ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 700 จุด ข้อมูลศก.หนุนเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (7 ม.ค. 2566)--ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นมากกว่า 2% ในวันศุกร์ (6 ม.ค.) ขานรับรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตร รวมทั้งดัชนีภาคบริการของสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,630.61 จุด เพิ่มขึ้น 700.53 จุด หรือ +2.13%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,895.08 จุด เพิ่มขึ้น 86.98 จุด หรือ +2.28% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,569.29 จุด เพิ่มขึ้น 264.05 จุด หรือ +2.56%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์บวก 1.46%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.45% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 0.98%
สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสูงกว่าคาดในวันศุกร์ แต่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับเงินเฟ้อนั้น ออกมาต่ำกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และจะเป็นปัจจัยให้เฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ขณะเดียวกัน สถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้ช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐ
นอกจากนี้ ISM เปิดเผยว่า ดัชนีราคาในภาคบริการร่วงลงสู่ระดับ 67.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2564 ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7% ส่วนค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน โดยชะลอตัวจากระดับ 0.6% ในเดือนพ.ย. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.4% และเมื่อเทียบรายปี ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนธ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.0%
ส่วน ISM เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 49.6 ในเดือนธ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 55.0 จากระดับ 56.5 ในเดือนพ.ย. โดยดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงการหดตัวของภาคบริการ โดยเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563 ส่วนดัชนีราคาในภาคบริการร่วงลงสู่ระดับ 67.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2564 และบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ
ดัชนีภาคบริการของ ISM ประกอบด้วยอุตสาหกรรม 17 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การก่อสร้าง และเหมืองแร่
หุ้นทุกกลุ่มในดัชนี S&P500 ปิดบวก โดยกลุ่มวัสดุนำตลาดพุ่งขึ้น 3.44% รองลงมาได้แก่กลุ่มเทคโนโลยีที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ปรับตัวขึ้น 2.99%, หุ้นกลุ่มพลังงาน เพิ่มขึ้น 1.68% และกลุ่มเฮลท์แคร์ บวก 0.89%
หุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคได้รับแรงหนุนจากหุ้นคอสต์โก โฮลเซล คอร์ป ซึ่งพุ่งขึ้น 7% หลังจากคอสต์โกรายงานการเติบโตของยอดขายที่แข็งแกร่งในเดือนธ.ค.
หุ้นไบโอเจนปิดพุ่งขึ้น 2.8% หลังสำนักงานอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอนุมัติยาเลแคเนแมป (lecanemab) ซึ่งเป็นยารักษาโรคอัลไซเมอร์ที่พัฒนาโดยไบโอเจนร่วมกับบริษัทเอไซ (Eisai) ซึ่งราคาหุ้นปิดพุ่งขึ้น 4%
หุ้นไฟเซอร์ พุ่งขึ้น 2.5% หลังมีรายงานว่าไฟเซอร์เจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อขอใบอนุญาตให้บริษัทยาในจีนผลิตและจำหน่ายยาแพกซ์โลวิดซึ่งเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19
ส่วนหุ้นเบด บาธ แอนด์ บียอนด์ ร่วง 22% สวนทางตลาด หลังสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทขายปลีกสินค้าในครัวเรือนแห่งนี้เตรียมที่จะยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
ในสัปดาห์หน้า นักลงทุนจะจับตาการเริ่มเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 4/2565 ของธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐในวันศุกร์ ซึ่งรวมถึงเจพีมอร์แกนและแบงก์ ออฟ อเมริกา
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช
ภาวะตลาดน้ำมัน: น้ำมัน WTI ปิดบวก 10 เซนต์ แต่ลดลงรายสัปดาห์จากวิตกศก.ถดถอย
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (7 ม.ค. 2566)--สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (6 ม.ค.) แต่ปิดลบในสัปดาห์แรกของการซื้อขายในปีนี้ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและความต้องการใช้น้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 10 เซนต์ หรือ 0.14% ปิดที่ 73.77 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลง 8.1% ในรอบสัปดาห์นี้
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 12 เซนต์ หรือ 0.15% ปิดที่ 78.57 ดอลลาร์/บาร์เรล และลดลง 8.5% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ได้แรงหนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงในวันศุกร์ โดยการอ่อนค่าของดอลลาร์จะเพิ่มความน่าดึงดูดของสัญญา โดยทำให้สัญญาน้ำมันมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ๆ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 1.11% แตะที่ 103.8790 ในวันศุกร์
อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและอุปสงค์น้ำมัน
นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้น โดยเศรษฐกิจโลกราว 1 ใน 3 จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
ปี 2566 จะเป็นปีที่ยากลำบากมากกว่าปี 2565 เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐ สหภาพยุโรป และจีนชะลอตัวลงพร้อมกัน โดยในปี 2564 เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่าเศรษฐกิจโลก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ส่วนในปี 2566 เราคาดว่ายอดการติดเชื้อโควิด-19 ในจีนจะพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน และฉุดรั้งเศรษฐกิจทั้งในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก นางจอร์เจียวาให้สัมภาษณ์ในรายการ Face the Nation ทางสถานีโทรทัศน์ CBS เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ บรรดานักลงทุนยังคงวิตกว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีน จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน ขณะที่ราคาน้ำมันยังถูกกดดันหลังจากจีนประกาศเพิ่มโควตาส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันในปีนี้ ซึ่งตลาดมองว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้อุปสงค์ที่อ่อนแอภายในประเทศจีน
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช
ภาวะตลาดทองคำนิวยอร์ก: ทองปิดบวก $29.1 ขานรับข้อมูลศก.-ดอลล์อ่อน
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (7 ม.ค. 2566)--สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (6 ม.ค.) แตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน โดยได้แรงหนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง หลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐได้ตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 29.1 ดอลลาร์ หรือ 1.58% ปิดที่ 1,869.7 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้น 2.4% ในรอบสัปดาห์นี้ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 2 ธ.ค.
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 55.8 เซนต์ หรือ 2.38% ปิดที่ 23.982 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 34.7 ดอลลาร์ หรือ 3.24% ปิดที่ 1,104.3 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 74 ดอลลาร์ หรือ 4.3% ปิดที่ 1,806.70 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. โดยได้แรงหนุนจากดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 1.11% แตะที่ 103.8790 ในวันศุกร์
สัญญาทองคำปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันแล้ว โดยได้แรงหนุนจากข้อมูลการจ้างงานเดือนธ.ค.ของสหรัฐที่บ่งชี้ว่าการจ้างงานใหม่ในสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 2 ปี ซึ่งตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย
สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสูงกว่าคาดในวันศุกร์ แต่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับเงินเฟ้อนั้น ออกมาต่ำกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และจะเป็นปัจจัยให้เฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ขณะเดียวกัน สถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้ช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐ
นอกจากนี้ ISM เปิดเผยว่า ดัชนีราคาในภาคบริการร่วงลงสู่ระดับ 67.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2564 ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7% ส่วนค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน โดยชะลอตัวจากระดับ 0.6% ในเดือนพ.ย. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.4% และเมื่อเทียบรายปี ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนธ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.0%
ส่วน ISM เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 49.6 ในเดือนธ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 55.0 จากระดับ 56.5 ในเดือนพ.ย. โดยดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงการหดตัวของภาคบริการ โดยเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563 ส่วนดัชนีราคาในภาคบริการร่วงลงสู่ระดับ 67.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2564 และบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ
โดย กัลยาณี ชีวะพานิช