วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกและอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคใต้มีเมฆบางส่วนกับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- สหพันธ์จำหน่ายรถยนต์ฝรั่งเศส (CCFA) เปิดเผยว่า ผู้ผลิตรถยนต์ในฝรั่งเศสสามารถจำหน่ายรถยนต์ได้ 199,948 คันในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นจาก 176,993 คันในช่วงเดียวกันของปีก่อน
3. เศรษฐกิจโลก
- กรรมการธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนมีแนวโน้มปรับตัวเป็นบวกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่ภารกิจของ ECB ในการต่อสู่กับภาวะเงินเฟ้อต่ำก็ยังคงไม่สิ้นสุด
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ช่วงต้นเดือนมกราคมถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์มีการขยายตัวเป็นส่วนใหญ่ โดยได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น
- องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าโลกชะลอตัวลงอย่างมากในปี 2558 โดยการส่งออกลดลงร้อยละ 11.3 ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 13.0
- สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มน่าวิตก แม้ว่าในอนาคตรัฐบาลญี่ปุ่นอาจมีการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม เนื่องจากเดิมญี่ปุ่นมีปัญหาด้านหนี้สินอยู่แล้ว
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนและสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 1.0 ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบเป็นรายเดือน จากเดือนธันวาคมที่ลดลงร้อยละ 0.8 หากเทียบเป็นรายปีดัชนี PPI ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.9 ในเดือนมกราคม สาเหตุมาจากการปรับตัวลดลงร้อยละ 3.2 ของราคาพลังงาน
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 35.51 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.12 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 113.83 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.18 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนเมษายนปิดตลาดที่ 34.66 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.26 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่าการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด
- สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอนส่งมอบเดือนเมษายนปิดที่ 36.93 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.12 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า สต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10.4 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 518 ล้านบาร์เรล โดยทะยานขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 3.6 ล้านบาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคา TOCOM ส่งมอบเดือนเมษายนอยู่ที่ 157.7 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.4 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 163.8 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.1 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- ราคา SICOM เปิดตลาดที่ 132.9 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.1 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า เดือนกุมภาพันธ์ภาคเอกชนสหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 214,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 190,000 ตำแหน่ง
8. ข้อคิดเห็นของประกอบการ
- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดต่างประเทศและปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่แหล่งข่าวรายงานว่ามีผู้ส่งออกรายใหญ่ขายล่วงหน้าไว้จำนวนมากและมีการซื้อเพื่อส่งมอบ ก่อนที่ปริมาณผลผลิตจะลดลงอีก อย่างไรก็ตาม ตลาดต่างประเทศการถามซื้อยังคงมีน้อยและยังขายออกยาก การขายยังคงต่ำกว่าราคาตลาดสิงคโปร์อยู่ 2-3 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยมีแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 3 และนักลงทุนขานรับข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ประกอบกับกระแสคาดการณ์เกี่ยวกับการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของจีน รวมทั้งปริมาณผลผลิตที่ลดลงในช่วงฤดูยางผลัดใบ
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา