ผู้เขียน หัวข้อ: แกะรอย 'January Effect' ปีฉลู ฝ่าด่านหินโควิดปะทุรอบสอง  (อ่าน 785 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84886
    • ดูรายละเอียด

แกะรอย 'January Effect' ปีฉลู ฝ่าด่านหินโควิดปะทุรอบสอง
          สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 2563)-- Weekly Highlight  สัปดาห์นี้ (21-25 ธ.ค.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 21 ธันวาคม 2563
           เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (14-18 ธ.ค.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,482.38 จุด เคลื่อนไหวใกล้เคียงจากสัปดาห์ก่อน หรือ ลดลง 0.02% เท่านั้น
          แม้ว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา ภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น จากแรงสนับสนุนของเม็ดเงินกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติ ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ภายในประเทศได้เป็นอย่างดี
          แต่จากกรณีล่าสุดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศ วันเดียวสูงถึง 535 รายในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ส่งผลให้มีคำสั่งล็อกดาวน์ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมประกาศให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษทันที
          และจากการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์หลายสำนัก เริ่มแสดงความกังวลถึงโอกาสที่จะเกิดภาวะ Panic Sell หรือแรงขายจากความตื่นตระหนกของผู้ลงทุนในระยะสั้น เพื่อต้องการลดความเสี่ยงหากการแพร่ระบาดลุกลาม จนนำไปสู่การประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศ กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทยให้กลับไปทรุดตัวได้อีกครั้ง
          อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันนักวิเคราะห์บางค่าย ก็เริ่มมองเป็นโอกาสเข้าสะสมหุ้นรอบใหม่เช่นกัน เพราะมองว่าการแพร่ระบาดยังจำกัดแค่ในบางพื้นที่ ประกอบกับเชื่อว่ารัฐบาลสามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ดี ไม่ได้ลุกลามกลายเป็นวิกฤติเหมือนกับในรอบแรก
          ส่วนปัจจัยอื่นที่นักวิเคราะห์ให้สำคัญ คือภาวะการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลตัวเลขส่งออกและนำเข้าของไทยในเดือน พ.ย. และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ ที่นอกจากจะต้องจับตาผลการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว อาจต้องติดตามท่าทีการใช้นโยบายการเงินหลังจากนี้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในระลอกใหม่และบทบาทดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยด้วย
          นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวเบื้องต้นของ SET INDEX รอบสัปดาห์นี้อยู่ที่ 1,450-1,500 จุด แม้ว่าในระยะสั้นต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศเป็นหลัก แต่หากสถานการณ์ไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด ก็อาจมีลุ้นกับปัจจัยบวกจากความคาดหวังของกระแสการไหลเข้าของเม็ดเงินกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่มักจะทำ  Window Dressing ช่วงสิ้นสุดไตรมาส โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ตัวเลขทางบัญชีแสดงผลกำไรจากการถือหุ้นของแต่ละกองทุนในรอบไตรมาสนั้น รวมถึงเม็ดเงินจากกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติที่มีโอกาสกลับมาซื้อหุ้นไทยเพิ่มเติมในช่วงเดือนมกราคม ทำให้มีโอกาสเกิดปรากฎการณ์  January Effect  ที่ตามสถิติตลาดหุ้นมักที่จะวิ่งเป็นขาขึ้นได้ในช่วงเดือนมกราคมของทุกๆปี
          สำหรับสัปดาห์นี้ (21-25 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 29.60-30.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. (23 ธ.ค.) และท่าทีต่อสถานการณ์ค่าเงินบาท ทิศทางกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ข้อมูลการส่งออกเดือนพ.ย.ของไทย รวมไปถึงบทสรุปของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค. ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก Core PCE Price Index ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ย. ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3/63
          https://youtu.be/LQ2Qt0pA4Lk
--อินโฟเควสท์ โดย ชัยรัตน์ พุ่มมาลา/วิลาวัลย์ โทร.02-2535000 อีเมล์: wilawan@infoquest.co.th--