ผู้เขียน หัวข้อ: สัมภาษณ์: เปิดใจ 'วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล' อนาคต 'ศรีตรัง' ผู้ค้ายางรายใหญ่ของโลก  (อ่าน 1537 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 83105
    • ดูรายละเอียด
สัมภาษณ์: เปิดใจ 'วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล' อนาคต 'ศรีตรัง' ผู้ค้ายางรายใหญ่ของโลก


  นับจากปี 2530 ที่สมหวัง สินเจริญกุล ได้ก่อตั้ง บริษัทศรีตรังแอโกร อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ขึ้นมา และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2534 และด้วยการบริหารงานโดย ดร.ไวยวุฒิ สินเจริญกุล บริษัทได้สั่งสมประสบการณ์ และได้สร้างรากฐาน ที่แข็งแกร่งของธุรกิจในหลายด้าน ส่งผลให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว จวบจนวันนี้ศรีตรังฯถือเป็นผู้นำในการผลิต และจัดจำหน่าย ยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลก "ประชาชาติธุรกิจ" ถือโอกาสสัมภาษณ์ "วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล" กรรมการบริหาร บมจ.ศรีตรังฯ ถึงสถานการณ์ยางภายในประเทศไทย และในตลาดโลก รวมทั้งแผนธุรกิจในอนาคต

 * ทิศทางราคายางในตลาดโลก
 ราคายางพาราตกต่ำตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2011 และตกต่ำที่สุดในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา พอมาเดือน มิ.ย.รีบาวนด์ขึ้นมาในระดับหนึ่ง ต่อมามีกรณีนิวเคลียร์อิหร่านมีการตกลงกันได้ยกเลิกคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมัน ค่าเงิน ดอลลาร์กลับมาแข็งค่า เศรษฐกิจโลกนิ่งตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นมา ราคายาง ก็อ่อนตัวลงอีก แนวโน้มปีนี้ช่วงต้นปีมองว่า จะไซด์เวย์แกว่งในกรอบแคบ ๆ ไม่คิดว่าจะสูงกว่าปีที่แล้ว ราคาเฉลี่ยของปีที่แล้วยางแท่ง STR 20 ตันละ 1,700 เหรียญสหรัฐ ประมาณ กก.ละ 55 บาท ปีนี้ถ้าจะปรับตัวขึ้นด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ ไม่น่าจะสูงกว่าปีที่แล้ว ถ้าดีน่าจะอยู่ในแนวโน้มใกล้เคียงกัน

 แต่ถ้าราคาจะต่ำกว่าเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เมื่อดูจากข้อมูลซัพพลาย-ดีมานด์สิ้นปี 2014 พบแต่โอเวอร์ดีมานด์ เมื่อ ดูไตรมาสแรกปีนี้มีโอเวอร์ซัพพลาย แต่ไม่ถึงขั้น 4-7 แสนตัน ยังใกล้เคียงกันมาก ดังนั้น คิดว่าราคายางปีนี้ไม่น่าจะสูงกว่า ปีที่แล้ว ส่วนยางแผ่นรมควันในไทยคงอยู่ในระดับ กก.ละ 60 บาท ขณะที่ราคาส่งออกที่ตลาดซื้อขายล่วงหน้าโตเกียว (TOCOM) ประมาณ กก.ละ 188-197 เยน

 ที่ผ่านมา ตัวเลขซัพพลายถูกตัดไปโดยธรรมชาติ จากราคาที่ตกต่ำต่อเนื่อง มีการโค่นยางแก่ เกษตรกรมีการลดต้นทุนหลายอย่างทำให้ผลผลิตออกมาน้อยลง ส่วนผู้รับจ้างกรีดยางได้ค่าแรงต่ำกว่า 300 บาท/วัน หนีไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมอื่น

 * การปรับตัวของไทยเพื่อแข่งในตลาดโลก
 หลัก ๆ ยางธรรมชาติยังขึ้นอยู่กับดีมานด์ ซัพพลาย แผนระยะสั้น กลาง ยาวของไทยที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้ ควรเพิ่มมูลค่าสินค้า แปรรูปเป็นยางล้อรถยนต์ นำไปราดถนน ผลิตถุงมือยาง ถุงยาง อนามัย ควรมีการสนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มดีมานด์ และอีกอย่างต้องควบคุมซัพพลาย เพื่อให้เป็นระเบียบ เช่น การให้เงื่อนไข ที่จูงใจในการโค่นยางแก่

 ทุกอย่างขึ้นอยู่กับดีมานด์ ซัพพลาย ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาของรัฐบาลในอดีต โดยการแทรกแซงซื้อยางในราคาแพงกว่าตลาด ถือว่าเป็นแผนระยะสั้นมาก ๆ ดูเหมือนจะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นในระยะสั้น แต่สุดท้ายก็สู้ราคาตลาดไม่ไหว ราคาตลาด 40 บาท/กก.แต่ซื้อมา 60 บาท/กก. ขายก็ขาดทุน นโยบายระยะสั้นมาก ๆ เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด

 วิธีการนี้ทำให้ผู้ซื้อรายอื่นต้องขยับราคาซื้อเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการ การเล่นด้วยราคาจึงไม่ถูกหลัก การเล่น ที่สร้างสรรค์ คือ การเพิ่มดีมานด์ดีที่สุด
 เมื่อรัฐซื้อมาแพง บางครั้งต้องตัดขาย ขาดทุน คือ จะยอมเจ็บตัวหรือเปล่า อย่างที่สองคือ เพิ่มดีมานด์ ถามว่าใครจะเอาไปทำอะไรบ้าง แล้วเอายางที่อยู่ในสต๊อก ออกไปให้หมด เป็นยางปูพื้นสนามบาสเกตบอล ระบายไปผลิตเป็นสินค้าแปรรูปดีที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะกล้าตัดขายขาดทุนหรือไม่

 * ผลการรวมตลาด AFET กับ TFEX
 ฟีดแบ็กเท่าที่ฟังมา มีสภาพคล่องน้อยมาก จำนวนปริมาณการซื้อขายก็น้อยมากถ้าเทียบกับตลาดซื้อขายล่วงหน้าของสิงคโปร์ หรือ TOCOM ของญี่ปุ่น อีกอย่างการเทรดด้วยเงินบาท ซึ่งไม่ใช่เงินสกุลหลัก ก็ทำให้การซื้อขายต่ำไปด้วย

 * แผนการลงทุนของกลุ่มศรีตรังฯ
 เราเน้นการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปี 2015 ลงทุนสร้างโรงงานเพิ่มอีก 4 โรง เป็นโรงงานยางแท่ง STR 20 จำนวน 2 โรงและโรงงานยางแท่ง SIR ที่อินโดนีเซียอีก 1 โรง และโรงงานยางแท่งที่พม่าอีก 1 โรง ปี 2014 ที่ผ่านมา มีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 1.4 ล้านตัน ขายได้ 1.2 ล้านตัน สำหรับปีนี้ตั้งเป้ากำลังการผลิต 1.5 ล้านตัน คาดว่าจะขายได้ใกล้เคียงกับ ปีก่อน และปี 2016 ตั้งเป้าผลิตกำลังการผลิต 1.6 ล้านตัน ยอดขายจะตกประมาณ 80% ของกำลังการผลิต ปัจจุบันมีส่วนแบ่ง ในตลาดโลก 10% ในอนาคตตั้งเป้ามี ส่วนแบ่งตลาดโลก 12%

 ธุรกิจต้นน้ำ เราซื้อที่ดินปลูกยางได้ ครบ 5 หมื่นไร่แล้วอยู่ในภาคเหนือทั้งหมด เรามีที่ดินในภาคเหนือเกือบครบทุกจังหวัด ยกเว้นเพียง 3 จังหวัดในภาคเหนือ ที่ยังไม่มีที่ดิน โดยเราไล่ซื้อที่ดินแปลงละ 700-800 ไร่บ้าง 1,000-2,000 ไร่บ้าง สูงสุดแปลงละ 4,000 ไร่ ใช้เวลาซื้อ นาน 5 ปี ซึ่งราคาที่ดินขึ้นเร็วมาก ผ่านไป 3-4 ปี ราคาขึ้น 3-4 เท่า มีคนมาเสนอขายจำนวนมาก เราใช้เวลารวบรวมนาน เพราะต้องการซื้อที่ดินถูกกฎหมายที่มี โฉนดเท่านั้น จึงต้องใช้เวลาลงไปตรวจสอบ ก่อนซื้อพอสมควร และปลายปีนี้จะเริ่ม กรีดยางลอตแรกได้ประมาณ 170 ไร่ ช่วงนี้ต้องศึกษาไปในตัวว่า มีผลดี ผลเสียอย่างไร หากว่าดี และคุ้มค่า จะลงทุนเพิ่ม

 ธุรกิจกลางน้ำ เราทำอยู่แล้ว ขณะนี้ มีโรงงานทั้งหมด 29 แห่ง แยกเป็นโรงงานผลิตยางแผ่น 6 แห่ง โรงงานผลิต น้ำยางข้น 7 แห่ง ที่เหลือเป็นโรงงานผลิต ยางแท่ง โรงงานตั้งในต่างประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย 3 แห่ง เมียนมาร 1 แห่งที่มูด้ง ในรัฐของกะเหรี่ยง โดยโรงงานที่ประเทศเมียนมาร แรงงานยังพอมี เพราะประชากรมีจำนวนมาก ค่าแรงรายวัน อยู่ที่ 150 บาท ส่วนกัมพูชาและ สปป.ลาว ค่อนข้างขาดแคลนแรงงาน เพราะเข้ามาทำงานในไทยจำนวนมาก เนื่องจากค่าแรงวันละ 300 บาท ส่วนเวียดนาม เรามีบริษัทเทรดดิ้งรับซื้อยางไปส่งออก

 ธุรกิจปลายน้ำ มีโรงงานผลิตถุงมือยาง 4 โรงงานอยู่ที่หาดใหญ่ 3 โรงและสุราษฎร์ธานี 1 โรง กำลังการผลิต รวม 1.4 หมื่นล้านชิ้น ธุรกิจผลิตยาง ราวบันไดเลื่อน ส่วนธุรกิจผลิตยางล้อ รถยนต์ เราไม่ทำ ต้องดูดี ๆ เพราะอาจจะเกิด Conflict of Interrest กับลูกค้า 200 กว่าราย ลูกค้าที่ทำยางล้อรถยนต์ เป็นลูกค้าเราทั้งหมดในโลกนี้ ไม่อย่างนั้น จะดูเหมือนไปผลิตสินค้าแข่งกับลูกค้า เรื่องนี้ต้องศึกษาให้ดี ๆ ว่า มีผลดี ผลเสียอย่างไร นี่คือ เหตุที่เราไม่เข้าสู่ ธุรกิจยางล้อ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตรายใหญ่ที่ซื้อจากเรา เช่น บริดจสโตน มิชลิน กู๊ดเยียร์ แต่เรากระจายความเสี่ยงไม่ขาย ให้รายใดรายหนึ่งเกิน 8% ของ 1.2 ล้านตัน/ปี ถ้าเริ่มเข้า 8% เมื่อไหร่จะเริ่มมอนิเตอร์
 * ปริมาณการซื้อขายค่อนข้างมาก บริหารความเสี่ยงอย่างไร

 เรามีจุดรับซื้อที่มากกว่าคู่แข่ง แล้วจะขยายต่อเนื่อง เรื่องการบริหารความเสี่ยงในการซื้อขาย ต้องดูราคาที่ซื้อขายในตลาดและราคาที่ควรจะรับซื้อ เรามี CSR จะไม่กดราคารับซื้อจนเกินไป ต้องอยู่ด้วยกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย เป็นนโยบายกรีนซัพพลาย จะไม่กดราคารับซื้อ

 ปีที่แล้วบริษัทขายปริมาณ 1.2 ล้านตัน มูลค่า 7.5 หมื่นล้านบาท เพราะราคายางตกต่ำ เราเคยมียอดขาย 1 แสนล้านบาทช่วงยางราคาดี โดยขายปีละ 9 แสนกว่าตันถึง 1.1 ล้านตันต่อปีมาแล้ว ปริมาณการขายเพิ่ม 7% แต่ราคายางในปีที่ผ่านมา ตกลงถึง 30% ไม่สามารถชดเชยกันได้ ปัจจุบันกลุ่มศรีตรังมีพนักงานของกลุ่มบริษัททั้งในประเทศไทย และต่างประเทศมีทั้งหมดประมาณ 1.2 หมื่นคน--จบ--



      ประชาชาติธุรกิจ (Th)