วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ทั่วทุกภาคของประเทศมีอากาศร้อนกับมีเมฆบางส่วนและมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้ตอนบน ภาคกลาง และภาคตะวันออก ไม่ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง เพราะหลายพื้นที่มีการหยุดกรีดยางในช่วงฤดูยางผลัดใบ
2. การใช้ยาง
- ประธานบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRCo) เปิดเผยว่า ในฐานะตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุมสภาไตรภาคียางพารา (ITRC) ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 23 - 27 กุมภาพันธ์ 2558 ว่าทาง ITRC ซึ่งประกอบด้วย 3 ประเทศผู้ผลิตยางคือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีมติร่วมกันหยุดการขยายพื้นที่ปลูกยาง และโค่นต้นยางเก่าเพื่อปลูกยางใหม่ทดแทนในช่วง 6-7 ปีข้างหน้า เพื่อป้องกันปัญหายางล้นตลาด ทำให้ราคายางตกต่ำ โดยมีผู้แทนระดับสูงจากประเทศเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา เข้าร่วมประชุมด้วย สาระการประชุมมีดังนี้
ให้ ITRC เข้าเจรจากับจีน เพื่อบริหารราคายางให้มีเสถียรภาพ และเป็นธรรมทั้งผู้ซื้อและผู้ใช้ในระยะยาว
เดินหน้าตั้งตลาดกลางยางอาเซียน (Regional Rubber Market : RRM) กำหนดกรอบเวลาให้สำเร็จภายในพฤษภาคม 2559 เพื่อให้เป็นตลาดที่กำหนดราคายางพาราแท้จริง ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงตลาดซื้อขายล่วงหน้า เช่น TOCOM และเซี่ยงไฮ้
- บริษัทรถยนต์รายงานยอดจำหน่ายเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ จากภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แม้เผชิญกับภาวะอากาศที่หนาวเย็น โดยโตโยต้ามอเตอร์มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นิสสันเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และเจเนอรัลมอเตอร์ (GM) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2
3. เศรษฐกิจโลก
- สำนักงานสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคบริการเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 56.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม และสูงกว่าที่คาดว่าจะอยู่ที่ 56.5 บ่งชี้ว่าภาคบริการยังมีการขยายตัวได้ดี
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งระบุว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนมกราคมจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ยังคงขยายตัวในเกือบทุกภูมิภาคและทุกภาคส่วน
- ธนาคารกลางอินเดียปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่เหนือความคาดหมาย สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของธนาคารต่อการควบคุมเงินเฟ้อของรัฐบาล ทั้งนี้ธนาคารกลางอินเดียประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ร้อยละ 7.50 จากร้อยละ 7.75 และปรับลดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืนร้อยละ 6.50 จากร้อยละ 6.70
- สำนักงานปริวรรตเงินตราแห่งรัฐของจีน (SAFE) สถาบันการเงินของจีนได้รับเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สุทธิจำนวน 5.184 หมื่นล้านหยวน (8.44 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ) ในปี 2557 เพิ่มขึ้นจาก 2.649 หมื่นล้านหยวนในปี 2556
- นักลงทุนจับตาดูการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยคาดว่าที่ประชุมจะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ได้ประกาศไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
- HSBC โฮลดิ้งส์ เปิดเผยว่า ภาคบริการของจีนเดือนกุมภาพันธ์ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มาก โดยระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการอยู่ที่ระดับ 52.0 เพิ่มขึ้นจาก 51.8 ในเดือนมกราคม
- นายกรัฐมนตรีจีนได้แถลงการณ์ในการประชุมรัฐสภาประจำปีว่า จีนได้กำหนดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2558 ไว้ที่ร้อยละ 7.0 ลดลงจากเป้าหมายปี 2557 ที่ร้อยละ 7.5 น้อยกว่าการขยายตัวปี 2557 ที่ร้อยละ 7.4 และเป็นอัตราการขยายตัวที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2533
4. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 32.42 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.07 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 119.81 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.22 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
5. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนเมษายน ปิดตลาดที่ 51.53 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.01 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขานรับรายงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการขยายตัวในเกือบทุกภูมิภาค ซึ่งข้อมูลดังกล่าวช่วยสกัดปัจจัยลบจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ (EIA.) ที่ระบุว่าสต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ก่อน
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนเมษายน ปิดที่ 60.55 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.47 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
6. การเก็งกำไร
- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนเมษายน อยู่ที่ 219.0 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 2.6 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 216.4 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 3.1 เยนต่อกิโลกรัม
- ตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 180.8 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 0.7 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
7. ข่าว
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า เดือนมกราคมอัตราว่างงานเขตยูโรโซนอยู่ที่ร้อยละ 11.2 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 11.3 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นสถิติต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 ส่วนอัตราว่างงานของสหภาพยุโรป (EU.) เดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 9.8 ลดลงจากร้อยละ 9.9 ในเดือนธันวาคม
- ผลสำรวจของออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) ระบุว่า ภาคเอกชนสหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 212,000 รายในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 220,000 ราย
8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ
- ราคายางปรับตัวลดลงเล็กน้อย เพราะยังมีแรงหนุนจากผลผลิตยางมีน้อยตามฤดูกาล ขณะที่ตลาดต่างประเทศยังคงเงียบ ขายออกยากโดยเฉพาะเดือนใกล้ โดยอ้างว่ามีสินค้าเพียงพอไม่เร่งซื้อ ดังนั้นราคาตามตลาดล่วงหน้าสิงคโปร์ที่กิโลกรัมละ 180 เซนต์สหรัฐ จึงขายไม่ได้ ไม่มีผู้ซื้อ ต้องเสนอราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 178 เซนต์สหรัฐ ซึ่งพอขายได้บ้าง แต่เป็นสัญญาเดือนไกล
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว จากการแข็งค่าของเงินเยน ประกอบกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ซบเซา และจีนกำหนดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 7.0 ต่ำกว่าการขยายตัวปี 2557 ที่ร้อยละ 7.4 ซึ่งเป็นอัตราที่อ่อนแอที่สุดในรอบ 24 ปี อย่างไรก็ตาม อุปทานยางที่ลดลงในช่วงฤดูยางผลัดใบและราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นยังเป็นปัจจัยสนับสนุนราคายางได้ในระดับหนึ่ง
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา