ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปภาวะตลาดหุ้น น้ำมัน ทองคำ และตลาดเงินต่างประเทศ ข่าวหุ้น-การเงิน 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563  (อ่าน 554 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84897
    • ดูรายละเอียด

***ราคาทองดีดตัวนักลงทุนกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลังถูกกระทบจากโควิด

20 พฤษภาคม 2563  ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
ราคาทองฟิวเจอร์ ปิดตลาดวันอังคาร(19พ.ค.)ปรับตัวขึ้นขณะที่นักลงทุนยังคงไม่แน่ใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ท่ามกลางการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สัญญาทองคำตลาดโคเม็กซ์ ส่งมอบเดือนมิ.ย. ดีดตัวขึ้น 11.20 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,745.60 ดอลลาร์/ออนซ์

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกทรุดตัวลง 16.4% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการดิ่งลงหนักที่สุดนับตั้งแต่ที่รัฐบาลเริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลดังกล่าวตั้งแต่ปี 2535 และย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะร่วงลง 12.3% หลังจากลดลง 8.3% ในเดือนมี.ค.

ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีการปิดร้านค้า ขณะที่ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน และลดการใช้จ่าย รวมทั้งลดการเดินทาง

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านดิ่งลง 30.2% ในเดือนเม.ย. สู่ระดับ 891,000 ยูนิต จากระดับ 1.276 ล้านยูนิตในเดือนมี.ค.

ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านดังกล่าวแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2558 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ซึ่งเข้าให้การต่อสภาคองเกรสเกี่ยวกับมาตรการของเฟดและของรัฐบาลในการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นายพาวเวลระบุว่า เฟดจะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อดูแลการทำงานของตลาด และจะอัดฉีดเงินให้แก่ผู้ที่มีความจำเป็น

ส่วนนายมนูชินกล่าวยอมรับว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นสิ่งท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อนต่อชาวอเมริกัน ซึ่งได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อครอบครัว และชุมชนทั่วประเทศ

นายมนูชินกล่าวปกป้องการใช้จ่ายเงินตามกฎหมาย Coronavirus Aid, Relief and Economic Security (CARES) วงเงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรสเพื่อเยียวยาภาคธุรกิจและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ นายมนูชินกล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานธุรกิจขนาดย่อม (SBA) เกี่ยวกับโครงการ Paycheck Protection Program (PPP) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการปล่อยเงินกู้วงเงิน 5.30 แสนล้านดอลลาร์แก่ภาคธุรกิจ จะช่วยรักษาการจ้างงานสำหรับชาวสหรัฐจำนวนหลายสิบล้านคน

นายมนูชิน ยังระบุว่า กระทรวงการคลังสหรัฐได้จ่ายเงินมากกว่า 2.40 แสนล้านดอลลาร์ตามโครงการ Economic Impact Payments ให้กับชาวอเมริกันหลายล้านคน ขณะที่จ่าย 1.50 แสนล้านดอลลาร์จากกองทุน Coronavirus Relief Fund ให้แก่รัฐบาลประจำรัฐ และรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อให้สามารถดำเนินงานที่จำเป็นต่อไป

นายมนูชินเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยังได้อนุมัติงบเกือบ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อรักษาการจ้างงานในอุตสาหกรรมการบินของสหรัฐ

***ราคาน้ำมันพุ่งขานรับผ่อนคลายล็อกดาวน์

20 พฤษภาคม 2563 
สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส ปิดตลาดวันอังคาร(19พ.ค.)พุ่งขึ้นขณะที่ราคาน้ำมันได้แรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และการปรับลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนมิ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดไนเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 68 เซนต์ ปิดที่ 32.50 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนงวดส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 31 เซนต์ ปิดที่ 31.96 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่สัญญาน้ำมันเบรนท์ งวดส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 16 เซนต์ ปิดที่ 34.65 ดอลลาร์/บาร์เรล

การพุ่งขึ้นของสัญญาน้ำมันเวสต์เท็กซิสงวดส่งมอบเดือนมิ.ย.ก่อนครบอายุในวันนี้ ถือเป็นการสวนทางการดิ่งลงของสัญญาน้ำมันงวดส่งมอบเดือนพ.ค.ก่อนครบอายุเพียง 1 วัน โดยได้ทรุดตัวลงติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งขณะนั้น ราคาน้ำมันถูกกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลทั่วโลก รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด


ราคาน้ำมันได้ฟื้นตัวขึ้นนับตั้งแต่นั้นมาก หลังจากที่รัฐบาลต่างๆพากันผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่ซาอุดีอาระเบียประกาศลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนมิ.ย. นอกเหนือจากที่ได้ปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส

ทางด้านสหรัฐอาหรับเอมิเรทส์ และคูเวตระบุเช่นกันว่าจะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมตามซาอุดีอาระเบีย โดยทั้งสองประเทศจะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มอีก 180,000 บาร์เรล/วัน

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันสัญญาสหรัฐยังได้แรงหนุนจากกำลังผลิตที่ลดลงในสหรัฐ และมีสัญญาณว่าจะลดลงไปมากกว่านี้อีกในอนาคต โดยรายงานที่เผยแพร่โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์(18พ.ค) คาดหมายว่ากำลังผลิตน้ำมันชั้นหิน 7 แหล่งหลัก จะลดลง 197,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนมิถุนายน เหลือ 7.822 ล้านบาร์เรลต่อวัน

***ดาวโจนส์ร่วงแรงหลังขุนคลังสหรัฐเตือนศก.เสียหายถาวร

20 พฤษภาคม 2563
ดัชนีดาวโจนส์ร่วง390 จุดขณะที่นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เข้าให้การต่อสภาคองเกรสเกี่ยวกับมาตรการของเฟดและของรัฐบาลในการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์  ปิดตลาดวันอังคาร(19พ.ค.)ลดลง 390.51 จุด หรือ 1.59% ปิดที่ 24,206.86 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 30.97 จุด หรือ 1.05% ปิดที่ 2,922.94 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 49.72 จุด หรือ 0.54% ปิดที่ 9,185.10 จุด

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการธนาคาร การเคหะ และชุมชนเมือง ประจำวุฒิสภาสหรัฐ จัดการประชุมขึ้นในเวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 21.00 น.ตามเวลาไทย โดยจะเป็นการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

คาดว่าทางคณะกรรมาธิการฯจะซักถามนายพาวเวลและนายมนูชินเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 3 ล้านล้านดอลลาร์ รวมทั้งมาตรการอื่นๆที่จำเป็นต้องทำเพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐ

ในร่างแถลงการณ์ของนายพาวเวล ซึ่งจัดเตรียมไว้สำหรับการประชุมในวันนี้ ระบุว่า เฟดจะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อดูแลการทำงานของตลาด และจะอัดฉีดเงินให้แก่ผู้ที่มีความจำเป็น

นอกจากนี้ นายพาวเวลจะกล่าวว่า ร่างกฎหมาย Coronavirus Aid, Relief and Economic Security (CARES) ถือว่ามีความสำคัญต่อความสามารถของเฟดในการขยายสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านดิ่งลง 30.2% ในเดือนเม.ย. สู่ระดับ 891,000 ยูนิต จากระดับ 1.276 ล้านยูนิตในเดือนมี.ค. ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านดังกล่าวแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2558 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านจะลดลงสู่ระดับ 927,000 ยูนิตในเดือนเม.ย.

ด้านนายสตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหัฐให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของวุฒิสภาในวันอังคาร(19พ.ค.) ว่าเศรษฐกิจอเมริกาเสี่ยงที่ต้องประสบกับความเสียหายอย่างถาวร หากว่ามาตรการล็อกดาวน์จำกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 ต้องลากยาวไปมากกว่านี้

มนูชิน บอกว่าครอบครัวอเมริกันและภาคธุรกิจต่างๆกำลังรู้สึกถึงความเจ็บปวดท่ามกลางมาตรการชัตดาวน์ทั่ววประเทศ แต่เขาเน้นย้ำว่าการกลับมาเปิดเศรษฐกิจก็จำเป็นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง