ผู้เขียน หัวข้อ: กำจัดจุดอ่อน ยุทธศาสตร์ยางไทย  (อ่าน 764 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด
กำจัดจุดอ่อน ยุทธศาสตร์ยางไทย
« เมื่อ: มิถุนายน 02, 2015, 10:23:45 AM »
กำจัดจุดอ่อน ยุทธศาสตร์ยางไทย

 
 โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 2 มิ.ย. 2558 05:01

  

 รัฐบาลนายกฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินหน้าแก้ปัญหาราคายางตกต่ำผ่านหลายมาตรการ พุ่งเป้าคลี่คลายปัญหาปากท้องเกษตรกรชาวสวนยาง ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
เชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) บอกว่า การดำเนินงานแก้ปัญหาราคายางตกต่ำที่รัฐบาลดำเนินการมี 16 โครงการ นับตั้งแต่การชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน สินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา จัดหาตลาดใหม่ ควบคุมการผลิต พัฒนาตลาด มูลภัณฑ์กันชน อาชีพเสริม ฯลฯ ถึงวันนี้นับว่าประสบความสำเร็จ
?เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีความพอใจ ราคายางในตลาดท้องถิ่น...ตลาดประมูลก็ปรับตัวสูงขึ้น ยางแผ่นดิบตลาดท้องถิ่นปรับจากกิโลกรัมละ 44.30 บาท...เป็น 52.50 บาท ขยับขึ้นมากิโลฯละ 8.20 บาท ส่วนน้ำยางก็ขึ้นจากกิโลกรัมละ 38.50 บาท เป็น 60 บาท...เพิ่มขึ้น 21.650 บาท?
เชาว์ สะท้อนว่า การปรับตัว การซื้อขายที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ คาดว่าในอนาคตราคายางจะมีทิศทางเชิงบวก อาจจะปรับตัวสูงขึ้นได้อีก อย่างไรก็ตาม เกษตรกรชาวสวนยางก็อย่ายิ่งนอนใจต้องเตรียมตัวรับสถาน-การณ์ที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้อยู่ได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
ตัวอย่างเป็นรูปธรรมจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ กระตุ้นกำลังซื้อเกษตรกรที่ดำเนินการไปแล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 21 ต.ค.57 โดยจ่ายชดเชยเกษตรกรในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิตามที่กำหนดในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ มีเกษตรกรขึ้นทะเบียน 899,681 ครัวเรือน
จ่ายเงินแล้ว 767,216 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 85.27...วงเงิน 7,701.50 ล้านบาท
สนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม เป้าหมาย 100,000 ครัวเรือน ครัวเรือนละไม่เกิน 100,000 บาท... วงเงิน 10,000 ล้านบาท มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการใน 64 จังหวัด 111,210 ครัวเรือน ธ.ก.ส.อนุมัติแล้ว 17,736 ครัวเรือน ในพื้นที่ 43 จังหวัด...วงเงิน 1,610.17 ล้านบาท
ถัดมา...สนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบ รวมยางพาราวงเงิน 10,000 ล้านบาท เป้าหมายสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน 994 แห่ง
และ มูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง เพื่อสร้างมาตรการ เสริมในการรักษาระดับราคายาง สนับสนุนเงินทุนให้ อ.ส.ย. หรือ องค์การสวนยาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ารับซื้อยางชี้นำตลาด ผ่านกลไกตลาดกลางยางพาราแต่ละจังหวัด และดำเนินการด้านการประมูลยางในตลาดกลางยางพารา
ปริมาณยางที่ประมูลได้ในภาพรวม 143,402.24 ตัน...จำนวนเงิน 8,553.30 ล้านบาท
?ยางพารา?...หนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ 22 ล้านไร่...ครอบคลุมกว่า 65 จังหวัด และมีเกษตรกรประกอบอาชีพทำสวนยางราว 1.5 ครัวเรือน
ในแต่ละปี ?ยาง? สร้างรายได้จากการส่งออกไม่น้อยกว่าสี่แสนล้านบาท ?ยุทธศาสตร์แผนพัฒนายางพาราไทยทั้งระบบ? จะนำไปสู่ความยั่งยืน เราต้องไม่ลืมว่าราคายางพาราไทยในยุคตกต่ำสุดๆ จนเรียกว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ จากที่เคยมีราคาแตะกิโลกรัมละ 180 บาท ในปี 2554... เหลือเพียง 3 กิโลฯ 100 บาทมาแล้ว
บุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย สะท้อนมุมมองส่วนตัวเกี่ยวกับปัญหาราคายางตกต่ำและมาตรการแก้ปัญหายางพารา ไทย เอาไว้น่าสนใจ
บุญส่ง มั่นใจว่าหลังจากที่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย ที่กำลังใกล้คลอดมีผลบังคับใช้แล้ว และถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่ส่งผลให้ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวกับยางพาราถูกยุบลงโดยปริยาย นั่นก็คือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง มารวมเป็นหน่วยงานใหม่ คือ... ?การยางแห่งประเทศไทย? หรือ ?กยท.?
กยท. จะเป็นองค์กรนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.การยางฯ ฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยเฉพาะมาตรา 17 ที่เปิดโอกาสให้ตัวแทนของเกษตรกรมีสิทธิเข้าไปบริหารในการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ถึง 5 คน จากเดิมสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เพียง 1 คน และให้นายกฯเป็นผู้แต่งตั้งด้วย
ส่วนมาตรา 49 ว่าด้วยการจัดสรรเงินสงเคราะห์ หรือ เงินเซส (CESS) ซึ่งเป็นเงินของชาวสวนยาง ที่ใช้สำหรับชดเชยให้ชาวสวนใช้ในการปลูกยางใหม่ทดแทนยางเก่าที่หมดอายุ...ใน อนุมาตรา 5 ว่าด้วยสวัสดิการของเกษตรกร ในส่วนนี้จะจัดให้เป็นเงินสวัสดิการการเกษตรได้ไม่เกิน 7%
ตามอนุมาตรา 6 เป็นเงินสวัสดิการสถาบันเกษตรกรได้ไม่เกิน 3% รวมแล้วเกษตรกรมีส่วนที่จะได้รับประโยชน์จากเงินสงเคราะห์ถึง 10% ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์
เชื่อว่า พ.ร.บ การยางฯ นี้ เป็นเครื่องมือให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางสร้างความสุขและสร้างความมั่นคงใน อาชีพได้ดี...ประเด็นต่อมาที่สำคัญเรื่องโครงสร้างระบบยางต้องถูกบูรณาการ ไม่ว่าปัญหาราคายางที่ตกต่ำมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ดี ความต้องการซื้อ-ขาย ดีมานด์...ซัพพลาย ล้วนเป็นตัวกำหนด...ต้องช่วยกันหาวิธีแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไร
อีกเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ก็คือการกำหนดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกยางพารา พื้นที่ไหนปลูกได้ดี...พื้นที่ไหนปลูกไม่ดี ก็ต้องไปปลูกอย่างอื่น เพราะเราจะสามารถกำหนดคุณภาพยางได้ ส่วนผลผลิตจากการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าก็ต้องดูเรื่องการส่งออกด้วย อย่างปัจจุบันเราส่งยางออกคิดเป็นร้อยละ 86% ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบ และที่แปรรูปแล้วคิดเป็นร้อยละ 14%...จะเห็นว่ามูลค่าการส่งออกเท่ากันเลย
?ถึงเวลาแล้วเราต้องกลับมาทบทวนถึงบทบาทหน้าที่องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรมในฐานะนายกสมาคมฯ เรามั่นใจกับรัฐบาลท่านพลเอกประยุทธ์ที่เข้ามากำกับดูแลอย่างจริงจัง?
?มาตรการสวนยางรุกป่า? เป็นอีกเรื่องที่สะท้อนความจริงใจในการแก้ปัญหาของรัฐบาลนี้ บุญส่ง ในฐานะคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) บอกว่า ที่ประชุมได้ทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการกวดขันผู้ที่เข้ามาปลูกยางรุกป่าสงวน ซึ่งก็มีทั้งกลุ่มนายทุนและกลุ่มเกษตรกร
?ท่านนายกฯประยุทธ์จะกวดขันเป็นพิเศษโดยเฉพาะกลุ่มนายทุนรายใหญ่ โดยใช้มาตรการเด็ดขาดยึดพื้นที่คืน...โค่นยาง ส่วนเกษตรกรรายย่อยให้มีการจัดระเบียบอย่างจริงจัง ดูว่าพื้นที่ที่เขาทำมาหากินได้พิสูจน์ สิทธิหรือยัง...ยังคาราคาซังกันอยู่หรือเปล่า หรือมองว่าป่าสงวนทับพื้นที่เกษตรกรด้วยไหม...?
มติ ครม.รัฐบาลที่ผ่านมาให้มีการพิสูจน์สิทธิเกษตรกรรายย่อยด้วย ซึ่งรัฐบาลนี้ก็มองว่าการจัดระเบียบใหม่ต้องควบคู่ไปกับการได้มาซึ่งสิทธิ การครอบครองพื้นที่ว่าสุจริตไหม...ได้มาอย่างไร ท่านนายกฯบอกว่า รัฐบาลก็เหมือนพ่อแม่ พี่น้องเกษตรกรก็เหมือนลูกที่ต้องคอยดูแลตลอดเวลา พ่อแม่ไม่ทำร้ายลูก
?ลูกคนไหนเกเรต้องมาอบรมสั่งสอน...จัดระเบียบกันใหม่ เราถือว่าสังคมต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ให้ทุกคนมีกินมีใช้กันทั่วหน้า อย่ามองว่า ถ้าผิดแล้วก็ต้องจับเลย ต้องดูเป็นกรณีไปว่าเขาทำมาหากินโดยสุจริตไหม?
คืนความสุข ลดเหลื่อมล้ำ ไม่สร้างรอยร้าวเพิ่ม...ไม่ซุกปัญหาไว้ใต้พรม หากทำได้จริงในภาพรวม ความปรองดองคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม.