ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2558  (อ่าน 842 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84893
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันพฤหัสบดีที่  12  มีนาคม  พ.ศ. 2558


ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


- ภาคเหนือตอนล่างจนถึงภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองกับลมกรรโชกแรงบางแห่ง ขณะที่ภาคใต้มีอากาศร้อนในตอนกลางวันกับมีเมฆบางส่วน และฝนตกบางแห่งร้อยละ 10 ของพื้นที่ ไม่ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง


2. การใช้ยาง


- กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ยืนยันว่าแผนการผลิตรถยนต์ในประเทศปีนี้ยังคงเป็นไปตามที่วางไว้ โดยไม่มีแนวคิดจะปลดพนักงาน ซึ่งบริษัทคาดว่าในปีนี้ตลาดรวมรถยนต์ของไทยจะมียอดจำหน่ายราว 9.2 แสนคัน ขณะที่โตโยต้าคาดว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดราวร้อยละ 40.0 หรือมียอดจำหน่ายประมาณ 3.3 แสนคัน


- สมาคมผู้ผลิตรถยนต์จีนเปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 1.59 ล้านคัน ขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 1.63 ล้านคัน ลดลงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ยอดจำหน่ายรถยนต์ปรับตัวขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 3.91 ล้านคัน แต่หากเทียบเป็นรายเดือนพบว่า ยอดจำหน่ายเดือนกุมภาพันธ์ลดลงร้อยละ 31.3 และยอดการผลิตลดลงร้อยละ 28.7


3. เศรษฐกิจโลก


- รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานภาคเอกชนเดือนมกราคมปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน เป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เนื่องจากการทรุดตัวลงของภาคการผลิต


- ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB.) กล่าวว่า การที่ ECB. เข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่เริ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ได้ช่วยสกัดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในกรีซไม่ให้ลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ ในยูโรโซน


- ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 จากเดิมร้อยละ 2.00


- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 ดังนี้


ยอดค้าปลีกปรับตัวขึ้นร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สู่ระดับ 4.8 ล้านล้านหยวน อัตราการขยายตัวดังกล่าวชะลอลงจากร้อยละ 12.0 ในปี 2557
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบเป็นรายปี ชะลอตัวลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวในเดือนธันวาคม สำหรับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ปรับขึ้นร้อยละ 0.45 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม
การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขยายตัวร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี
4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.87 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.20 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- เงินเยนอยู่ที่ 121.58 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.26 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนเมษายน ปิดตลาดที่ 48.17 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.12 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA.) เปิดเผยสต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดในสัปดาห์ที่แล้ว


- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนเมษายน ปิดที่ 57.54 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.15 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในลิเบีย


- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA.) เปิดเผยว่า สต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่น้ำมันเบนซินลดลง และน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น ทั้งนี้สต๊อคน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านบาร์เรล จากที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.4 ล้านบาร์เรล


- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA.) ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ลงสู่ระดับ 52.15 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปีนี้ จากเดิมที่ประเมินไว้ 55.02 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่คาดว่าราคาเฉลี่ยปี 2559 จะอยู่ที่ 70.00 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่ 71.00 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล นอกจากนี้คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ โดยเฉพาะปี 2558 จะอยู่ที่ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2559


6. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนเมษายน อยู่ที่ 213.0 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.1 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 210.7 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.2 เยนต่อกิโลกรัม


- ตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 171.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 0.5 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


7. ข่าว


- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 มาอยู่ที่ 8.786 แสนล้านหยวน โดยลดลงร้อยละ 0 จากอัตราเติบโตตลอดปี 2557


8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ


- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นได้เพราะผลผลิตลดลงมาก ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนยังต้องการซื้อเพื่อเก็บสต๊อคในอีก 1 - 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะมีการหยุดกรีดในช่วงฤดูยางผลัดใบที่ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ยังมีวัตถุดิบจำนวนหนึ่งที่รอการเข้าซื้อขององค์การสวนยางครั้งใหม่


แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยมีปัจจัยบวกจากเงินเยนและเงินบาทอ่อนค่า ข่าวจีนตกลงซื้อยางพาราจากไทยจำนวน 2 แสนตัน ระหว่างปี 2558 - 2559 และอุปทานยางที่ลดลงตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม กระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนระมัดระวังในการซื้อขาย ยังเป็นปัจจัยเชิงลบต่อราคายางได้ในระดับหนึ่ง






ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา