
นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า องค์กรอนามัยโลก ประมาณการว่าอีก 40 ปี ข้างหน้าโลกจะมีประชากรเกินกว่า 9,000 ล้านคน สินค้าจำเป็นต้องบริโภคก็จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งรถยนต์ เส้นด้ายยางยืด ถุงมือยางและถุงยางอนามัย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของยางพาราที่มีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นเช่นกัน
อุตฯยางรถยนต์เพิ่ม 6%ต่อปี
ในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกมีรถ ที่วิ่งอยู่ประมาณ 1,096 ล้านคัน หรือ 94% แต่ละปีจะมีรถใหม่เข้ามาเพิ่มอีกเฉลี่ยประมาณ 75 ล้านคันต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 6% สถานการณ์การผลิตล่าสุด ปี 2013 มีการผลิต รวมอยู่ที่ 85.5 ล้านคัน เพิ่ม 1.6% จีนมี ยอดผลิต 20.8 ล้านคันเพิ่มขึ้น 8% รองลงมา คือสหรัฐฯอยู่ที่ 10.85 ล้านคันเพิ่มขึ้น 5% และญี่ปุ่น ผลิต 8.97 ล้านคัน ลดลง10% โดยโครงสร้างตลาดรถยนต์โลก ตลาดจำหน่ายยางสำหรับรถยนต์ใหม่มีประมาณ 6% ในขณะที่ตลาดจำหน่ายยางทดแทนมีถึง 94% ทั้งหมดนี้จะใช้ยางแท่งและยางแผน รมควันเป็นวัตถุดิบ
ในขณะที่น้ำยางข้น จะใช้ถูกใช้ในผลิตภัณฑ์เช่น ถุงมือ เส้นด้ายยางยืด โฟมที่นอน กาวและสารยึดแน่น พรมบุหรือรองของ ถุงยางอนามัยเป็นต้น โดยในส่วนของถุงมือ นั้นปริมาณความต้องการของโลกมีประมาณ 7.5 แสนตัน/ปี ส่วนใหญ่ใช้ในทางการแพทย์ 7.4 แสนตัน หรือประมาณ 150 พันล้านคู่ จากทั้งหมดประมาณ 155 พันล้านคู่ ประเทศผู้ส่งออก มีมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย ประเทศผู้นำเข้ามากที่สุด คือ สหรัฐ สหภาพ ยุโรปหรืออียู ญี่ปุ่น และไต้หวัน
ไทยยังนำเบอร์1ส่งออกยางโลก
ทั้งนี้การส่งออกยางพารารายใหญ่ยังเป็นไทยรองลงมาคือ อินโดนีเซียและมาเลเซีย แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่า เวียดนามและกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่ม CLMV มีแนวโน้มการ ส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่อยู่ในระดับสูง เวียดนามเพิ่มขึ้น 9.4% กัมพูชา 38.6% ซึ่งคาดว่าผลผลิตยางในกลุ่ม CLMV จะเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านตันในปี 2555 เป็น 2.8 ล้านตันในปี 2565 ทำให้มีสัดส่วนของผลผลิตยางพาราโลกเพิ่มจาก 9% เป็น 17% ส่วนไทย จะลดลงจาก 31% เป็น 24% ในปี 2565
ในขณะที่ไทย ปี 2556 มูลค่าการส่งออกในปี 56 รวมทั้งหมดอยู่ที่ 512,969 ล้านบาท ลดลง 4.7%โดยผลิตภัณฑ์ยางมีมูลค่าการ ส่งออก 263,680.9 ล้านบาท ลดลง 1.8 % และยางพารา 249.287.7 ลดลง 7.7 % ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมยางของไทยยังมีปัญหา ทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่พื้นที่ปลูก ขาดการจัดการพื้นที่หรือโซนนิ่ง อย่างมีประสิทธิภาพ โครงสร้างการปลูกยางส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ทำให้มีต้นทุนสูงในการรวบรวมวัตถุดิบ
ด้านการตลาดยังต้องพึ่งพาการส่งออก และราคาถูกกำหนดโดยผู้ซื้อน้อยราย ทำให้เสี่ยงทางด้านราคา และเสียโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ขาดตลาดซื้อขายที่เป็นที่ยอมรับ ในระดับสากล ราคายางจึงไม่มีเสถียรภาพ การขาดแคลนแรงงานยังเป็นปัญหาที่สำคัญ ทั้งในแง่ของทักษะความชำนาญและจำนวนแรงงาน ซึ่งมีค่าจ้างสูง เกษตรกรยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าและผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความใจ ในการเข้าสู่ตลาดAECและระบบพื้นฐาน โลจิสติกส์ในประเทศยังต้องปรับปรุง
แนะผนึกผู้ผลิตยางอาเซียน
ทั้งหมดนี้จะรัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขเพราะการรวมตัวกันของประเทศผู้ผลิต รายใหญ่ของโลก ที่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศ AEC ที่มีผลผลิตยางมากกว่า 70 % ในโลก สร้างอำนาจการต่อรองในตลาดโลกได้ หากไทยสามารถเป็นประเทศที่นำด้านยางพารา จะได้โอกาสมากจากเรื่องนี้ ซึ่งปัจจุบัน ประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซียได้ปรับแผนลดพื้นที่ในการผลิตยางลง หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพื่อสร้างเป็นฐานการผลิต Dipping Product ของโลกแล้ว
โดยแนวทางการส่งเสริมและเตรียม ความพร้อม จัดทัพอุตสาหกรรมยางไทย สู้ตลาด AEC นี้ไทยต้องเพิ่มผลผลิตไร่ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เหมาะสมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ยางพารา เพิ่มสัดส่วนการใช้ยางในประเทศให้สูงขึ้น ปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด จัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนายางพาราที่มีการบูรณาการความร่วมมือ ของทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน พัฒนาตลาดกลางเพื่อซื้อ-ขาย วัตถุดิบยาง พัฒนาตลาดกลางเพื่อซื้อ-ขาย ยางแปรรูป STR 20 (ETF) พัฒนาตลาด AFETจัดตั้ง การยางแห่งประเทศไทยเพื่อลดความซ้ำซ้อน และเกิดความต่อเนื่องของนโยบาย รวมอุตสาหกรรมยาง ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เป็นหน่วยงานเดียวกัน
ชี้CLMV แห่ปลูกผลผลิตทะลัก
นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการวิเคราะห์อนาคตยางพาราไทยภายใต้ AEC และทิศทางราคายางพารา พบว่า ในขณะนี้ประเทศใน AEC พม่า ลาว กัมพูชารวมไปถึงจีน มีการขยายพื้นที่ปลูกยางรวมกันแล้วมากถึง 18 ล้านไร่ ใกล้เคียงกับประเทศไทยที่มีพื้นที่ปลูกรวม 19 ล้านไร่ โดยส่งเสริมมาตราการด้านภาษี พื้นที่ที่มีการจัดเก็บค่าเช่าต่ำมาก 10-20 บาทต่อไร่ สัมปทาน 30 ปีเท่ากับอายุของต้นยาง จูงใจให้นักลงทุนมากที่สุด และคาดว่าจะมีการเร่งให้ผลผลิตออกสู่ตลาดได้ใน 2 ปี ข้างหน้า จากพื้นที่การปลูกที่มีการขยายตัวมากเป็นเท่าตัวดังกล่าว ส่งผลให้แนวโน้มราคายางไม่มีทางปรับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะตลาดจีนผู้ซื้อรายใหญ่ของไทย มีการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ ที่คาดว่าเศรษฐกิจในภาพรวมจะขยายตัวไม่มากนัก
แนะปรับยุทธศาสตร์ยางด่วน
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษา พบว่า แม้ราคายางจะมีทิศทางที่ปรับตัวลดลง แต่ความต้องการยางในอนาคตยังมีอยู่มาก โดยมีการขยายตัวมากขึ้น 2.13 % ดังนั้น เพื่อให้ไทยยังสามารถเป็นอันดับหนึ่ง ของโลกในการผลิตยาง อุตสาหกรรมยาง ทั้งระบบของไทยจะต้องมีการปรับตัว รัฐบาลจะต้องสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรม กลางน้ำและปลายน้ำมากขึ้น มีการรวมกลุ่มสหกรณ์เพื่อสร้างโรงงานแปรรูป 1 อำเภอ 1 สร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งออกผลิตภัณฑ์ แทนยาง ขั้นพื้นฐาน
"ทั้งหมดนี้จะดึงดูนักลงทุนที่มอง เออีซีอยู่เห็นว่าไทยเป็นเขตที่น่าลงทุนเรื่อง ยางมากที่สุด จากปัจจุบันที่นักลงทุนทั้งจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้หันไป พม่ากัมพูชาและลาวกันมาก ไทยต้องชิงให้เกิดอุตสาหกรรม ปลายน้ำในประเทศก่อน เป็นการสร้างศูนย์กลาง การผลิต และให้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นแหล่งวัตถุดิบ" นายอัทธ์กล่าว
Souce: กรุงเทพธุรกิจ