ผู้เขียน หัวข้อ: "กฤษฎา" แจงข้อเท็จจริงราคายางพาราตกต่ำ เหตุไม่วางแผนการผลิต  (อ่าน 789 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 85011
    • ดูรายละเอียด
"กฤษฎา" แจงข้อเท็จจริงราคายางพาราตกต่ำ เหตุไม่วางแผนการผลิต


ที่มา ไทยรัฐ


"กฤษฎา" แจงข้อเท็จจริงราคายางพาราตกต่ำ เหตุไม่วางแผนการผลิต


รมว.เกษตรและสหกรณ์ แจงข้อเท็จจริงราคายางพาราตกต่ำของประเทศไทย? เหตุไม่วางแผนการผลิต? พร้อมเร่งดำเนินการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางในระยะเร่งด่วน


วันที่ 20 พ.ย. นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการสนับสนุนให้ปลูกยางพาราในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนับล้านไร่ มาตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยไม่มีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดนั้น ได้ส่งผลให้ประเทศไทย เป็นทั้งผู้ผลิตยางพาราปริมาณมากที่สุดในโลก รวมทั้งเป็นผู้ส่งออกยางพารามากที่สุดในโลกด้วย แต่ปัจจุบันราคายางพาราในประเทศไทย และในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงเป็นระยะ ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ประสบความเดือดร้อน จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือตามมาตรการต่างๆ เหมือนเช่นในอดีตที่ราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ทำการศึกษาปัญหาภาวะวิกฤติราคายางพารา และแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำจากข้อมูลและข้อเท็จจริงจากพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งรวบรวมข้อมูลจากองค์การศึกษาเรื่องยางระหว่างประเทศ (IRSG) และหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้พบข้อเท็จจริงที่สำคัญ สามารถสรุปได้ดังนี้
1) ประเทศไทยมีพื้นที่กรีดยางมากที่สุดในกลุ่มประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน เวียดนาม และอินเดีย โดยในปี 2560 ประเทศไทยมีพื้นที่กรีดยางได้ จำนวน 20.32 ล้านไร่ ทำให้ประเทศไทยมีผลผลิตยางมากที่สุดในโลก จำนวน 4.5 ล้านตัน เมื่อเทียบกับการผลิตยางธรรมชาติของทั้ง 6 ประเทศรายใหญ่
2) ปัจจุบันราคายางพาราอยู่ในภาวะขาลง โดยราคายางแท่ง ปี 2551 - 2560 หดตัวลงเฉลี่ยร้อยละ 4.12 ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปี 2551 - 2560 หดตัวลงเฉลี่ยร้อยละ 2.86%
3) ต้นทุนการผลิตยางแผ่นดิบของประเทศไทย ปี 2550 ? 2559 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเป็นระยะ โดยไม่มีท่าทีว่าจะลดลงแต่อย่างใด โดยปัจจุบันมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นถึงร้อยละ 6.94
4) ในขณะที่ประเทศไทยมีต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น แต่เกษตรกรขายยางพาราได้ราคาลดลง ต้นทุนการผลิตยางแผ่นดิบของไทย และราคาที่เกษตรกรขายได้ปี 2550 - 2559 ต้นทุนเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 6.94 ราคาเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้เท่ากับติดลบร้อยละ 3.76 ซึ่งในปี 2557 - 2559 ต้นทุนการผลิตยางแผ่นดิบสูงกว่าราคาที่เกษตรกรขายได้
และ 5) สถานการณ์ราคายางพาราเปรียบเทียบกับผลผลิตทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2540 ? ปัจจุบัน จะเห็นว่าปี 2557 - 2561 ปริมาณผลผลิตยางเฉลี่ยในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นระยะ โดยปัจจุบันมีปริมาณผลผลิตยางมากที่สุด จำนวน 4.50 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา ในขณะที่ราคายางพาราในตลาดโลกลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับปริมาณยางพาราที่สูงขึ้นนั้น ในช่วงปี 2557 ? 2561 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็มีราคาลดต่ำลงทำให้มีการใช้ยางสังเคราะห์มากกว่ายางพารา ขณะเดียวกัน ได้เกิดความขัดแย้งทางการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกา จึงทำให้การส่งออกยางพาราจากประเทศไทยไปยังประเทศจีน หรือประเทศลูกค้ารายสำคัญลดลง ส่งผลกระทบต่อราคายางในประเทศไทยลดลงด้วย
นายกฤษฎา กล่าวต่อไปว่า เมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาราคายางพาราในประเทศไทยให้ยั่งยืน และไม่มีผลกระทบต่อระบบการคลังของประเทศก็คือการลดการพึ่งพาการส่งออก เพราะราคายางพาราในต่างประเทศอยู่ในภาวะเวลาลดลงทุกตลาด รวมถึงราคายางพาราซื้อขายในประเทศก็ยังอิงกับราคาซื้อขายยางพาราล่วงหน้า (future trading) ในต่างประเทศด้วย ขณะเดียวกัน ยังต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้นพร้อมกับการปรับสมดุลลดปริมาณ (supply) ยางพาราลงด้วย จึงจะทำให้ราคายางพาราในประเทศมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จึงเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหายางพาราต่อคณะกรรมการยางพารา และคณะกรรมการนโยบายยางพาราธรรมชาติ ในระยะเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางพารา คือ
1) จัดทำโครงการเร่งด่วนพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรชาวสวนยางเป็นรายครอบครัว เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นระหว่างราคายางพาราตกต่ำ
2) การลดปริมาณการผลิตยางพาราโดยส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนต้นยางพาราที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป หรือ อายุ 15 ปี ที่มีต้นโทรมให้น้ำยางน้อยไม่คุ้มค่าเพื่อไปปลูกพืชอื่นๆ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการปลูกพืชอื่นแซมในสวนยาง โดยอาจพิจารณาให้แรงจูงใจกับเกษตรกรมากกว่าปัจจุบัน เพื่อเร่งการตัดสินใจลดปริมาณการผลิตยาง โดยทำควบคู่กับการให้แรงจูงใจกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบ หรือลดภาษีสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มอุปสงค์ไม้ยางพาราให้สอดรับกับอุปทานไม้ยางพาราที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น
3) เชิญชวนและเปิดรับสมัครเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่สนใจเข้าร่วมโครงการฝากน้ำยางไว้กับต้นยาง ช่วงราคาตกต่ำ หรือ หยุดกรีดยาง (tapping holiday) เป็นเวลา 1 - 2 เดือน ซึ่งจะทำให้ยางพาราลดลงจากตลาดไปในทันทีจำนวน 5 แสนตันต่อเดือน เพื่อเป็นการกระตุ้นราคายางพาราในตลาด เพราะการซื้อขายยางนั้นใช้รูปแบบเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่มีการซื้อขายแบบส่งมอบสินค้าและซื้อขายล่วงหน้า มีสัญญาส่งมอบสินค้าเมื่อครบอายุสัญญา ซึ่งวิธีการหยุดกรีดยางนี้ หากสามารถควบคุมการหยุดกรีดได้จริง จะมีผลต่อการเพิ่มราคายางพาราให้สูงขึ้นมาก หากมีเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว และสมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่าร้อยละ 80 ของเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศ จะมอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไปจัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพชาวสวนยางระหว่างโครงการ เพื่อให้มีรายได้มาชดเชยช่วงหยุดกรีดยาง ต่อไป
4) ขอความร่วมมือบริษัท หรือภาคเอกชน ที่มีธุรกิจแปรรูปหรือโรงงานอุตสาหกรรมผลิตล้อยางส่งขายในต่างประเทศและหรือภายในประเทศ เพื่อขอให้เข้าร่วมรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนเปลี่ยนยางล้อรถยนต์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อความปลอดภัยทางถนนในราคาถูก โดยให้ประชาชนได้สิทธิ์ทำใบเสร็จซื้อยางล้อรถยนต์ไปลดภาษีเงินได้บุคคล หรือนิติบุคคลประจำปี ในขณะที่บริษัทเอกชน หรือโรงงานที่เข้าร่วมโครงการผลิตล้อรถยนต์ราคาถูก ก็จะได้สิทธิพิเศษทางภาษีเช่นกัน โดยมีเงื่อนไขและหลักฐานว่าได้ซื้อยางพาราจากกลุ่มเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่มี กยท.รับรองโดยตรงด้วย รวมทั้งให้เชิญชวนบริษัทเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศ ให้เข้ามาลงทุนผลิต หรือรับแปรรูปยางส่งไปขายต่างประเทศ โดยมีสิทธิพิเศษทางการลงทุนตามที่หน่วยงานรัฐและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะได้กำหนดต่อไป และ 5) ส่งเสริมและเร่งรัดการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยส่งเสริมการใช้ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพาราในทุกรูปแบบ โดยเริ่มจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ และขยายไปสู่ตลาด หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกันเผยแพร่ข้อเท็จจริงดังกล่าว ให้ประชาชนได้รับทราบกันทุกช่องทาง และให้เน้นย้ำว่ามาตรการและวิธีการดังกล่าวข้างต้น เป็นการดำเนินการในระยะเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรเท่านั้น