ผู้เขียน หัวข้อ: 3 บิ๊กยางภาครัฐ "สกย.-อ.ส.ย.-สถาบันวิจัยยาง" เร่งควบรวมตั้งสภาการยางแห่งประเทศไทย  (อ่าน 772 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84890
    • ดูรายละเอียด
3 บิ๊กยางภาครัฐ "สกย.-อ.ส.ย.-สถาบันวิจัยยาง" เร่งควบรวมตั้งสภาการยางแห่งประเทศไทย


                  3 บิ๊กยางภาครัฐ "สกย.-อ.ส.ย.-สถาบันวิจัยยาง" เร่งควบรวมตั้งสภาการยางแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจน้องใหม่ ดูแลยางทั้งระบบสร้างเสถียรภาพราคา เดินหน้าเต็มสูบ ปรับโครงสร้างอัตรากำลังใหม่ บิ๊ก อ.ส.ย.ฝัน การบริหารงานง่ายเทียบชั้นบริษัทมหาชน ขณะยางดิ่งเก็บเงินเซสส์วูบประสิทธิ์ หมีดเส็น นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งสภาการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท.ที่จะรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับยางพาราทั้งหมดของรัฐบาลมาอยู่ภายใต้การจัดการขององค์กรเดียว


                ประกอบด้วย สกย. สถาบันวิจัยยาง และองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ว่า ขณะนี้ทั้ง 3 หน่วยงานอยู่ระหว่างบูรณาการเพื่อจัดโครงสร้างใหม่เพื่อรวมกันเป็นหนึ่งเดียว จากภารกิจเดิมที่แต่ละฝ่ายปฏิบัติจะแบ่งเป็นแผนกในการทำงาน สำหรับในเรื่องของเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมการส่งออกยางเพื่อใช้สงเคราะห์ชาวสวนยาง หรือเงินเซสส์นั้น จะโอนไปอยู่ที่กองทุนพัฒนายาง ของกยท. ทั้งนี้ผลการจัดเก็บเงินเซสส์ในปีงบประมาณ 2557 คาดการจัดเก็บจะลดจากปีงบประมาณ 2556 ประมาณ 10-20% จากปีงบประมาณ 2556 เก็บเงินเซสส์ได้กว่า 5 พันล้านบาท สาเหตุมาจากราคายางตกต่ำขายได้ไม่เกินกิโลกรัมละ 60 บาททำให้เก็บเงินเซสส์ได้เพียง 1.40 บาท/กิโลกรัม พลาดเป้าจากที่ตั้งไว้จะเก็บอัตราเงินเซสส์ทั้งปีกิโลกรัมละ 2 บาท ด้านนายอรุณ เลิศวิไลย์ กรรมการองค์การสวนยาง ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) กล่าวว่า ทาง อ.ส.ย. ได้เตรียมความพร้อมในการรวมเป็น กยท.

                  โดยขณะนี้มีทีมงานอยู่ระหว่างการสำรวจทรัพย์สิน อัตรากำลัง ระเบียบข้อบังคับ โดย 3 หน่วยงานที่จะมารวมกันแล้ว จะมีลักษณะคล้ายกับบริษัทมหาชน ที่มาผสมผสานกัน ทั้งฝ่ายผลิต การทำงานแบบวิจัยและพัฒนา( R&D) และการทำตลาด โดยจะทำหน้าที่ส่งเสริมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะทำให้การผลักดันอุตสาหกรรมยางเป็นรูปธรรมและบริหารงานง่ายขึ้น ขณะที่นายพิเชฏฐ์ พร้อมมูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึง

                  โครงสร้างของสถาบันวิจัยยาง จะแยกบุคลากรออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายควบคุมยาง จะอยู่กับกรมวิชาการเกษตรต่อไป ส่วนเจ้าหน้าที่กำลังสำรวจความต้องการว่าจะอยู่กับกรมวิชาการเกษตร หรือจะเลือกไปอยู่กับ กยท. ให้สมัครใจไม่ได้บังคับ ทั้งนี้สาระสำคัญของ พ.ร.บ.การยาง กฎหมายจะดูแลเรื่องยางโดยรวมครบวงจรทั้งอุตสาหกรรม นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการและในฐานะโฆษก สกย. กล่าวถึงรูปแบบการบริหารของ กยท. จะแบ่งรายได้ในการบริหารออกเป็น 6 ส่วนได้แก่ 1. นำไปเป็นค่าใช้จ่ายสงเคราะห์เกษตรกรเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทน 40% 2.ค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน 10% 3.ค่าใช้จ่ายในการค้นคว้า งานวิจัย 5% 4.ส่งเสริมสถาบันเกษตรกรให้แปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง 35% 5. การพัฒนาสถาบันเกษตรกร 3% และ 6. สวัสดิการพนักงาน 7% ล่าสุดคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... ได้พิจารณา 76 มาตราเรียบร้อยแล้ว กำลังดำเนินการทบทวน จากนั้นจะลงมติเห็นชอบโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร็วๆ นี้ อนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ...


                  องค์ประกอบของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย มีจำนวน 15 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงทางด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม หรือการบริหาร 2.กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้แทนสำนักงบประมาณ 3.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน 4. ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 3 คน ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 2 คน ผู้ประกอบกิจการยาง จำนวน 1 คน และบุคคลซึ่งมีความรู้เชี่ยวชาญ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม การบริหารและกฎหมาย จำนวน 1 คน



แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 20, 2015, 04:25:29 PM โดย Rakayang.Com »