ผู้เขียน หัวข้อ: ปัญหาเกษตร : การเพิ่มผลผลิตยางพาราด้วยปุ๋ยอินทรีย์  (อ่าน 713 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด
ปัญหาเกษตร : การเพิ่มผลผลิตยางพาราด้วยปุ๋ยอินทรีย์



คำถาม ผมอยากทราบวิธีปลูกยางพาราให้ได้ผลผลิตมากๆ ครับ และขอทราบถึงวิธีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การเตรียมดิน และการดูแลรักษาด้วยนะครับ


ทองอินทร์ บุญมาก
อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช
คำตอบ
ลักษณะดิน และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกยางพารา ควรเป็นที่ราบ ไม่มีน้ำท่วมขัง หรือมีความลาดเอียง ต่ำกว่า 35 องศา ลักษณะดินเป็นดินร่วนเหนียวถึงดินร่วนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ หน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร ไม่มีชั้นดินดาน มีการระบาย และถ่ายเทอากาศดี มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ระหว่าง 4.5-5.5 อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 24-27 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,250 มิลลิเมตรต่อปี มีจำนวนวันฝนตก ประมาณ 120-145 วันต่อปี นักวิชาการเกษตร ได้ให้คำแนะนำวิธีการต่างๆ ไว้ดังนี้


การเตรียมดิน สำหรับสวนใหม่ ให้ทำการไถพลิกดิน และไถพรวนดิน อย่างน้อย 2 ครั้ง พร้อมทั้งเก็บตอไม้ เศษไม้ และเศษวัชพืชออกให้หมด เพื่อปรับหน้าดินให้เหมาะสมกับการปลูกยางพารา สำหรับพื้นที่ลาดเอียงมากกว่า 15 องศา จะต้องวางแนวปลูกตามขั้นบันได เพื่อลดอัตราการสูญเสียหน้าดิน โดยมีความกว้างของหน้าดินอย่างน้อย 1.5 เมตร เพื่อป้องกันต้นยางพาราล้มหากขั้นบันไดเสียหาย ในกรณีพื้นที่ปลูกเป็นที่ราบ ก็ทำเฉพาะทางระบายน้ำเท่านั้น และทำการปลูกพืชปุ๋ยสด เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน พืชปุ๋ยสดที่นิยมใช้ ได้แก่ ปอเทือง อัตรา 5กิโลกรัมต่อไร่ หว่านหรือโรยเป็นแถว และไถกลบเมื่ออายุ 45 วัน ปล่อยให้ย่อยสลาย 15 วัน แล้วจึงเตรียมหลุมปลูกยางพารา


วิธีการปลูกยางพารา ต้องวางแนวปลูกตามแนวตะวันออก-ตะวันตก โดยมีระยะปลูก 2.5x8.0 เมตร หรือ 3.0x7.0 เมตร ในแหล่งปลูกยางเดิม และระยะปลูก 2.5x7.0 เมตร หรือ 3.0x6.0 เมตร ในแหล่งปลูกยางใหม่ ขนาดของหลุม 50x50x50 เซนติเมตร และทำการปลูกต้นกล้ายางพาราที่สมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรค และแมลงศัตรูพืช ขนาด 1-2 ฉัตร และคลุมปุ๋ยหมัก อัตรา 15-25 กิโลกรัมต่อหลุม พร้อมกับเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช ที่ผลิตจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 อัตรา 3 กิโลกรัมต่อต้น ใส่รองก้นหลุม และทำการปลูกต้นกล้ายางพารา หลังจากปลูกยางพาราได้ 15 วัน ให้ปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน เช่น ถั่วคาโลโปโกเนียม หรือถั่วฮามาต้า อัตรา 2 กิโลกรัมต่อไร่ โรยเป็นแถวแทรกระหว่างยางพารา เพื่อป้องกันกำจัดวัชพืช ป้องกันการชะล้างพังทลาย และเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินด้วย


การดูแลรักษา ให้ทำการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ จากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 (ที่เจือจาง 1:1,000) ให้พืชปุ๋ยสด ทุก 7 วัน อัตรา 2 ลิตรต่อไร่ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของพืชปุ๋ยสด และหลังจากปลูกยางพาราแล้ว 15 วัน ให้ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ ให้กับยางพาราทางใบ หรือราดรดลงดินทุก 1 เดือน และให้ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพกับพืชตระกูลถั่วที่ปลูกคลุมดิน


การป้องกันกำจัดโรค โรคราแป้ง ราสีชมพู โรคใบร่วง ฝักเน่า และแมลงต่างๆ เช่น ปลวก หนอนทราย รวมทั้งวัชพืชชนิดต่างๆ กำจัดได้โดยใช้สารสกัดธรรมชาติ หรือสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช


การกรีดยาง สามารถทำการกรีดยางได้เมื่อต้นยางอายุ 6 ปี ขนาดเส้นรอบวงของลำต้น เมื่อกรีดยางเสร็จ ควรฉีดพ่น หรือทาบริเวณที่กรีดด้วยน้ำหมักชีวภาพ เจือจาง 1:1,000 เพื่อให้ยางมีน้ำยางมากที่สุด ยืดอายุการกรีดยาง และต้นยางเสียหายน้อยที่สุด


การจัดการดินหลังเก็บเกี่ยว ยางพาราเป็นไม้ยืนต้นมีอายุยาว ในแต่ละปีจะต้องมีการปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุหรือปุ๋ยอินทรีย์ โดยการใช้น้ำหมักชีวภาพ พืชตระกูลถั่วคลุมดิน พร้อมทั้งเชื้อจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชรอบๆ โคนต้นยางพารา


การจัดการดินเพื่อปลูกยางพารา โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าวนี้ จะสามารถลดอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ ประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ และสามารถเพิ่มผลผลิตยางพาราได้ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับวิธีการปฏิบัติเดิมของเกษตรกร


นาย รัตวิ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า (วันที่ 8 มกราคม 2558)