ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558  (อ่าน 1166 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันจันทร์ที่  19  มกราคม  พ.ศ. 2558


ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


- ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศหนาวเย็น โดยทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้นไปมีอากาศเย็นในตอนเช้า และตั้งแต่ จังหวัดนครศรีธรรมราชลงมามีเมฆบางส่วน กับมีฝนบางแห่งร้อยละ 10 ของพื้นที่  อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมมีอากาศเย็น อุณหภูมิในตอนเช้าต่ำสุด 18-24 องศาเซลเซียส ซึ่งเอื้อต่อการกรีดยาง ทำให้ระยะนี้ผลผลิตเพิ่มขึ้น


2. การใช้ยาง


- สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ของยุโรป เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ของยุโรปในปี 2557 ฟื้นตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 แตะ 13 ล้านคัน โดยยอดขายในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันของปี 2556 แตะ 997,238 คัน


- สมาคมผู้ผลิตรถยนต์จีน (CAAM) เปิดเผยว่า จีนส่งออกรถยนต์ทั้งสิ้น 910,300 คัน ในปี 2557 ซึ่งปรับตัวลงร้อยละ 6.9 จากปีก่อนหน้า โดยในเดือนธันวาคม ยอดส่งออกรถยนต์ของจีนอยู่ที่ 98,500 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 จากปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.2 เมื่อเทียบรายเดือน


3.สต๊อคยาง


- สต๊อคยางจีน ณ วันที่ 16 มกราคม 2558 มีจำนวน 160,297 ตัน เพิ่มขึ้น 8,712 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.75 จากระดับ 151,585 ตัน ณ วันที่ 9 มกราคม 2558


4.เศรษฐกิจโลก


- ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับอุปสรรคใหญ่ แม้จะได้รับปัจจัยบวกหลายประการ เช่น การลดลงของราคาน้ำมันและเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง เพราะยังมีหลายประเทศมากเกินไปที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากผลพ่วงของวิกฤตการเงิน ซึ่งรวมถึงหนี้และอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับสูง


- กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงร้อยละ 0.4 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2008 หรือในรอบ 6 ปี หลังจากปรับตัวลงร้อยละ 0.3 ในเดือนพฤศจิกายน สำหรับตลอดทั้งปี 2014 ดัชนี CPI เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008


- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รายงานว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.1 ในเดือน ธันวาคม หลังจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ในเดือนพฤศจิกายน


- สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหภาพยุโรป รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนลดลงสู่ระดับ ร้อยละ -0.2 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2009 นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อของสหภาพยุโรปที่ประกอบด้วยสมาชิก 28 ชาติ อยู่ที่ระดับร้อยละ -0.1 ในเดือนธันวาคม ซึ่งส่งสัญญาณว่ายุโรปใกล้เข้าสู่ภาวะเงินฟืด


- ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากรอยเตอร์/ มหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 98.2 ในช่วงต้นเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี


- ที่ปรึกษาของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 7.3 ในปี 2558 เพราะได้แรงหนุนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน แร่ เหล็ก และทองแดง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจ


- รัฐบาลจีน เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2557 ขยายตัวร้อยละ 7.4 ซึ่งน้อยกว่าที่เป้าหมายของรัฐบาลที่ร้อยละ 7.5 ส่วน GDP ตลอดปี 2557 นั้น ทางรัฐบาลจะเปิดเผยในวันอังคานี้


- ธนาคารกลางจีน เปิดเผยว่า ธนาคารกลางจีนจะดูแลสภาพคล่องจำนวนมากให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และจะวางแนวทางการขยายตัวปานกลางอย่างมีเสถียรภาพของการอนุมัติสินเชื่อ และการระดมทุนเชิงสำรวมในปี 2558 เพื่อสร้างบรรยากาศทางการเงินที่เอื้ออำนวยสำหรับการปรับโครงสร้างและการยกระดับทางเศรษฐกิจของประเทศ


5. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.64 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่า 0.05 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- เงินเยนอยู่ที่ 117.12 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่า 1.08 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- สกุลเงินยูโรอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 11 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์ก เนื่องจากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรครั้งใหม่ในการประชุมสัปดาห์นี้


6. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือน กุมภาพันธ์ ปิดตลาดที่ 48.69 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.44 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของผลผลิตน้ำมัน นอกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) และยังระบุว่าในขณะนี้กำลังมีสัญญาณเพิ่มขึ้นว่าราคาน้ำมันจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ในที่สุด


- สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัว ของผลผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปคลง 350,000 บาร์เรลต่อวัน


- สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานขอรัฐบาลสหรัฐ (EIA) คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันเบรนท์ จะเคลื่อนไหวโดยเฉลี่ยที่ 58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปี 2558 และ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปี 2559 พร้อมกับคาดการณ์ว่าราคาน้ำมัน WIT จะเคลื่อนไหวต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ประมาณ 3-4 ดอลลาร์


- Bank of America Merrill Lyneh คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีแนวโน้มปรับลดลงมาแตะที่ระดับ 31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 2558 ขณะที่เฉลี่ยตลอดทั้งปี 2558 อยู่ที่ระดับ 52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ WIT มีแนวโน้มยืนอยู่ที่ระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


7. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2558 อยู่ที่ 189.9 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.7เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ 195.5 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.6 เยนต่อกิโลกรัม


- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 160.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 0.40 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


8. ข่าว


- ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนซบเซาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาบ้านใหม่ของจีนที่มีการจดทะเบียนในช่วงเดือนธันวาคม นั้นอ่อนตัวลงเมื่อเทียบเป็นรายเดือน โดยสำนักข่าวซันหัว รายงานว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่า ผลสำรวจเมืองขนาดใหญ่ และขนาดกลาง จำนวน 70 เมือง พบว่าราคาบ้านใหม่ในเมือง 66 แห่ง อ่อนตัวลงในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบกับราคาในเดือนพฤศจิกายน


- มูดี้ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลรัสเซียลงสู่ระดับ Baa 3 จากระดับ Baa 2 พร้อมกับเตือนว่าการอ่อนค่าของสกุลเงินรูเบิล และราคาน้ำมันที่ร่วงลงอย่างหนักจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย


9. ข้อคิดเห็นของ ผู้ประกอบการ


- ราคายางน่าจะทรงตัว เพราะในระยะนี้ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่เย็นลงเอื้อต่อการกรีดยาง ขณะที่ปัจจัยบวกจากต่างประเทศยังไม่ชัดเจน  อย่างไรก็ตามต้องรอดูช่วงสิ้นเดือนนี้ว่าปริมาณยางอาจจะเริ่มลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคายางดีขึ้นได้


แนวโน้ม   ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ โดยมีปัจจัยบวกจากราคาล่วงหน้าตลาดโตเกียวปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันและเงินเยนอ่อนค่า ประกอบกับได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สดใส และกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ครั้งใหม่ในการประชุมสัปดาห์นี้ รวมทั้งการสนับสนุนราคายางของภาครัฐ ส่วนปัจจัยลบมาจากสภาพอากาศที่เอื้อต่อการกรีดยางทำให้อุปทานยางออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และสต๊อคยางจีนตลาดเซียงไฮ้ของจีนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 160,297 ตัน (16 มกราคม 2558) จากระดับ 151,585 ตัน (9 มกราคม 58)


ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา