ผู้เขียน หัวข้อ: ชาวสวนยางเชียงรายสุดเคว้ง ยางก้อนถ้วยราคาวูบโลละ 20 บ.  (อ่าน 872 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด
ชาวสวนยางเชียงรายสุดเคว้ง ยางก้อนถ้วยราคาวูบโลละ 20 บ.

เชียงราย ปลูกยางพารามากกว่า 5 แสนไร่ อีก 5 ปีน้ำยางกรีดใหม่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 แสนตัน เผยโรงงานแปรรูปเมินตั้งฐานผลิต ขณะที่ยางก้อนถ้วยราคาร่วงลงมาแตะ 20 บาท/กก. วอนรัฐหนุนสร้างโรงงานยางแท่ง ล่าสุดประเดิมเปิดสำนักงานการยางแห่งประเทศไทยแห่งแรกแล้ว

นาย ประสิทธิ์ หมีดเส็น รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวว่า หลังจากพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมเป็นต้นมา

พร้อมทั้งมีการจัดตั้ง องค์กรบริหารเป็นการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และกำลังสรรหาคณะกรรมการบริหาร ขณะนี้ยังได้ทยอยเปิดสำนักงานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในภูมิภาคต่าง ๆ โดยได้เปิดสำนักงานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จังหวัดเชียงรายเป็นแห่งแรกแล้ว ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย

ทั้งนี้จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ปลูกยางพาราแหล่งใหม่ที่สำคัญโดยเริ่มลงทุนปลูกยางตั้งแต่ปี 2547 โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยางทั้งหมดกว่า 5 แสนไร่ สามารถกรีดน้ำยางได้แล้วกว่า 230,000 ไร่ ให้ผลผลิตปีละกว่า 5 หมื่นตัน และในระยะอีก 5 ปีข้างหน้า จะสามารถกรีดน้ำยางได้เต็มที่ คาดว่าจะมีผลผลิตมากกว่า 1 แสนตัน

"แนว โน้มราคายางพาราในภาพรวมนั้น คงจะไม่เพิ่มสูงขึ้นมากนัก โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจและจีดีพีของประเทศจีนไม่เติบโตขึ้น ซึ่งจีนเป็นผู้ซื้อสำคัญของไทย ทำให้การรับซื้อยางมีปริมาณเท่าเดิม แต่การผลิตยางพาราของไทยเพิ่มมากขึ้น"

ด้าน นายธรรมนูญ อุ่นธวัชนัดดา ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จ.เชียงราย กล่าวว่า ปี 2558 จ.เชียงราย มีพื้นที่ปลูกยางพาราในระบบของ สกย.จำนวน 346,373 ไร่ สามารถกรีดน้ำยางได้แล้ว 233,812 ไร่ มีปริมาณน้ำยางกว่า 42,862 ตัน/ปี มีเกษตรกร 21,892 ราย ซึ่งที่ผ่านมาทาง สกย.และประชาชนได้ร่วมกันพัฒนาและรวบรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นสถาบันเกษตรแล้ว จำนวน 122 กลุ่ม ประกอบด้วย สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 8 สถาบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 25 กลุ่ม กลุ่มชาวสวนยาง สกย.จำนวน 89 กลุ่ม มีตลาดประมูลยางท้องถิ่น จำนวน 2 ตลาด มีเงินหมุนเวียนในระบบปีละกว่า 1,000 ล้านบาท

นายสุวิทย์ ใหม่ธิ ประธานเครือข่ายชาวสวนยางพารา จ.เชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันชาวสวนยางพาราส่วนใหญ่ใน จ.เชียงราย จะเป็นเพียงผู้ปลูกและกรีดน้ำยางออกจำหน่าย โดยเกือบทั้งหมดจะจำหน่ายเป็นยางก้อนถ้วย ซึ่งสถาบันเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มชาวสวนยาง ฯลฯ จะเป็นผู้รวบรวมผลผลิตของเกษตรกรในกลุ่ม จากนั้น

จะใช้วิธีการเปิดประมูลให้เอกชนยื่นราคาที่สำนักงาน สกย.เชียงราย โดยราคายางก้อนถ้วยที่เกษตรกรจะอยู่รอดได้คือกิโลกรัมละ 32 บาทขึ้นไป แต่ราคาที่ซื้อขายจริงในตลาดตอนนี้ประมาณ 20 บาท/กก.เท่านั้น จึงต้องรอดูมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล และ กยท.ต่อไป

"ใน พื้นที่ จ.เชียงราย ยังไม่มีโรงงานแปรรูป ที่เข้าไปรับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรโดยตรง แต่ปัจจุบันเชียงรายก็เป็นจุดส่งออกยางแผ่นรมควันไปประเทศจีนผ่านด่านเชียง ของ ซึ่งก่อนหน้านี้เครือข่ายได้เสนอรัฐบาลช่วยสนับสนุนให้มีการสร้างโรงงานทำ ยางแท่งและผลิตภัณฑ์ยางในเขตภาคเหนือด้วย"


รายงานข่าวจาก สำนักงาน พาณิชย์จังหวัดเชียงราย แจ้งว่าในเดือน ม.ค.-ก.ค. 2558 ประเทศไทยมีการส่งออกยางพาราและเศษยางพาราจาก จ.เชียงราย ไปยังจีนตอนใต้ มูลค่ากว่า 106 ล้านบาท โดยอยู่ในอันดับ 7 ของสินค้าที่ส่งออกไปยังจีนตอนใต้มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 3.45 รองจากสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ พืชผลทางการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น ปลากระตักตากแห้ง ฯลฯ ขณะที่ในปี 2557 มีการส่งออกไปตลอดทั้งปีมูลค่ากว่า 187 ล้านบาท


ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (วันที่ 14 กันยายน 2558)