ลุ้น! 6 ตลาดกลางยางพารา ราคาเดียว ล่มหรือไม่ล่ม?วันพรุ่งนี้ดีเดย์ 2 ก.ค. เปิด 6 ตลาดราคาเดียว ผู้บริหารตลาดกลางยาง สุราษฎร์ ลุ้นตัวโก่ง หวั่นตลาดล่ม พ่อค้า?ผู้ส่งออกไม่มาซื้อขาย 'เยี่ยม' ไม่ง้อพ่อค้า ยันมี 6 โรงงานช้อนรับซื้อแทน ออกตัวราคาตั้งเป็นธรรมทุกห่วงโซ่ 'อุทัย' เผย 250 ล้าน อยู่ได้ 2 วัน ตลาดกลางเจ๊ง ซ้ำรอยบัฟเฟอร์ ฟันด์
จากการที่ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะมีการกำหนดราคายางพาราแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาเดียวทั้ง 6 ตลาดกลางนั้น โดยคณะกรรมการราคากลาง ที่จะประกาศราคารับซื้อในเวลา 09.00 น. ของทุกวัน โดยในวันแรกจะเริ่มในวันที่ 2 ก.ค. 2561 นั้น แต่ละภาคส่วนคิดเห็นอย่างไร
นายญาณกิตติ์ ฮารุดีน หัวหน้าสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการที่ทางผู้บริหารจะมีนโยบายใหม่ ทางสำนักงานได้มีการประชาสัมพันธ์และเชิญขวนให้กับผู้ซื้อกว่า 10 ราย ได้รับทราบและให้เข้ามาซื้อขายกันปกติ แต่อีกด้านหนึ่งก็หวั่นตลาดล่ม เพราะไม่ทราบเลยว่า ทางพ่อค้า นายหน้า และผู้ส่งออกจะมาซื้อขายหรือไม่ แล้วถ้าไม่มาซื้อขาย ตลาดก็จะมีแต่ผู้ขายอย่างเดียว ก็เป็นไปไม่ได้ วันนั้นก็ต้องยกเลิกไปโดยปริยาย
ส่วนเงิน 250 ล้านบาทที่ใช้ใน 6 ตลาดนั้น เป็นเงินหมุนเวียนที่จะใช้สำรอง ในกรณีที่การซื้อขายสำเร็จแล้วทางตลาดกลางจะให้เกษตรกรไปก่อน ไม่ใช่เงินซื้อยางพาราโดยตรง แต่หากจะใช้หน่วยธุรกิจ หรือบียูเข้ามาซื้อก็เป็นไปได้ แต่ถ้าซื้อ 6 ตลาดพร้อมกัน จะต้องใช้เงินจำนวนมาก ปัจจุบัน (ต.ค. 60 ถึงปัจจุบัน) มีการซื้อขายยางพาราผ่านตลาดกลางยางพารา จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 2.5 หมื่นตัน เฉลี่ยเดือนละ 3.57 พันตัน เฉลี่ยมีการซื้อขายยางพาราวันละกว่า 100 ตัน
เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์
รักษาการผู้ว่า กยท.
ขณะที่ นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่า กยท. กล่าวว่า หากผู้ส่งออก พ่อค้าไม่มาซื้อ ทาง กยท. มีแผนรองรับที่จะให้ 6 โรงงาน ที่อยู่ในภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้เป็นเครื่องมือในการซื้อ เพื่อที่จะส่งออก เนื่องจากทาง กยท. ได้มีการทำสัญญาซื้อขายยางระหว่างผู้ส่งออกกว่า 6 แสนตัน จะช่วยทำให้ยางมีช่องทางการระบายอีกด้านหนึ่ง ไม่ใช่เก็บสต็อกเช่นในอดีต จะมาซื้อมาขายไป
ด้าน นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง (สยยท.) กล่าวว่า หากผู้ส่งออก พ่อค้าไม่เล่นด้วย อยู่ได้แค่ 2 วัน ตลาดเจ๊งแน่นอน เพราะเงินแค่ 250 ล้านบาท เป็นแค่เงินหมุนเวียน ไม่ใช่เงินรับซื้อยางมาเก็บไว้ในสต็อก จำนวนเงินน้อยมาก เฉลี่ยตลาดละ 40 กว่าล้านบาท แล้วสุดท้ายจะซ้ำรอยโครงการบัฟเฟอร์ฟันด์ สต็อกเพียบ เกษตรกรเข้าไม่ถึงโครงการ ชี้หากจะทำจริงควรจะศึกษาให้รอบคอบ ให้ดูโมเดลตลาดกลางยางพารา จ.ระยอง จะมีการซื้อขายโดยที่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรไม่ต้องขนยางพารามาซื้อขายในตลาด ทั้ง 2 ฝ่าย ซื้อขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ แล้วให้ผู้ซื้อไปรับยางพาราจากสถาบันนั้น ๆ เลย ได้ราคาที่สูงกว่า แต่เกษตรกรจะต้องทำให้สินค้ามีคุณภาพก่อน แต่ถ้าไปกำหนดราคาซื้อขายก่อนนั้นผิดหลักการ เป็นไปได้ยาก
ด้าน นายไชยยศ สินเจริญกุล นายกสมาคมยางพาราไทย เผยว่า การกำหนดราคาขายยางพาราใน 6 ตลาดกลางยางพาราของ กยท. เป็นกลไกลใหม่ จะต้องพิจารณาว่า ราคาที่ กยท. กำหนดเป็นราคาเท่าไร ถ้ากำหนดราคาขายสูงเกินไป ก็จะมีปัญหาในการส่งออก เพราะไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่เป็นผู้ผลิตยาง ดังนั้น อาจจะทำให้คู่ค้าหันไปซื้อประเทศอื่นแทนที่ราคาถูกกว่า ต้องรอว่าวันพรุ่งนี้ กยท. จะประกาศราคาอยู่ที่เท่าไร จะซื้อได้หรือไม่ต้องพิจารณาเป็นรายวัน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ 1 July 2018