ผู้เขียน หัวข้อ: ตลาดเงินนิวยอร์ค:ดอลล์ดิ่งลงขณะตลาดคาดเฟดอาจลดดบ. 0.5% ในก.ย.  (อ่าน 1015 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 85111
    • ดูรายละเอียด

ตลาดเงินนิวยอร์ค:ดอลล์ดิ่งลงขณะตลาดคาดเฟดอาจลดดบ. 0.5% ในก.ย.

6 ส.ค. 202407:44 GMT+7

นิวยอร์ค--6 ส.ค.--รอยเตอร์

เยนพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 7 เดือนในระหว่างช่วงการซื้อขายวันจันทร์ และส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุล ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวที่ออกมาในสัปดาห์ที่แล้วทำให้นักลงทุนกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะตกต่ำลง และกระตุ้นให้นักลงทุนคาดการณ์ในวันจันทร์ว่า มีโอกาสสูงเกือบถึง 100% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. โดยปรับขึ้นจากโอกาสเพียง 22% ที่เคยคาดไว้ในวันพฤหัสบดีที่แล้ว ทั้งนี้ ตัวเลขการจ้างงานที่อ่อนแอเกินคาดในสหรัฐ, ผลประกอบการที่น่าผิดหวังของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และความกังวลเรื่องเศรษฐกิจจีน คือสามปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้นักลงทุนเทขายหุ้นทั่วโลก, น้ำมัน และสกุลเงินที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่นักลงทุนเข้าถือครองเงินสดในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ แรงเทขายนี้ก็ดำเนินต่อไปในวันจันทร์ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดิ่งลงต่อไป, ตลาดหุ้นร่วงลง และสกุลเงินคริปโตดิ่งลง โดยบิทคอยน์ดิ่งลง 15.11% สู่ 53,094 ดอลลาร์ และอีเธอร์รูดลง 21.25% สู่ 2,374.70 ดอลลาร์ในวันจันทร์

ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 102.87 ในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ โดยร่วงลงจาก 103.23 ในช่วงท้ายตลาดวันศุกร์ หลังจากดิ่งลงแตะ 102.15 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.

ดอลลาร์/เยนอยู่ที่ 144.17 เยนในช่วงท้ายตลาดวันจันทร์ โดยดิ่งลงจากระดับปิดตลาดวันศุกร์ที่ 146.54 เยน หลังจากรูดลงแตะ 141.70 เยนในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.

ยูโร/ดอลลาร์อยู่ที่ 1.0952 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันจันทร์ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 1.0908 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันศุกร์ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 1.1009 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดิ่งลงอย่างรุนแรงนับตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยดิ่งลงจาก 4.200% ในวันศุกร์ที่ 26 ก.ค. สู่ 3.783% ในช่วงท้ายวันจันทร์ที่ 5 ส.ค. ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25%-5.50% ตามเดิมในการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค. แต่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดเปิดโอกาสสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. ทั้งนี้ นักลงทุนปรับเพิ่มการคาดการณ์เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันศุกร์ว่า อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นจาก 4.1% ในเดือนมิ.ย. สู่ 4.3% ในเดือนก.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2021 หรือจุดสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี และอยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 4.1% โดยเฮเลน กิฟเวน เทรดเดอร์สกุลเงินของบริษัทโมเน็กซ์ ยูเอสเอกล่าวว่า "ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่รัฐบาลสหรัฐรายงานออกมาในวันศุกร์ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบโลก และทำให้นักลงทุนมีความกังวลเป็นอย่างมากว่า สหรัฐอาจจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้อีกต่อไป"

เยนพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่เทรดเดอร์ระบายการทำ carry trades ออกมา โดย carry trades คือการที่นักลงทุนกู้ยืมสกุลเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ อย่างเช่นเยนและฟรังก์สวิส เพื่อนำไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า ทั้งนี้ ฟรังก์สวิสพุ่งขึ้น 0.83% สู่ 0.85 ฟรังก์สวิสต่อดอลลาร์ในวันจันทร์ และเคลื่อนตัวอยู่ใกล้จุดสูงสุดรอบ 7 เดือน

ปอนด์อ่อนค่าลงจาก 1.2805 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันศุกร์ สู่ 1.2778 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันจันทร์ ในขณะที่นักลงทุนเทขายสกุลเงินที่มีความเสี่ยงสูง ทางด้านดอลลาร์สหรัฐ/เปโซเม็กซิโกพุ่งขึ้นเป็นวันที่สามติดต่อกันในวันจันทร์ โดยดอลลาร์พุ่งขึ้น 1.64% สู่ 19.48 เปโซเม็กซิโกในวันจันทร์ เนื่องจากนักลงทุนหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)