ผลไม้เมืองจันท์-ตราดสูญพันล้าน!! อ่วมพิษ"แล้ง-ร้อน"ทุเรียนโลละ100updated: 24 เม.ย 2559 เวลา 20:01:33 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
สวนผลไม้ตะวันออกอ่วมพิษภัยแล้ง-ร้อนจัด "ทุเรียน-เงาะ-มังคุด" ลด 10-23% เมืองจันท์คาดสูญรายได้ 1,300 ล้านบาท โอดฝนไม่ตกเมษายนนี้ ชาวสวนล่มสลาย ฮึดสู้ซื้อน้ำรดทุเรียน ค่าเจาะบาดาลพุ่งบ่อละ 8 หมื่น เหตุราคาดีกิโลละ 100 ระยองผลผลิตลด 10%
นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร เกษตรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภัยแล้งและสภาพอากาศที่ร้อนจัดในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อผลไม้ของจันทบุรีที่จะออกสู่ตลาดในเร็ว ๆ นี้ เพราะสวนผลไม้ขาดน้ำและไม่มีความชื้นทำให้การพัฒนาผลผลิตขาดช่วง ซ้ำเติมจากเดิมที่ติดดอกออกผลน้อยเนื่องจากความแปรปรวนของฤดูกาลอยู่แล้ว
ทั้งนี้จากการประชุมคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา พบว่าข้อมูลประมาณการผลผลิตทุเรียน มังคุด เงาะ ใน 3 จังหวัด คือ จันทบุรี ตราด และระยอง ปริมาณลดลงทุกชนิดจากปี 2558ยกเว้นลองกองผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น หากใช้ราคาผลผลิตเฉลี่ยเมื่อปี 2558 มาคำนวณ คาดว่าจะทำให้รายได้ของจังหวัดจันทบุรีหายไปประมาณ 1,300 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกส่วนราชการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดจันทบุรี ได้เร่งให้การช่วยเหลือเกษตรกร เน้นการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคให้ประชาชนก่อน หลังจากนั้นจึงเป็นภาคเกษตร เบื้องต้นได้ประกาศเขตภัยพิบัติทุกอำเภอเพื่อการช่วยเหลือที่รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังสนับสนุนค่าน้ำมันที่สูบน้ำมาจากแหล่งน้ำต้นทุนนำไปรดผลไม้ในสวนต่าง ๆ รวมถึงการขุดเจาะแหล่งน้ำใต้ดิน แต่ถ้าขุดไม่ได้ทางจังหวัดก็ได้ระดมรถน้ำเพื่อบรรทุกน้ำไปแจกจ่าย แต่ก็ลำบากเพราะพื้นที่ปลูกไม้ผล 4 ชนิดทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง มีจำนวนถึง 4.9 แสนไร่
"อากาศที่ร้อนและแล้งในปัจจุบันสร้างความหนักใจ ถ้าฝนทิ้งช่วงยาว ไม่มีน้ำต้นทุน ปัญหาก็จะเกิด เพราะตอนนี้คลองธรรมชาติแห้งหมดแล้ว น้ำในเขื่อนก็เหลือน้อย ขณะนี้ชลประทานได้เสนอแผนเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำ และใช้ทฤษฎีใหม่ของในหลวง สร้างแหล่งน้ำในแปลงปลูกพืช โดยให้รัฐขุดสระแหล่งน้ำให้เยอะ ขณะที่เกษตรกรก็ต้องยอมสละพื้นที่บางส่วนเพื่อขุดสระของตัวเองด้วย"
สำหรับข้อมูลประมาณการผลผลิตในจังหวัดจันทบุรีทุเรียนปี 2558 จำนวน 234,514 ตัน ปี 2559 จำนวน 218,789 ตัน ลดลงร้อยละ 6.71 มังคุด ปี 2558 จำนวน 81,660 ตัน ปี 2559 จำนวน 77,289 ตัน ลดลงร้อยละ 5.35 เงาะ ปี 2558 จำนวน 125,160 ตัน ปี 2559 จำนวน 105,896 ตัน ลดลงร้อยละ 15.39
ส่วนจังหวัดตราด ทุเรียน ปี 2558 จำนวน 31,922 ตัน ปี 2559 จำนวน 30,465 ตัน ลดลงร้อยละ 4.56 มังคุด ปี 2558 จำนวน 18,395 ตัน ปี 2559 จำนวน 17,321 ตัน ลดลงร้อยละ 5.84 เงาะ ปี 2558 จำนวน 76,853 ตัน ปี 2559 จำนวน 59,021 ตัน ลดลงร้อยละ 23.20
สำหรับจังหวัดระยอง ทุเรียนปี 2558 จำนวน 71,182 ตัน ปี 2559 จำนวน 66,817 ตัน ลดลงร้อยละ 6.13 มังคุด ปี 2558 จำนวน 14,264 ตัน ปี 2559 จำนวน 15,426 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.15 เงาะ ปี 2558 จำนวน 13,950 ตัน ปี 2559 จำนวน 10,709 ตัน
ด้านนายธีระ วงษ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้จังหวัดได้ประกาศภัยแล้งทุกอำเภอในจังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นแหล่งปลูกผลไม้ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ถือว่าหนักกว่าปี 2535 ที่เคยเกิดวิกฤตหนัก นอกจากนี้อากาศก็ร้อนมากกว่าเดิม การระเหยของน้ำสูง ทำให้แห้งแล้งมาก ทำให้เกษตรกรต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการซื้อน้ำจากเอกชน ราคาเที่ยวละ 1,600 บาท จุคันละ16,000 ลิตร เนื่องจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนำรถน้ำมาแจกจ่ายก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำนอกจากนั้น เกษตรกรยังต้องซื้อท่อน้ำเพื่อถ่ายน้ำจากแหล่งน้ำมายังสวนผลไม้ ซึ่งกำลังประสบปัญหาท่อพีวีซีขาดตลาด ส่วนการเจาะบ่อบาดาลยังต้องรอคิวยาวมาก และราคาขยับขึ้นจากบ่อละ 40,000 บาทเพิ่มเป็น 80,000 บาทแล้ว ทำให้เกษตรกรต้องรับภาระหนักขึ้นโดยไม่มีใครดูแล ล่าสุดแม้ว่าฝนจะตกลงมาบ้าง แต่ก็มีปริมาณน้ำน้อยมาก แถมยังมีลมพัดแรงทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียหายอีกด้วย และปัจจุบันการประเมินความเสียหายยังไม่นิ่ง เพราะปัญหายังไม่คลี่คลาย
"ตอนนี้เกษตรกรต้องตัดสินใจทิ้งมังคุด เพราะทุเรียนราคาสูงกว่า ซึ่งผลผลิตมังคุดรุ่นแรกเพิ่งจะออกได้ 20% และรุ่นหลังจะออกช่วงเดือนมิถุนายน หากสถานการณ์ภัยแล้งยังเป็นเช่นนี้ คาดว่ามังคุดจะหายไปจากตลาด 7-8 หมื่นตัน ขณะที่ทุเรียนจะออกเดือนมิถุนายน แต่เนื่องจากอากาศที่ร้อนมาก ทำให้การเติบโตช้า ต้องกินของแพงกิโลกรัมละ 100 บาทขึ้นไป ส่วนลำไยที่อำเภอสอยดาวก็เสียหายหนัก บางสวนที่ทำสัญญากับล้งไว้อาจต้องเจรจาเพราะไม่มีผลไม้ส่งมอบให้" ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีกล่าว
ด้านนายวิบูลย์ ไชยวรรณ เกษตรจังหวัดระยอง กล่าวว่า สถานการณ์แล้งปีนี้ ระยองยังไม่กระทบ เนื่องจากสวนผลไม้ระยองส่วนใหญ่เป็นสวนขนาดเล็ก และมีบ่อน้ำอยู่แล้ว และจังหวัดระยองยังมีอ่างเก็บน้ำถึง 5 แห่งที่สามารถเชื่อมต่อส่งน้ำไปเติมให้กันและกันได้ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรได้รับผลกระทบเพียงในช่วงต้นฤดูเท่านั้น เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงมีทั้งหนาว ฝน ร้อน ทำให้ผลไม้ติดดอกช้าไปเกือบ 1 เดือน ซึ่งจะทำให้ผลไม้ออกช้ากว่าเดิม และภาพรวมผลผลิตจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 10% โดยผลผลิตจะออกมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดจันทบุรีได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 10 อำเภอครบทั้งจังหวัดแล้ว ได้แก่ อำเภอมะขาม โป่งน้ำร้อน สอยดาว แก่งหางแมว ขลุง นายายอาม เมือง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ และแหลมสิงห์ เช่นเดียวกับที่ตราดก็ได้ประกาศเขตภัยแล้งทั้งจังหวัดแล้วเช่นกันได้แก่ อำเภอเมือง เขาสมิง แหลมงอบ คลองใหญ่ บ่อไร่ เกาะกูด และเกาะช้าง ขณะที่ระยองไม่ได้รับการประกาศเขตภัยแล้ง