ผู้เขียน หัวข้อ: *เรือบรรทุกสินค้า 'เอ็มวี กลอรี' เกยตื้นในคลองสุเอซ หวั่นกระทบการค้าโลก  (อ่าน 191 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 85104
    • ดูรายละเอียด

*เรือบรรทุกสินค้า 'เอ็มวี กลอรี' เกยตื้นในคลองสุเอซ หวั่นกระทบการค้าโลก
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (9 ม.ค. 2566)--เลธ เอเจนซีส์ (Leth Agencies) ซึ่งบริษัทให้บริการด้านการเดินเรือระบุว่า เรือบรรทุกสินค้า  เอ็มวี กลอรี  (MV Glory) เกิดปัญหาเกยตื้นในคลองสุเอซของอียิปต์ในวันนี้ (9 ม.ค.) แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการจราจรในคลองแห่งดังกล่าวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่
          ทั้งนี้ เลธเปิดเผยว่า เรือเอ็มวี กลอรีเกยตื้นใกล้เมืองคานทาราห์ จังหวัดอิสไมเลีย ของประเทศอียิปต์ โดยเรือโยงกำลังพยายามลากเรือกลอรีให้กลับมาลอยลำอีกครั้ง
          ขณะที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เรือเอ็มวี กลอรีเกยตื้น แต่หลายพื้นที่ของอียิปต์ ซึ่งรวมถึงจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ ประสบกับสภาพอากาศเลวร้ายในวันอาทิตย์ที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา
          ข้อมูลติดตามดาวเทียมที่สำนักข่าวเอพีแสดงให้เห็นว่า เรือเอ็มวี กลอรีขวางอยู่ในคลองเลนเดียวของคลองสุเอซใกล้กับท่าเรือซาอิดบนทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
          อย่างไรก็ตาม โฆษกของสำนักงานบริหารคลองสุเอซ (Canal Authority) ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว พร้อมระบุว่าจะออกแถลงการณ์ในภายหลัง
          พนักงานรายหนึ่งของสำนักงานบริหารคลองสุเอซกล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า เรือลำอื่น ๆ ยังสามารถแล่นผ่านเรือกลอรีได้ในเวลา 7.30 น.ของวันนี้ ตามเวลาลอนดอน
          ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์ประสานงานร่วม (Joint Coordination Center) ระบุว่า เรือเอ็มวี กลอรีอยู่ระหว่างการขนส่งข้าวโพด 65,000 ตันจากยูเครนไปยังจีน
          คลองสุเอซเป็นหนึ่งในน่านน้ำสัญที่สุดของโลก โดยคลองที่มีเส้นทางระยะ 120 ไมล์แห่งนี้รองรับการสัญจรของเรือบรรทุกสินค้าทั่วโลก 30% และคิดเป็นสัดส่วน 12% ของมูลค่าการค้าโลกที่ประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี
          ในเดือนมี.ค. 2564 เรือเอเวอร์ กิฟเว่น (Ever Given) น้ำหนัก 220,000 ตันของบริษัทเอเวอร์กรีนก็ประสบเหตุเกยตื้นขวางคลองสุเอซนานถึง 6 วัน ซึ่งถือเป็นการปิดคลองยาวนานที่สุดจากปัญหาที่มีสาเหตุมาจากเรือลำหนึ่งขวางคลอง ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการค้ามูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านดอลลาร์
โดย รดา สิริสายพิรุณ/รัตนา พงศ์ทวิช