ผู้เขียน หัวข้อ: ข่าวด่วน กูรูฟันธง"กนง."คงดอกเบี้ย** ชะลอบาทอ่อนค่าเร็ว หวั่นเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน  (อ่าน 314 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84886
    • ดูรายละเอียด
กูรูฟันธง"กนง."คงดอกเบี้ย** ชะลอบาทอ่อนค่าเร็ว หวั่นเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน


สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -4 ส.ค. 58 6:54: น.


นักวิเคราะห์ประสานเสียง กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ในการประชุม 5 ส.ค.นี้ เหตุเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าภูมิภาค การส่งออก-ลงทุนภาครัฐ มีโอกาสฟื้นตัวครึ่งปีหลัง ลดทอนความจำเป็นในการใช้ดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ หวั่นเร่งลดดอกเบี้ยสวนทางเฟด กระทบเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนหนัก ด้านโบรกฯคาดเงินบาทส่อแววอ่อนค่าลงต่อเนื่อง สิ้นปีนี้แตะ 36 บาทต่อดอลล์ ปีหน้า 36.5 บาทต่อดอลล์
             ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 5 ส.ค.นี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีกำหนดประชุมพิจารณาทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งนักวิเคราะห์หลายสำนักให้ความเห็นตรงกันว่าการประชุมในครั้งนี้ กนง. อาจเลือกคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลงแล้ว จนแตะระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ มากกว่าค่าเงินอื่นในภูมิภาค ขณะที่การส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงเครื่องปีหลัง ซึ่งจะเป็นปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้
             อย่างไรก็ตาม มีโอกาสพอสมควรที่ กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% เหลือ 1.25% เพื่อเป็นมาตรการเสริมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังต้องเผชิญปัญหาภัยแล้ง รวมถึงปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันโลกตกต่ำ และมาตรการดูและด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าของไทยที่ล้วนแต่กดดันความสามารถในการส่งออกของไทยในระยะที่เหลือของปีนี้ ขณะเดียวกันมีมุมมองว่า หาก กนง.ต้องการลดดอกเบี้ย ควรดำเนินการในการประชุมรอบนี้ เพราะหากไปปรับลดในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 16 ก.ย.58 ก็จะตรงกับการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ที่อาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้นโยบายการเงินของไทยและสหรัฐฯสวนทางกันชัดเจน และอาจส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย(Fund Flow)ให้มีความผันผวนมากขึ้น
 
*** ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ฟันธง กนง.คงดอกเบี้ย
             ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เป็นอีกครั้งที่ กนง.มีความยากลำบากในการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ย เนื่องจากเหตุผลสนับสนุนการ ?คง? อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีน้ำหนักไม่หนีไปจากทางเลือกในการ ?ลด? อัตราดอกเบี้ยนโยบายมากนัก ดังนั้น กนง.อาจเลือก ?คง? อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่อง หากต้องการรอดูพัฒนาการทางเศรษฐกิจอีกระยะหนึ่ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ
             ประการแรก เงินบาทได้อ่อนค่าลงค่อนข้างมากในระยะที่ผ่านมา โดยนับจากช่วงที่ กนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมีนาคม 58 เงินบาทได้อ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 7% และปัจจุบัน ได้อ่อนค่านำเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งเมื่อประกอบกับพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวในจังหวะที่เร่งขึ้น หลังสถานการณ์ความกังวลต่อประเด็นกรีซได้คลี่คลายลง ก็น่าจะช่วยพยุงให้การส่งออกไทยทยอยปรับดีขึ้นได้บ้างในช่วงเดือนข้างหน้านี้
             ขณะที่ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม จะไม่เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงเร็วจนเกินไป และมีผลทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนกว่าเงินสกุลภูมิภาค (ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาความผันผวนของค่าเงินบาทปรับเพิ่มขึ้นจาก 5.5% ในช่วงต้นเดือน ก.ค. 58 เป็น 7.5% ณ วันที่ 3 ส.ค. 58 อันเป็นการปรับขึ้นที่สูงกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ) ซึ่งเป็นประเด็นเชิงเสถียรภาพที่ กนง.ให้น้ำหนักเช่นเดียวกัน
ประการที่สอง ภาครัฐคงจะเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายอย่างเต็มกำลังในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 58 ในเม็ดเงินที่ยังเหลืออีกกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่านอกจากจะเป็นไปตามแผนที่แต่ละกระทรวงผูกพันไว้แล้ว ก็ยังน่าจะใช้รองรับการเยียวยาเกษตรกรและผู้ประสบภัยแล้ง ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ การหมุนของเม็ดเงินจากภาครัฐลงสู่ระบบเศรษฐกิจดังกล่าว คงจะช่วยฟื้นฟูการใช้จ่ายและลงทุนของภาคเอกชนได้ส่วนหนึ่ง
             ดังนั้น ภายใต้มุมมองดังกล่าว กนง.จึงอาจเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน เพื่อให้อีกสองแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เหลือ เป็นแกนหลักในการผลักดันการใช้จ่ายในประเทศในระยะนี้ ขณะที่ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)จะมีการรายงานข้อมูลจีดีพีประจำไตรมาส 2/2558 ซึ่งจะช่วยยืนยันความเหมาะสมของท่าทีเชิงนโยบายในปัจจุบัน และที่ควรจะดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่ามากที่สุดเมือเทียบกับประเทศต่างๆ นับตั้งแต่ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน มี.ค. 58 ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
 
*** ไม่ปิดโอกาส "เซอร์ไพรส์"หั่นดอกเบี้ย
             อย่างไรก็ตาม "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" มองว่า ทางเลือกในการปรับ ?ลด? อัตราดอกเบี้ย ในการประชุมรอบนี้ก็มีความเป็นไปได้ เพื่อเป็นมาตรการเสริมทัพในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ท่ามกลางหลายปัญหาที่รุมเร้าชัดเจนขึ้นจากการประชุมครั้งก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้ง รวมถึงปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันโลกที่ตกต่ำ และมาตรการดูและด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าของไทยที่ล้วนแล้วแต่กดดันความสามารถในการส่งออกของไทยในระยะที่เหลือของปีนี้
             ทั้งนี้ การประชุม กนง.ในรอบนี้จะเป็นรอบสุดท้าย ก่อนที่เฟดอาจพิจารณาปรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 16-17 กันยายน ซึ่งถ้าหากเฟดเลือกขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริงตามที่ตลาดคาดการณ์ ก็จะทำให้เงินบาทผันผวนแรงขึ้นตามจังหวะการทยอยลดพอร์ตสินทรัพย์สกุลเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ อันจะทำให้การผ่อนคลายนโยบายการเงินของไทยในระยะหลังจากนั้น เผชิญโจทย์เชิงเสถียรภาพที่ซับซ้อนขึ้นอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
             จริงอยู่ว่า การทำงานของกลไกการส่งผ่านของการลดอัตราดอกเบี้ยไปสู่อัตราดอกเบี้ยตลาดและสถาบันการเงินในจังหวะนี้ อาจไม่ได้เห็นผลในทันที ท่ามกลางต้นทุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อที่ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ทว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำลง คงเล็งผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจที่ดีกว่า ผ่านแรงส่งของเงินบาทที่จะทยอยอ่อนตัวลงอีก ซึ่งจะหนุนกิจกรรมภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศที่ยังไม่น่ากังวล และความมั่นคงเชิงเสถียรภาพต่างประเทศของไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ดังจะเห็นได้จากระดับทุนสำรองต่างประเทศของไทยที่ยังมีปริมาณสูงกว่าภาระผูกพันระยะสั้น (เป็นผลรวมของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น มูลค่าการนำเข้าเฉลี่ย 3 เดือน และการหนุนหลังธนบัตรที่ออกใช้หมุนเวียน) ถึงกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท)
             โดยสรุปแล้ว ด้วยเงื่อนเวลาของจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่กำลังงวดเข้ามาทุกที ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญคลื่นลมแรงหลายด้านพร้อมๆ กันนั้น ทำให้การตัดสินใจเชิงนโยบายของ กนง.ในรอบนี้มีความท้าทายมากกว่าหลายรอบก่อนๆ หน้า
             กระนั้นก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กนง.สามารถเลือก ?คง? อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ไว้ที่ระดับเดิมได้ เพื่อรอความชัดเจนของภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะจากการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2558 ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ ตลอดจนการเดินหน้ามาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายอย่างเต็มกำลังในช่วงโค้งสุดท้ายของปีงบประมาณ 58 และผลของค่าเงินบาทต่อการส่งออก โดยที่อาจต้องเผื่อแนวทางเสริมรองรับไว้ หากสุดท้ายแล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ยังไม่ดีขึ้นชัดเจนตามที่คาดหวัง
             ทั้งนี้ แม้ กนง. จะยังสามารถเลือกปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อยู่ แต่ด้วยภาพที่ เฟดอาจเริ่มจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว ก็อาจลดทอนน้ำหนักและประโยชน์จากการปรับอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาดังกล่าวลงได้
 
*** ทิสโก้ คาดกนง.ตรึงดอกเบี้ยที่ 1.5% ตลอดปี-บาทอ่อนแตะ 36 บาทต่อดอลล์
             ด้านบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ คาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ในการประชุมวันที่ 5 ส.ค.นี้ เนื่องจากรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. ชี้ว่า GDP ไตรมาส 2/58 จะขยายตัวราว 3%YoY/0.8% QoQ โดยมีปัจจัยหนุนจากการนำเข้าที่หดตัวแรง ช่วยหนุนการส่งออกสุทธิ ด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนที่แล้ว การลงทุนทรงตัวในระดับต่ำแต่มีแนวโน้มที่สดใสขึ้น และภาคการท่องเที่ยวยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าจะช่วยลดความต้องการที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทิสโก้มองว่าเงินบาทจะแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 58 และอ่อนค่าลงต่อสู่ 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปลายปี 59 ทั้งนี้จากปัจจัยที่กล่าวข้างต้น มองว่ามีโอกาสน้อยที่จะเห็น GDP ไตรมาส 2 และ 3 หดตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ดังนั้น กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ตลอดปี 58
 
*** เอเชีย เวลท์ เชื่อ กนง.คงดอกเบี้ยรอบนี้-แต่อาจปรับลดรอบหน้า
             นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ซึ่งในมุมมองของ บล.เอเชีย เวลท์ คาดว่า กนง. จะยังไม่ลด เนื่องจากปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าลงมากว่า 4% จาก 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถ้าลดดอกเบี้ยตอนนี้ จะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปอีก ซึ่ง กนง.น่าจะดูผลของการลดดอกเบี้ยคราวก่อนและการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลต่อเศรษฐกิจ ก่อนที่จะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป

*** ดีบีเอสฯชี้ กนง.ควรลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้
             บริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอสวิคเคอร์ส ประเมินว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% จากปัจจุบันที่ 1.50% เป็น 1.25% แล้วทรงไปถึงสิ้นปีนี้ โดยการปรับลงอาจจะเป็นในการประชุมครั้งนี้(5 ส.ค.58)เลย เพราะหากมีการปรับลดในการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 16 ก.ย.58 ก็จะตรงกับการประชุมเฟด ที่มีโอกาสที่ทางฝั่งสหรัฐจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายการเงินของไทยและสหรัฐก็จะสวนทางกันอย่างชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย (Fund Flow) ให้มีความผันผวนมากขึ้น
             สำหรับหุ้นกลุ่มที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย เช่น ธนาคารพาณิชย์, ที่พักอาศัย ฯลฯ เห็นว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์อาจได้รับผลกระทบทางลบระยะสั้นบ้าง แต่ไม่มาก เพราะคาดว่าอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแค่บางประเภทเพื่อรักษา NIM ส่วนกลุ่มที่พักอาศัย ก็อาจได้รับผลดีจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นไม่มาก เพราะความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังต่ำและธนาคารก็ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อที่พักอาศัย


เรียบเรียง โดย ประน้อม บุญร่วม  
                อีเมล์. reporter@efinancethai.com