ผู้เขียน หัวข้อ: ยา(ง)พารา  (อ่าน 851 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 83213
    • ดูรายละเอียด
ยา(ง)พารา
« เมื่อ: มกราคม 29, 2015, 03:38:10 PM »
ยา(ง)พารา



เรื่องของยางพาราตอนนี้ดูท่าไม่สุขสมภิรมย์รื่นเหมือนกับเมื่อตอนราคาไต่เพดานขึ้นไปถึง 120 บาทต่อกิโลกรัม คนปลูกยางเองหน้าแห้งเหี่ยวไปตาม ๆ กัน ที่เคยซื้อรถยนต์กันด้วยเงินสดเป็นปึ๊ง ๆ ตอนนี้ต้องขายคืน หรือไม่ก็ปล่อยให้ถูกยึด เพราะราคายางล่าสุดหล่นลงมา สำหรับน้ำยางดิบสดเหลือ 38 บาท ส่วนยางก้อนถ้วย ราคาอยู่ที่ประมาณ 18 บาท ราคาเหมา 5 กิโลร้อย ยิ่งกว่าราคาเงาะเสียอีก เป็นใครก็หวิวไหวใจสั่น


เพราะไม่รู้อนาคตว่าจะรูดลงไปอีกเท่าไหร่


วันนี้ในส่วนของรัฐบาลนั้น พยายามหาทางแก้ปัญหา ทั้งทำวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับยาง ชักชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อ หาทางระบายยางที่ปลูกกันจนล้นตลาดด้วยการนำมาสร้างถนน และชักชวนนักลงทุนจีนให้เข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย เพราะจีนเป็นผู้ใช้ยางรายใหญ่ในโลก


ถ้าจะพูดเรื่องของ "ยางพารา" แล้ว ไม่มีใครเกิน "พินิจ จารุสมบัติ" อดีตรองนายกรัฐมนตรี และปัจจุบันสวมหมวกนายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย - จีน เป็นกูรูเรื่องยางขั้นเทพ แถมยังเป็นเจ้าของสวนยางนับพันไร่ในจังหวัดบึงกาฬ ฉะนั้น ทั้งปัญหาราคายาง ทั้งเรื่องการปลูกยาง เรียกว่าเห็นแจ้งแทงตลอด


เวลานี้คนในจังหวัดบึงกาฬกำลังประสบปัญหาราคายางตกอย่างหนัก เพราะในภาคอีสาน 20 จังหวัด บึงกาฬเป็นจังหวัดที่ปลูกยางมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกยางทั้งหมดถึง 1 ล้านไร่ จำนวนผู้ประกอบการสวนยางเป็นเจ้าของสวนตั้งแต่ 1-30 ไร่ มีถึง 85% จึงถือว่าเจ็บหนักกันไปทั้งจังหวัด


คุณพินิจเองก็ใช่ย่อย ถูกปัญหาราคายางตกทะรูดเล่นงานเอาเหมือนกัน แต่เพราะฝีมือและรู้ทางหนีทีไล่ เลยมีอาการทรง ๆ ไม่ถึงกับทรุด ยังพอประคองเอาตัวรอด


พอมีเวลาถามไถ่ถึงทางแก้ปัญหาเรื่องนี้แบบซึ่งหน้า ขณะมีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยน ระหว่างที่คุณพินิจกำลังเปิดตัวโปรเจ็กต์ใหม่ให้กับชาวบึงกาฬ โดยหันไปช่วยปลุกกระแสบูมเรื่องการท่องเที่ยวในจังหวัดบึงกาฬ


คุณพินิจสังเคราะห์ข้อมูลออกมา ว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องทำอย่างจริงจัง คือเรื่องของ การแปรรูป เพิ่มมูลค่าและสร้างโอกาสให้กับยางพารา เพราะราคายางทุกวันนี้ไม่ว่าประเทศไทยหรือประเทศไหน ๆ ในโลก ผูกติดอยู่กับกลไกราคา ขณะที่คนที่มากำหนดราคายางกลับเป็นประเทศที่ไม่ได้ปลูกยาง หรือไม่มียางเลย


ราคาจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง


ราคายางพาราประเทศไทยทุกวันนี้ถูกกำหนดโดยสองตลาดหลัก คือ "ไซคอม" ของสิงคโปร์ และ "โตคอม" ของญี่ปุ่น ทั้งญี่ปุ่นและสิงคโปร์ไม่มีพื้นที่ปลูกยางเลยสักต้นเดียว ฉะนั้น ราคาที่เกิดขึ้นจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่ถูก "ปั่น" อยู่ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าทั้งสองตลาด มีเพียงการซื้อขายกันบนกระดาษเท่านั้น


เล่ามาทั้งหมดนี้ อดีตรองนายกรัฐมนตรีไม่ได้อธิบายเปล่า แต่ยังฝากคำถามไปถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ด้วยว่า 5 เสือบริษัทส่งออกยางของไทย ได้แก่ บริษัท ไทยฮั้วรับเบอร์ จำกัด(มหาชน) บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) บริษัทเซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด และบริษัท ไทยรับเบอร์ ลาแท็คซ์กรุ๊ป จำกัด รัฐบาลเคยเข้าไปตรวจสอบไหม ว่าเขาซื้อยางจากที่ไหน อย่างไร เพื่อจะได้เห็นขบวนการที่เกิดขึ้นที่แท้จริง


นอกจากนี้แล้ว รัฐยังไม่เคยกำหนดพื้นที่เพาะปลูกว่าควรเป็นเท่าไหร่ เวลายางราคาดี ไม่เคยกำหนดภาพรวมจริง ๆ ของพื้นที่ปลูกยาง เมื่อไม่มีการกำหนด ก็เท่ากับว่าใครปลูกได้ปลูกเอา จนเป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้


ปลูกยางกรีดได้มีราคา ก็มีความสุขกันยกใหญ่ แต่พอราคายางตกเพราะดีมานด์น้อย ชาวสวนยางเลยต้องพึ่ง "ยาพารา" แทน "ยางพารา" อยู่ตอนนี้


ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (วันที่ 28 มกราคม 2558)