ผู้เขียน หัวข้อ: รัฐบาลยกเครื่องใหญ่แผนกู้ราคายาง  (อ่าน 808 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84583
    • ดูรายละเอียด
รัฐบาลยกเครื่องใหญ่แผนกู้ราคายาง
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 10, 2015, 01:34:45 PM »
รัฐบาลยกเครื่องใหญ่แผนกู้ราคายาง



รัฐบาลเตรียมระดมบิ๊กข้าราชการ-แกนนำเกษตรกรครั้งใหญ่ ถกแผนยกเครื่องบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบใหม่ หลัง 16 มาตรการเดิมวงเงินกว่า 9 หมื่นล้านยังอืด "อำนวย"ลั่นเปิดฤดูกรีดใหม่เดือนพฤษภาคม ราคาต้องดีกว่าเดิม ด้านธ.ก.ส.เผย 3 โครงการปล่อยกู้ 2.5 หมื่นล้านยังช้า ติดขัดขั้นตอนปฏิบัติ โรงงานถุงมือยางจี้แบงก์ออมสินปล่อยกู้ปรับเปลี่ยนเครื่อง 1.5 หมื่นล้าน หลังรอกว่า 5 เดือนยังไม่คืบ ทั้งที่ คสช.การันตีรับประกันความเสี่ยง


จากแผนบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบของรัฐบาลรวม 16 มาตรการวงเงินรวม 90,029 ล้านบาท ทั้งมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง มาตรการลดผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต และการตลาด และเพิ่มการใช้ยางในประเทศที่ยังเป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันกับสถานการณ์ ขณะที่โครงการมูลภัณฑ์กันชน(บัฟเฟอร์ ฟันด์) ซื้อยางแผ่นรมควัน และยางแผ่นดิบชี้นำราคาตลาดในตลาดกลางยางพารา 6 แห่ง ระบุผลประโยชน์ตกกับพ่อค้า ผู้รวบรวมยาง และสหกรณ์ชาวสวนยางไม่กี่แห่ง แต่ประโยชน์ไม่ตกถึงมือเกษตรกรในท้องถิ่นที่ยังขายยางได้ในราคาต่ำ


-ทุ่มอีก4 พันล.ดันราคา


นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแลยางพาราของประเทศ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เพื่อให้ผลประโยชน์ตกถึงมือชาวสวนยางมากขึ้น ล่าสุดได้ให้สหกรณ์การเกษตรที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)ได้เข้าไปรับซื้อน้ำยางสดและยางก้อนถ้วยจากเกษตรกรในราคานำตลาด 2 บาทต่อกิโลกรัม เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ทั้งนี้จากราคายางก้อนถ้วย และน้ำยางสด ที่เกษตรกรขายได้ในท้องถิ่นในปัจจุบันเฉลี่ยที่ 30-40 บาท/กิโลกรัม มีเป้าหมายจะดันราคายางก้อนถ้วยให้ได้ในเบื้องต้น 38 บาท/กิโลกรัมและน้ำยางสดที่ 50 บาท/กิโลกรัม


"เราจะซื้อยางทั้ง 2 ชนิดในราคาชี้นำตลาดไปจนหมดฤดูการกรีดยางในภาคใต้ในกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนภาคเหนือและอีสานปิดกรีดไปแล้วจากยางผลัดใบก่อนภาคใต้ และเมื่อมีการเปิดกรีดยางในฤดูกาลใหม่ช่วงเดือนพฤษภาคมก็จะยังซื้อชี้นำราคาไปเรื่อยๆ ทั้งยางก้อนถ้วย น้ำยางสดในตลาดท้องถิ่น และยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันในตลาดกลาง เพื่อยกระดับราคายางทั้งระบบให้สูงขึ้น และตลาดทั่วไปก็จะขยับราคาตาม ทั้งนี้การซื้อยางก้อนถ้วยและน้ำยางสดจะใช้เงินจากกองทุนมูลภัณฑ์กันชนที่ขอไว้ไม่เกิน 4 พันล้าน ซึ่งได้นำเรื่องเสนอรอบรรจุในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การอนุมัติ 10 กุมภาพันธ์นี้ จากก้อนแรกที่ขอมา 6 พันล้านบาทเพื่อซื้อยางในตลาดกลาง ขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 1 พันล้านบาท"


-สั่งยกเครื่องใหม่แก้ปัญหา


ขณะเดียวกันเพื่อเตรียมแผน และออกนโยบาย/มาตรการเพิ่มเติมจาก 16 มาตรการเดิมเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบใหม่ ในช่วงปิดกรีดยางตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนนี้จะได้มีการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นจากเกษตรกร แกนนำเกษตรกร และข้าราชการที่เกี่ยวข้องครั้งใหญ่ ซึ่งคาดจะมีหลายครั้ง เพื่อปรับปรุงในรายละเอียดของมาตรการ และรายละเอียดในภาคปฏิบัติ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ฤดูการกรีดใหม่ปี 2558/2559 ที่จะมาถึงในเดือนพฤษภาคม เบื้องต้นได้มอบหมายให้ 69 จังหวัดที่มีการปลูกยางจัดทำรายงานข้อมูลประมาณการความสมดุลของยางพาราของจังหวัด ข้อมูลราคายางในจังหวัด ข้อมูลโครงสร้างอุตสาหกรรมยางของจังหวัด และข้อมูลโครงสร้างระบบตลาดยางของจังหวัด เพื่อใช้จัดทำแผนงานในแต่ละพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้จะพยายามผลักดันนโยบาย/มาตรการที่ดีและมีเป้าหมายราคาที่ชัดเจนกว่าเดิม และเกษตรกรสามารถเข้าถึงโครงการได้ ไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติและปิดข้อบกพร่องที่ผ่านมาได้


-โวยเพิ่ม2บาท/กก.มาช้า


แหล่งข่าวจากเกษตรกรชาวสวนยาง เผยว่า การที่รัฐบาลได้เข้าซื้อยางก้อนถ้วย และน้ำยางสดในราคานำตลาด 2 บาท/กิโลกรัม และมีเป้าหมายราคาที่ 38 และ 50 บาท/กิโลกรัมตามลำดับถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เกษตรกรขายยางได้ราคาสูงขึ้น แต่น่าเสียดายอีกไม่กี่วันก็จะปิดกรีดแล้วถือว่าเกษตรกรเสียประโยชน์ จากมาตรการที่ออกมาช้าไม่ทันกาล ขณะที่ในทางปฏิบัติ การรับซื้อน้ำยางสด บางพื้นที่ เจ้าหน้าที่ของ สกย.ที่เข้ามาซื้อยางขาดประสบการณ์ในการประเมินคุณภาพน้ำยาง ทำให้เกษตรกรได้ราคาไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะถูกตีเป็นยางเกรดต่ำ


-ยันยาง49ตู้ส่งออกไปแล้ว


นายอำนวย ยังเผยถึงกรณีข่าวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)สั่งอายัดยางพาราที่องค์การสวนยาง(อ.ส.ย.)ขายให้กับบริษัท ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ อินดัสทรีกรุ๊ปฯ จากจีนจำนวน 49 ตู้คอนเทนเนอร์ รวม 790 ตันเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนว่า ยังไม่เห็นคำสั่งเลย เรื่องนี้คงต้องให้ทางผู้อำนวยการ อ.ส.ย.เจ้าของยางเป็นผู้ชี้แจงว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไร


ขณะที่นายพิเชษฐ์ พร้อมมูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เผยว่า ยางพาราทั้ง 49 ตู้คอนเทนเนอร์ที่มีข่าว คสช.สั่งอายัดนั้น ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ได้มีการส่งมอบให้กับบริษัทไชน่า ไห่หนานฯ และคาดว่าจะออกจากไทยไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นยืนยันว่าความจริงไม่มีคำสั่งอายัดใดๆ ทั้งสิ้น เรื่องนี้ขอใช้ตำแหน่งเป็นเดิมพัน


-ธ.ก.ส.ปล่อยกู้2.5หมื่นล.ยังอืด


อีกด้านหนึ่ง"ฐานเศรษฐกิจ"ได้ตรวจสอบมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งเป็น 1 ใน 4 มาตรการ(รวม 16 โครงการ)ของรัฐบาล ทั้งนี้ได้รับการเปิดเผยจากนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ถึง 3 โครงการที่ ธ.ก.ส.รับผิดชอบ และความคืบหน้า ประกอบด้วย 1.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม (รายละไม่เกิน 1 แสนบาท) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558ได้อนุมัติสินเชื่อและจ่ายเงินไปแล้ว 3,800 ราย วงเงิน 400 ล้านบาท และได้อนุมัติเตรียมรอจ่ายอีก 8,542 รายวงเงิน 820 ล้านบาท รวมทั้งสองกลุ่มปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 1.25 หมื่นราย สินเชื่อ 1,250 ล้านบาท


"โครงการนี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารยางพาราระดับจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานก่อน แล้วจึงส่งรายชื่อมาให้ ธ.ก.ส. คาดว่าตัวเลขที่ผ่านความเห็นชอบและได้รับการอนุมัติในอีก 2 สัปดาห์หน้าจะปรับตัวดีขึ้นมาก"


2.โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อใช้ในการรวบรวมยาง วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ได้อนุมติให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรและจ่ายเงินไปแล้ว 255 แห่ง วงเงิน 3,301 ล้านบาท และที่เสนอคำขอกู้เข้ามา ซึ่งต้องผ่านมติคณะกรรมการอีกประมาณ 250 แห่ง วงเงินอีกประมาณ 2,350 ล้านบาท และ 3.โครงการรสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา วงเงิน 5 พันล้านบาท มีสหกรณ์ชาวสวนยางยื่นคำขอกู้แล้ว 209 แห่ง วงเงิน 4,319 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติไปแล้ว 23 แห่ง วงเงิน 182 ล้านบาท


"การกู้ไปรูปยางที่ยังไม่มาก เพราะบางสหกรณ์กังวลและรอดูสถานการณ์ราคายางพารา แต่หลังจากกองทุนมูลภัณฑ์กันชนได้ซื้อยางราคาชี้นำตลาด ล่าสุดสหกรณ์ชาวสวนยางได้เบิกเงินไปซื้อยางกันอย่างคึกคักมากขึ้น ซึ่งความคืบหน้าโครงการปล่อยสินเชื่อของ ธ.ก.ส.นี้ได้รายงานให้คุณอำนวย ปะติเส ทราบทุกสัปดาห์"


-จี้ออมสินเร่งปล่อยกู้ 1.5 หมื่นล.


ขณะที่นายประชัย กองวารี นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย ได้เรียกร้องให้ธนาคารออมสินผู้รับผิดชอบโครงการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร(ถุงมือยาง ยางล้อ ยางยืด ฯลฯ) วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มการใช้ยางในประเทศ ที่ คสช.ได้มีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ระบุว่า จากเวลาได้พ้นมานานกว่า 5 เดือนแล้ว การปล่อยกู้ของธนาคารออมสินยังไม่มีความคืบหน้าทั้งที่ผู้บริหารธนาคารได้รับปากแล้ว ถือมีความล่าช้ามาก ไม่ทราบมีเหตุผลอย่างไร เพราะจากอัตราดอกเบี้ย 5% รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ทางธนาคาร 3% และผู้ประกอบการรับผิดชอบ 2% ทั้งนี้กรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยได้ทางรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่เห็นต้องกลัวความเสี่ยงแต่อย่างใด


ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ


 
10/2/2015