วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยยังคงมีอากาศร้อนโดยทั่วไปและอาจเกิดพายุฤดูร้อนในบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งอาจมีฝนฟ้าคะนองและลมกรรโชกแรง ทำให้สภาพอากาศคลายร้อนลงได้ ส่วนภาคใต้มีเมฆบางส่วนและมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุด 33 - 37 องศาเซลเซียส
2. การใช้ยาง
- หอการค้าญี่ปุ่น - กรุงเทพฯ รายงานตัวเลขการจำหน่ายรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์ พบว่ามีจำนวน 56,705 คัน ลดลงร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านซึ่งจำหน่ายได้ 63,949 คัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่จำหน่ายได้ 51,534 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.03
3. เศรษฐกิจโลก
- นักเศรษฐศาสตร์เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกแผนการปรับขึ้นภาษีบริโภค ซึ่งวางแผนที่จะบังคับใช้ในปีหน้า และหันมาใช้มาตรการกระตุ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยกล่าวว่าขณะนี้ญี่ปุ่นยังไม่สามารถหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดได้ ดังนั้นจึงควรมีการกระตุ้นทางการเงิน
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือเติบโตร้อยละ 3.1 จากเดิมคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.5 เนื่องจากการส่งออกหดตัวลงมากกว่าคาด โดยประเมินว่าการส่งออกปีนี้จะหดตัวลงร้อยละ 2.0 และจะฟื้นตัวเป็นบวกร้อยละ 0.1 ในปี 2560 ซึ่งจะผลักดันให้เศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวร้อยละ 3.3
- ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) กล่าวว่า เศรษฐกิจเอเชียยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจจีนอยู่ในภาวะชะลอตัวลง เนื่องจากการลงทุนที่มากเกินไป โดยอ้างถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เช่น อินเดียและอินโดนีเซีย ซึ่งกำลังดำเนินการปฏิรูปโดยผู้นำคนใหม่
- สำนักงานปริวรรตเงินตราแห่งรัฐของจีน (SAFE) เปิดเผยว่า จีนอาจจะเรียกเก็บภาษีโทบิน (Tobin Tax) เพื่อสกัดการไหลออกของกระแสเงินทุนหมุนเวียนข้ามพรมแดนระยะสั้น หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.27 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.33 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 112.72 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.45 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนพฤษภาคมปิดตลาดที่ 39.79 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.66 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่าสต๊อคน้ำมันดิบรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนพฤษภาคมปิดที่ 40.47 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.32 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า สต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้สต๊อคน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 9.4 ล้านบาร์เรล สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.7 ล้านบาร์เรล
- สำนักงานพลังงานสากล (IEA) เปิดเผยว่า การบรรลุข้อตกลงระหว่างกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในการจำกัดการผลิตในการประชุมเดือนหน้าจะไม่มีความหมายแต่อย่างใด เนื่องจากซาอุดิอาระเบียเป็นเพียงประเทศเดียวที่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าช่องว่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานน้ำมันจะลดลงในปีนี้ ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันฟื้นตัวในปีหน้า
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนเมษายนอยู่ที่ 166.2 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 2.1 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 174.7 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 3.0 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 151.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 0.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดจำหน่ายบ้านใหม่เดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวขึ้นมากเกินคาด ทั้งนี้กระทรวงระบุว่ายอดจำหน่ายบ้านใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 สู่ระดับ 512,000 ยูนิต ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 510,000 ยูนิต
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ปริมาณยางที่มีน้อย และความต้องการซื้อของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รวมถึงผู้ประกอบการภายในประเทศ ทำให้มองว่าราคายางยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามตลาดล่วงหน้าโตเกียวและราคาน้ำมัน ประกอบกับนักลงทุนระมัดระวังในการซื้อขาย หลังเกิดเหตุก่อการร้ายในเบลเยี่ยม ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่อ่อนค่าลงและอุปทานยางที่ออกสู่ตลาดน้อย ยังเป็นปัจจัยหนุนราคายางได้ในระดับหนึ่ง
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา