วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ทั่วทุกภาคของประเทศมีอุณหภูมิสูงขึ้น และมีหมอกในตอนเช้า โดยมีอากาศร้อน
ในตอนกลางวัน ขณะที่ภาคใต้อาจจะมีฝนเล็กน้อยในบางแห่ง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง อย่างไรก็ตาม อากาศที่ร้อนและแห้งแล้งประกอบกับหลายพื้นที่เริ่มหยุดกรีดในฤดูยางผลัดใบทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง
2. การใช้ยาง
- สมาคมนำเข้ายานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดขายรถนำเข้า ซึ่งรวมถึงรถยนต์ที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นผลิตในต่างประเทศด้วยนั้นลดลงร้อยละ 0.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 27,314 คัน
3. สต๊อกยาง
- สต๊อกยางจีน ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวน 279,955 ตัน เพิ่มขึ้น 3,675 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.33 จากระดับ 276,280 ตัน ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559
4. เศรษฐกิจโลก
- นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับความยากลำบากและการท้าทายมากขึ้นในปีนี้ ขณะที่รัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้าง
- ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจจีนไม่มีทางเผชิญกับภาวะฮาร์ดแลนดิ้งอย่างแน่นอน แต่ความผันผวนของเศรษฐกิจทั้งโลกอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า ตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ในเดือนมกราคม สู่ระดับ 4.57 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 3.3 สู่ระดับ 1.169 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 และการส่งออกสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 2.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาแอตแลนติก เปิดเผยว่า แบบจำลองการคาดการณ์GDP NOW แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาส 1 หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานและตัวเลขการค้าในวันศุกร์ที่ผ่านมา
- นายกรัฐมนตรีจีน เปิดเผยในรายงานที่เตรียมไว้สำหรับกล่าวในพิธีเปิดการประชุมประจำปีจากสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ว่า รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ที่ระดับร้อยละ 6.5 ? 7.0 จากระดับร้อยละ 7.0 ของปีที่แล้ว ขณะเดียวกันจีนได้กำหนดอัตราการขยายตัวรายปี โดยเฉลี่ยเอาไว้อย่างน้อยร้อยละ 6.5 ไปจนถึงปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวรายปีที่เคยกำหนดเอาไว้ที่ร้อยละ 6.9
5. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า 0.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 113.81 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า 0.48 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
6. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนเมษายน 2559 ปิดตลาดที่ 35.92 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.35 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะได้รับปัจจัยบวกจากตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐฯ และข้อมูลที่ระบุว่าจำนวนขุดเจาะน้ำมันที่ใช้งานในสหรัฐ ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากนักลงทุนมีมุมมองบวกว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อาจจะตกลงกันได้ในการปรับลดกำลังการผลิตในการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือนนี้
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนเมษายน 2559 ที่ตลาดลอนดอนปิดที่ 38.72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
7. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนเมษายน 2559 อยู่ที่ 173.8 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 6.8 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ 182.1 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 7.4 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 148.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 10.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
8. ข่าว
- กระทรวงแรงงานสหรัฐ รายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 242,000 ตำแหน่ง ในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่อัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับร้อยละ 4.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี
- นายกรัฐมนตรีจีน ระบุว่า จีนตั้งเป้าการสร้างงานใหม่อย่างน้อย 10 ล้านตำแหน่ง ในเขตเมือง และจะรักษาอัตราว่างงานเอาไว้ที่ระดับร้อยละ 4.5 ในปีนี้
9. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดต่างประเทศและปริมาณผลผลิตที่ลดลงตามฤดูกาล อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการบางรายกล่าวว่า การที่ราคาตลาดล่วงหน้าปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เป็นการเล่นราคาของกองทุนในตลาดล่วงหน้า เพราะความเป็นจริงแล้วยังคงขายออกยาก โดยแม้จะขายในราคาต่ำกว่า Sicom 3-4 เซนต์ ก็ไม่มีผู้ซื้อ และยังกล่าวว่าการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วอาจจะเป็นการปรับตัวขึ้นแบบไม่ยั่งยืน ผู้ซื้อจึงยังคงรอดูสถานการณ์ ขณะที่ส่วนใหญ่ผู้ที่ซื้อก็จะเป็นผู้ที่มีสัญญาล่วงหน้าต้องเร่งซื้อเพื่อปิดสัญญาส่งมอบ
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดล่วงหน้าโตเกียวและราคาน้ำมัน ประกอบกับเงินเยนอ่อนค่า และอุปทานยางที่ออกสู่ตลาดลดลง เพราะหลายพื้นที่เริ่มหยุดกรีดในช่วงฤดูยางผลัดใบ นอกจากนี้ราคายางยังมีแรงหนุนจากนักลงทุนขานรับตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ขณะที่รัฐบาลจีนประกาศว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนระยะ 5 ปี แม้ว่าจีนจะเผชิญกับภาวะทางเศรษฐกิจในต่างประเทศที่มีความซับซ้อนและท้าทาย
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา