ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558  (อ่าน 954 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันอังคารที่  13  มกราคม  พ.ศ. 2558


ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


- ประเทศไทยตอนบนอากาศเย็น และอุณหภูมิจะลดลงอีก 1 - 2 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนกระจายเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น


2. การใช้ยาง


- สมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีนเปิดเผยว่า ปี 2557 ยอดจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะ 23.49 ล้านคัน ตัวเลขดังกล่าวนับว่าชะลอตัวลงอย่างมากจากอัตราที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 ในปีก่อน ขณะเดียวกันจีนมียอดผลิตรถยนต์ 23.72 ล้านคันในปี 2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี


- คณะกรรมการยางอินเดียกล่าวว่า เนื่องจากการลดลงของปริมาณผลผลิตยางในประเทศ และราคายางที่ตกต่ำทั่วโลก ทำให้การนำเข้ายางธรรมชาติเดือนพฤศจิกายนพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 19.0 หรือมีปริมาณ 33,156 ตัน ขณะการผลิตยางในประเทศลดลงอยู่ที่ 64,000 ตัน ซึ่งลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่การใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 12.0 หรือมีปริมาณการใช้แตะ 85,000 ตัน และคาดว่าการนำเข้าจะสูงขึ้นอีก เพราะบริษัทยางล้อได้ลงนามข้อตกลงนำเข้าเพื่อจัดส่งยางในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากราคายางนำเข้าทั้งจากประเทศไทยและอินโดนีเซียมีราคาต่ำ


3. เศรษฐกิจโลก


- รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า งบประมาณบัญชีทั่วไป ปีการคลัง 2558 จะสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 96.34 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นจาก 95.88 ล้านล้านเยนในปี 2557 ขณะเดียวกันคาดว่าการขาดดุลของญี่ปุ่นจะลดลง 4 ล้านล้านเยนในปีหน้า สู่ระดับ 13.4 ล้านล้านเยนในปีงบประมาณที่เริ่มขึ้นวันที่ 1 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดเก็บรายได้จากภาษีที่เพิ่มขึ้น และกำไรที่มากขึ้นในภาคเอกชน


- รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงจะขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปีงบประมาณ 2558 โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงจะช่วยหนุนผลประกอบการของภาคธุรกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่จะเน้นจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่ฝ่ายบริหารของนายกรัฐมนตรีระบุว่า ในแง่ตัวเลขเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 2.7 ในปีงบประมาณที่จะเริ่มในวันที่ 1 เมษายน 2558 แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเชื่อว่าภาวะเงินฝืดที่ดำเนินมาเกือบ 2 ทศวรรษกำลังใกล้จะยุติแล้ว


- ธนาคารกลางฝรั่งเศสคงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวในช่วงไตรมาส 4 ปี 2557 ที่ร้อยละ 0.1 ขณะที่ทางการฝรั่งเศสตั้งเป้าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2557 ที่ร้อยละ 0.4 และปี 2558 ร้อยละ 1.0


- สถาบัน Ifo (เยอรมัน) สถาบัน Insee (ฝรั่งเศส) และสถาบัน Istat (อิตาลี) ออกรายงานร่วมกันว่า คาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะมีการขยายตัวเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในภาวะอ่อนแอ โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.3 ในไตรมาส 1 และ 2 ปี 2558 จากที่เติบโตร้อยละ 0.2 ในไตรมาส 4 ปี 2557


- รองประธานกรรมาธิการยุโรป ฝ่ายการจ้างงาน การขยายตัว การลงทุน และความสามารถในการแข่งขัน กล่าวว่า แผนการลงทุนสำหรับยุโรปวงเงิน 3.15 แสนล้านยูโร มีความเป็น
ไปได้ และสามารถดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยจะยื่นข้อเสนอทางกฎหมายในวันนี้ เพื่อวางกรอบด้านกฎหมายสำหรับเสาหลักของแผนการลงทุนสำหรับยุโรป


4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.86 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.03 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- เงินเยนอยู่ที่ 117.80 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.58 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่ปรับตัวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 9 ปี จากการคาดการณ์ว่าการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปในสัปดาห์นี้จะหนุนให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB.) เดินหน้าใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรของชาติยุโรป


5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ปิดตลาดที่ 46.07 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 2.29 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากวาณิชธนกิจ โกลด์แมน แซคส์ ได้ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ และได้รับแรงกดดันจากการที่ประเทศสมาชิกโอเปคยังไม่ส่งสัญญาณเรื่องการปรับลดปริมาณการผลิตเพื่อสกัดการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบ


- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ปิดที่ 47.43 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 2.68 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล


- โกลด์แมน แซคส์ ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันปี 2558 ลง โดยตลาด Nymex ลดลงสู่ระดับ 47.15 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมที่ 73.75 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล และยังได้ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันปี 2559 ลงเหลือ 65.00 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 80.00 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล


- เอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE.) ประจำสหรัฐฯ เปิดเผยว่า UAE. ไม่มีแผนที่จะลดปริมาณการผลิตน้ำมัน และสามารถปรับสภาพตลาดเช่นในปัจจุบันได้อีกนานมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ขณะที่อิรักวางแผนที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกน้ำมันเดือนมกราคมเป็น 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากที่ส่งออกน้ำมันได้ถึง 2.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนธันวาคม


6. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 193.0 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 3.0 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 203.6 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 2.9 เยนต่อกิโลกรัม


- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 165.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 1.0 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


7. ข่าว


- ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำมองแนวโน้มราคาทองคำปี 2558 ช่วงต้นปีราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความกังวลปัญหาเศรษฐกิจต่างประเทศ


- นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์คาดว่ากรีซจะไม่ออกจากการเป็นสมาชิกของยูโรโซน แม้ว่าพรรคฝ่ายค้านจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยกล่าวว่าเป็นเรื่องแปลกสำหรัรบกรีซที่จะยุติการปฏิรูปทุกอย่างที่ได้ดำเนินการในขณะนี้ หลังจากใช้มาตรการรัดเข็มขัดมานาน 4 - 5 ปี และสุดท้ายกลับตัดสินใจออกจากยูโรโซน


8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ


- ราคายางน่าจะทรงตัว โดยผลผลิตอาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในระยะนี้ แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องซื้อแข่งกับภาครัฐ ทำให้ราคายางยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบจำกัด








แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ โดยมีปัจจัยลบจากราคาชี้นำตลาดล่วงหน้าโตเกียวปรับตัวลดลงจากการแข็งค่าของเงินเยน และราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างหนัก หลังจากที่โกลด์แมน แซคส์ ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ และยุโรปยังคงเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคายางในประเทศยังคงเคลื่อนไหวในกรอบจำกัดจากการเข้ามาซื้อยางของภาครัฐ ช่วยดูดซับให้อุปทานยางออกสู่ตลาดน้อยลง และผู้ประกอบการบางรายยังมีความต้องการซื้อเพื่อส่งมอบตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก่อนที่ผลผลิตจะลดลงในช่วงฤดูยางผลัดใบ


ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา