วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- อิทธิพลลมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกมีฝนบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีเมฆบางส่วนและมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ไม่ส่งผลต่อการกรีดยาง
2. การใช้ยาง
- คณะกรรมการยางอินเดียเปิดเผยว่า ปริมาณการนำเข้ายางธรรมชาติตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ 395,857 ตัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2556 ที่มีปริมาณ 325,190 ตัน หรือสูงขึ้นร้อยละ 10.66
3. สต๊อคยาง
- สต๊อคยางจีน ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 เพิ่มขึ้น 3,491 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.12 อยู่ที่ 168,312 ตัน จากระดับ 164,821 ตัน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558
4. เศรษฐกิจโลก
- รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4 ปี 2557ขยายตัวร้อยละ 2.2 ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส ส่วน GDP ตลอดทั้งปีขยายตัวร้อยละ 0.04
- รอยเตอร์และมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เบื้องต้น เดือนกุมภาพันธ์ลดลงสู่ระดับ 93.6 ต่ำกว่าระดับ 98.1 ของเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ราคานำเข้าสินค้าเดือนมกราคมลดลงร้อยละ 2.8 ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 หรือในรอบ 6 ปี เป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 7 เดือน บ่งชี้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจากการค้ากับต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ
- สำนักงานสถิติแห่งชาติสหภาพยุโรปรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) กลุ่มยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 0.3 ในไตรมาส 4 ปี 2557 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ในไตรมาส 3 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 0.3 หลังจากขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาส 3
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมันรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เบื้องต้นไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีขึ้นหลังจากเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 ในไตรมาส 3
- สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศสเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เบื้องต้นไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 จากไตรมาส 3 ส่วนตลอดปี 2557 GDP ขยายตัวร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับปี 2556
5. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 32.58 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.06 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 118.57 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.39 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
6. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมีนาคม ปิดตลาดที่ 52.78 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.57 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากมีรายงานว่าจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างมาก ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากรายงานที่ระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) กลุ่มยูโรโซนขยายตัวดีเกินคาดในไตรมาส 4 ปี 2557
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนมีนาคม ปิดที่ 61.52 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 4.47 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- บริษัทโททาล เอส เอ ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานฝรั่งเศสประกาศลดการลงทุนลงเหลือ 2.3 - 2.4 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ จากปีก่อนที่ 2.6 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ และยังได้ปรับลดงบประมาณด้านการสำรวจน้ำมันลงร้อยละ 30 ในปีนี้ และบริษัทอาฟเช คอร์ปอเรชั่น ประกาศลดจำนวนแท่นขุดเจาะลงร้อยละ 70 ขณะที่ผลสำรวจของเบเกอร์ฮิวระบุว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ลดลงอย่างมากถึง 84 แห่ง อยู่ที่ 1,056 แห่ง ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554
7. การเก็งกำไร
- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนมีนาคม อยู่ที่ 211.5 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 3.3 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 222.7 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.3 เยนต่อกิโลกรัม
- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 185.3 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.3 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
8. ข่าว
- โฆษกนายกรัฐมนตรีกรีซกล่าวว่า จะทำทุกสิ่งที่สามารถทำได้ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงในการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการคลังกรีซและยูโรโซนในวันจันทร์นี้ ขณะที่ผลสำรวจของเยอรมันระบุว่า ชาวเยอรมันจำนวนมากสนับสนุนให้กรีซยังคงอยู่ในยูโรโซนต่อไป
9. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ
- ราคายางปรับตัวสูงขึ้นได้อีก เพราะอยู่ในช่วงฤดูยางผลัดใบ อย่างไรก็ตาม จะไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก เพราะต่างประเทศยังคงเงียบ โดยเฉพาะจีนหยุดยาวในช่วงเทศกาลตรุษจีน เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในประเทศหยุดทำการ 2 วัน คือ วันที่ 18 - 19 กุมภาพันธ์ 2558
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดล่วงหน้าโตเกียวและราคาน้ำมันดิบ โดยราคาตลาดล่วงหน้าโตเกียวปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน สาเหตุจากนักลงทุนขานรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นและยูโรโซนที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัวดีเกินคาด ประกอบกับอุปทานยางในประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่อย่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียลดลง เพราะเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูปัจจัยภายในประเทศเกี่ยวกับเงินสนับสนุนโครงการมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง (Buffer Funds) ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ ขณะที่ราคายางมีปัจจัยเสี่ยงจากนักลงทุนอาจชะลอซื้อเพื่อเตรียมหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีน
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา