ผู้เขียน หัวข้อ: นายกฯให้ทหารคุมซื้อยาง! สั่งต้องซื้อตรงจากชาวสวน ห้ามรายใหญ่ได้ประโยชน์  (อ่าน 1049 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84548
    • ดูรายละเอียด
นายกฯให้ทหารคุมซื้อยาง! สั่งต้องซื้อตรงจากชาวสวน ห้ามรายใหญ่ได้ประโยชน์



กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--มติชนออนไลน์


ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล (กขน.) ครั้งที่ 1/2558 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า นายกฯ สั่งการให้ช่วยเหลือเกษตรกรโดยเฉพาะผู้ที่ปลูกยางพารา โดยขอให้มีการซื้อยางตามกองทุนมูลภัณฑ์กันชนจากเกษตรกรรายย่อยโดยตรง เพื่อไม่ให้เอกชนรายใหญ่ได้ประโยชน์ พร้อมทั้งมอบหมายให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สนับสนุนผ่านหน่วยงานของกองทัพในพื้นที่ กำกับดูแลการรับซื้อยางที่ตลาดกลางให้เป็นไปตามที่มอบหมาย


ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า นายกฯยังเร่งรัดการจัดการเกี่ยวกับกระบวนการการทุจริต โดยให้มีการดำเนินการอย่างครบถ้วน ไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งสั่งการเรื่องแรงงานต่างด้าว โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดการดำเนินการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และจัดทำฐานข้อมูลให้ครบถ้วนทั้งด้านแรงงานผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ รวมถึงเรื่องของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ที่จัดทำโดยกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศไปชี้แจงให้ประเทศต่างๆ เข้าใจถึงการดำเนินการของฝ่ายไทย ว่ามีความตั้งใจและอยู่ระหว่างการดำเนินการอย่างเข้มงวด


สกย.คาดโค่นยางเก่าทะลุเป้า


นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวถึงมาตรการควบคุมปริมาณการผลิตยาง ด้วยการให้ สกย.จ่ายเงินชดเชยแก่ชาวสวนยางพารา เพื่อสนับสนุนการโค่นยางเก่าที่ให้ผลผลิตไม่คุ้มค่าและปลูกยางใหม่ทดแทนว่า จากราคายางตกต่ำต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรหันมายื่นขอรับเงินค่าโค่นยางเก่าเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ยื่นความจำนงโค่นยางเก่ามาแล้วจำนวน 4.2 หมื่นคน คิดเป็นพื้นที่ 3.1 แสนไร่ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4 แสนไร่ ซึ่งยังเหลือเวลายื่นแสดงความ จำนงอีก 7 เดือน เชื่อว่าในปีนี้จะมีเกษตรกรมายื่นขอความจำนงโค่นยางเก่าประมาณ 5 แสนไร่


นายประสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับค่าชดเชยกรณีโค่นยางเก่าและต้องการปลูกยางใหม่ จะได้รับเงินสนับสนุนไร่ละ 1.6 หมื่นบาท แต่กรณีที่เปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมันแทน จะได้รับเงินสนับสนุนไร่ละ 2.6 หมื่นบาท สำหรับงบประมาณในการนี้มาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษการส่งออกยาง หรือเซส ที่เก็บได้ปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่มีการนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการโค่นยางถึงปีละกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2558 คาดว่าต้องใช้งบประมาณถึง 9,000 ล้านบาท จะต้องของบประมาณจากภาครัฐเพิ่มเติม


เร่งพัฒนาตลาดท้องถิ่น


นายประสิทธิ์กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคายางในตลาดท้องถิ่นต่ำกว่าราคายางในตลาดกลางว่า สกย.กำลังเร่งพัฒนาตลาด สกย. จำนวน 108 แห่ง ให้มีมาตรฐานเท่ากับตลาดกลางให้เรียบร้อยในช่วงฤดูปิดกรีดยางตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม เช่น ขยายพื้นที่เก็บยางที่เกษตรกรนำมาขายให้เพียงพอ พัฒนามาตรฐานการชั่งน้ำหนักและคุณภาพของยางที่เกษตรกรนำมาขาย เพื่อที่ตลาด สกย.จะสามารถเป็นเครือข่ายตลาดกลางอย่างมีมาตรฐาน เพื่อพ่อค้าจะได้เข้ามาซื้อยางและมาตรการกองทุนมูลภัณฑ์กันชนจะสามารถเข้ามาซื้อยางที่ตลาดท้องถิ่นจากเกษตรกรรายย่อยได้ โดยขณะนี้ได้พัฒนาตลาด สกย.ไปแล้ว 7 แห่ง และกำลังดำเนินการพัฒนาอีก 22 แห่ง


"ปัญหาของตลาดยางท้องถิ่นตอนนี้คือ อยู่ไกลจากตลาดกลาง ขณะที่ตลาดกลางเป็นสถานที่ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ใช้กองทุนมูลภัณฑ์กันชนรับซื้อยางเท่านั้น ทำให้เกษตรกรต้องขนยางไปตลาดกลาง เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีตลาดกลางเพียง 2 แห่ง ขณะที่มีจังหวัดปลูกยางเป็น 10 จังหวัด ภาคใต้ก็เช่นกัน มีตลาดกลางอยู่เพียง 3-4 แห่ง ทำให้เกษตรกรรายย่อยต้องมีต้นทุนขนส่งมาก หากจะนำยางมาขายเพื่อให้ได้ราคาดี ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาปิดกรีดยาง เราต้องเร่งพัฒนาตลาดท้องถิ่นเพื่อให้ทันฤดูกรีดยางหน้า" นายประสิทธิ์กล่าว Souce: มติชนออนไลน์ (Th)