ผู้เขียน หัวข้อ: ทุนจีน-อินเดียแห่ตั้งฐานผลิต'ยางรถยนต์'  (อ่าน 752 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84897
    • ดูรายละเอียด
ทุนจีน-อินเดียแห่ตั้งฐานผลิต'ยางรถยนต์'



  ไทยเนื้อหอม ต่างชาติเดินหน้าลงทุน ดันไทยฐานผลิตยางรถยนต์เพื่อส่งออก โดยเฉพาะทุนจีน บีโอไออนุมัติลงทุนแล้ว กว่า 2.6 หมื่นล้าน อินเดียสนศึกษาลู่ทางลงทุน ขณะรัฐพร้อมหนุน เดินหน้าตั้งศูนย์ทดสอบ หวังดึงรายเล็ก-หน้าใหม่ เข้าไทย

 อุตสาหกรรมยางยานพาหนะในไทย ยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาสร้างฐานผลิตในไทย ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ทั้งเพื่อรองรับการส่งออก หรือ การเจาะตลาดในประเทศตามทิศทางอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่เชื่อว่าจะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต แม้ว่าปัจจุบันจะอยู่ในช่วงถดถอย ส่งผลให้ตลาดยางรถยนต์ซบเซาไปด้วย
 นายทาเคโตชิ โมริตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โยโกฮามา ไทร์ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในไทยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ยอดขายลง เชื่อว่าจะส่งผลต่อตลาดยางรถยนต์เช่นกัน แม้ว่าจะมีตลาดทดแทน หรือ อาร์อีเอ็ม แต่การที่ผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้ยืดเวลาการเปลี่ยนยางออกไป โดยคาดว่าตลาดยางรถยนต์ปีนี้จะไม่เติบโตจากปีที่แล้ว โดยมีจำนวนไม่ถึง 10 ล้านเส้น

 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตยาง และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องหลายค่าย โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีน เช่น บริษัท เซนจูรี่ ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจยางรถยนต์รายใหญ่จากจีน ที่มีแผนการขยายการผลิตยางยานพาหนะ ยางผสมที่นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จ.ระยอง เงินลงทุน 5,750 ล้านบาท ตามแผนการของบริษัท ระบุว่า จะใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ยางธรรมชาติ มูลค่าประมาณ 844 ล้านบาทต่อปี

 บริษัท แอลแอลไอดี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตยางปีละ 11.2 ล้านเส้น ที่จ.ชลบุรี ด้วยเงินลงทุน 1.88 หมื่นล้านบาท

 นายเจียง หมินเชิง ได้รับการส่งเสริมการผลิตยางเรเดียล มูลค่าลงทุน 4,611 ล้านบาท มีกำลังการผลิตยางเรเดียล 1.05 ล้านเส้นต่อปี และผลิตยางผสม 5 หมื่นตันต่อปี โรงงานอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี ถือว่าเป็นการเข้าลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของค่ายยางรถยนต์จากจีน

 บริษัท โอตานิเรเดียล จำกัด มีมูลค่าการลงทุน 6,555 ล้านบาท ที่จ.นครปฐม โดยการลงทุนมีแผนที่จะใช้วัตถุดิบยางประมาณ 2,300 ล้านบาทต่อปี

 บริษัท ไทยโคโคคุ รับเบอร์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนยางสังเคราะห์ สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิคส์ ที่จ.สระบุรี เงินลงทุน 1,298 ล้านบาท

 บริษัท เทยิ่น เอฟอาร์เอ ไทร์คอร์ด รับการส่งเสริมผลิตผ้าใบไทร์ คอร์ด ซึ่งเป็นส่วนประกอบ ในการผลิตยางรถยนต์ ด้วยเงินลงทุน 1,130 ล้านบาท ที่จ.อยุธยา มีกำลังการผลิตปีละ 1.6 หมื่นตัน

 นอกจากนั้น ในช่วงปี 2557 ยังมีหลายโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน เช่น นายเพียโต อเลสซานโดร มอตต้า และ นายบัณฑิต เกิดวงศ์บัณฑิต มีแผนผลิตยางปีละ 5.8 ล้านเส้น มูลค่าลงทุน 9,000 ล้านบาท ที่จ.ระยอง
 หนุนสร้างศูนย์ทดสอบรองรับ

 นายวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องการสนับสนุนการผลิตยางในประเทศให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมการใช้วัตถุดิบคือยางพาราที่ผลิตได้จำนวนมากในประเทศ

 โดยภาครัฐก็มีแนวทางที่จะดึงดูดการลงทุน โดยการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆรองรับ ทั้งการส่งเสริมการลงทุน และ การพัฒนาในส่วนอื่นๆ เช่น การสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์ที่อยู่ระหว่างการเดินการขณะนี้
 ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวมีแผนที่จะตั้งที่ จ.ฉะเชิงเทรา มูลค่าลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท โดยเป้าหมายของรัฐต้องการให้เป็นศูนย์ทดสอบที่สมบูรณ์แบบ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับ ผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ให้สามารถทดสอบในประเทศได้เลย ไม่ต้องส่งไปทดสอบต่างประเทศ ซึ่งเสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายสูง
 โดยแผนการลงทุนจะทำทีละเฟส โดยเฟสแรกจะรองรับการทดสอบยาง ก่อนที่จะขยายไปยัง ชิ้นส่วนอื่นๆ และการทดสอบรถยนต์ต่อไป

 แม้ว่าปัจจุบัน ผู้ผลิตยางค่ายหลักๆ จะมีสนามทดสอบของตนเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบริดจสโตน กู๊ดเยียร์ มิชลิน และค่ายรองลงมาอย่างโยโกฮาม่า ก็เพิ่งลงทุนกว่า 500 ล้านบาท เพื่อสร้างสนามทดสอบขึ้นเอง แต่ภาครัฐก็ยังเห็นว่าศูนย์ทดสอบที่จะสร้างขึ้นเป็นสิ่งจำเป็น

 "แม้ว่าค่ายยางจะลงทุนด้านศูนย์ทดสอบเองแล้ว แต่รัฐก็มองถึงค่ายเล็กๆ หรือค่ายที่จะเข้ามา ลงทุนใหม่ เมื่อเห็นว่าไทยมีความพร้อมด้านศูนย์ทดสอบ ก็จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนง่ายขึ้น

 ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ยางล้อเป็นอุตสาหกรรมสำคัญ และมีผลต่อยางธรรมชาติของไทยอย่างมาก เพราะยางล้อเป็นชิ้นส่วนที่ใช้ยางธรรมชาติมากที่สุด ขณะเดียวกัน ไทยก็มีบทบาทสำคัญในการ ส่งออกยางเช่นกัน

 ข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังระบุว่า ค่ายยางจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนสนใจ ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เพื่อส่งกลับไปจำหน่ายยังจีน และส่งออกไปทำตลาดประเทศอื่น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่กีดกันการนำเข้ายางจากจีน ทำให้ต้องหาทางผลิต และส่งออกจากแหล่งอื่นแทน โดยมีข้อมูลว่ามีผู้สนใจเข้ามาลงทุนประมาณ 8 ราย

 "อินเดีย"สนไทยประตูเจาะอาเซียน
 นอกจากนักลงทุนจีนที่จะเข้ามาลงทุนธุรกิจยางรถยนต์ในไทยแล้ว อุตสาหกรรมยานยนต์ขนาดใหญ่อย่างอินเดีย ก็มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนยานยนต์ในไทยเช่นกัน โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากเห็นว่าไทยมีความแข็งแกร่ง และเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นเป้าหมายของการทำตลาดของผู้ผลิตจากอินเดีย ที่มองเห็นศักยภาพกำลังซื้อ และตลาดของภูมิภาคนี้ที่จะเติบโตในอนาคต และประเมินว่า หากเข้าไทยได้ก็จะทำสามารถเข้าไปทำตลาดในอาเซียนได้ง่าย โดยเฉพาะหลังประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบปลายปีนี้

 ขณะที่นักลงทุนไทย ก็สนใจการลงทุนของอินเดียเช่นกัน ล่าสุด คือการพยายามจับคู่เมืองอุตสาหกรรมกับอินเดีย ซึ่งในแผนการนี้มีอุตสาหกรรมยางรถยนต์รวมอยู่ด้วย

 ทั้งนี้ข้อมูลจากบีโอไอระบุว่า ที่ผ่านมากิจการผลิตยางรถยนต์ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน เฉพาะผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ ได้แก่ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด (ปทุมธานี) ,บริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (ระยอง) ,บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด (ปทุมธานี ), บริษัท บริดจสโตนไทร์แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (ชลบุรี) ,บริษัทบริดจสโตนสเปเชียลตี้ไทร์แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (ระยอง) เป็นต้น--จบ--



      กรุงเทพธุรกิจ (Th)     
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 27, 2015, 04:10:49 PM โดย Rakayang.Com »