ผู้เขียน หัวข้อ: โบรกขอเอี่ยวถกร่างควบรวมตลาด AFET-TFEX (08/01/2558)  (อ่าน 696 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84455
    • ดูรายละเอียด
โบรกขอเอี่ยวถกร่างควบรวมตลาด AFET-TFEX (08/01/2558)

ก.ส.ล. รับลูก ครม. ควบรวม AFET-TFEX ด้านพนักงาน-โบรกเกอร์ไม่มั่นใจรวมได้จริง เหตุเอเฟทมีปริมาณการเทรดน้อย

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" กล่าวว่า ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ได้มีมติให้ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ควมรวบกับตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX นั้น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ก.ส.ล.) ได้มอบนโยบายให้ สำนักงาน ก.ส.ล.ดำเนินการให้การควบรวมเป็นไปอย่างราบรื่น

นายประยุทธ ศิริสวัสดิ์พิพัฒน์ รักษาการเลขาธิการ ก.ส.ล. ชี้แจงว่า ประธาน ก.ส.ล.กล่าวว่า แม้ว่าจะควบรวมแต่ต้องรักษาเจตนารมณ์เดิมที่ใช้การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เป็นเครื่องมือเพื่อทำให้กลไกราคาทำงาน สามารถสะท้อนราคาสินค้าเกษตรไทยให้สามารถใช้อ้างอิงในตลาดโลกในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ รวมไปถึงเป็นเครื่องมือในการประกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ราคาซื้อขายล่วงหน้ามาวางแผนการผลิตได้ โดยระหว่างดำเนินการด้านกฎหมาย AFET ยังคงเปิดการซื้อขายปกติ

"ด้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.ส.ล. และ AFET นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เน้นย้ำให้พนักงาน ก.ส.ล. ทุกคนโยกย้ายไปทำงาน ณ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยได้รับสิทธิประโยชน์และค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน" นายประยุทธกล่าว

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมยกร่าง พระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ฉบับที่...) พ.ศ. .... เพื่อให้เป็นตามหลักการของ ครม. ที่ต้องการเปิดกว้างให้มีการซื้อขายง่ายขึ้น พร้อมทั้งแก้ไขโครงสร้างองค์กรใหม่ให้สอดคล้องกับการดำเนินงาน โดยมีเงื่อนไขว่าให้คงรายการสินค้าที่เทรดอยู่ในตลาด AFET เดิมไว้ทั้งหมด และให้รับพนักงานของ AFET เข้าทำงาน ส่วนงบประมาณยังต้องหารือในรายละเอียดในระหว่างการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ

"การควบรวมจะทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานที่ถนัดเรื่องนี้จะช่วยทำให้มีการเทรดได้มากขึ้น หากในอนาคตมีนโยบายแทรกแซงหรือดูแลสินค้าเกษตร จนทำให้ไม่มีความผันผวน ปริมาณการเทรดน้อยคงไม่ส่งผลกระทบต่อตลาด เพราะขึ้นอยู่กับการเลือกเทรดในตลาดร่วม ซึ่งจะมีสินค้ามากขึ้น ไม่เทรดสินค้าหนึ่งก็สามารถเทรดอีกสินค้าหนึ่งได้"

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์กล่าวว่า ขณะนี้มีการเรียกผู้ประกอบการโบรกเกอร์ไปหารือแนวทางการยกร่าง พ.ร.บ.การซื้อขายฯฉบับใหม่ คาดว่าจะทราบความชัดเจนภายใน 2-3 สัปดาห์นี้

"แม้ว่า ครม.จะเห็นชอบในหลักการ แต่ทางปฏิบัติอาจจะทำไม่ได้ เพราะเอเฟทมีปริมาณการซื้อขายน้อยมาก และกระจุกเพียงกลุ่มยางเท่านั้น สินค้าอื่นแทบไม่มีการซื้อขาย เมื่อราคายางลดลงปริมาณการซื้อขายต่อวันจาก 700-1,000 สัญญาลดลงตามไปด้วย กลุ่มโบรกเกอร์มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง หากจะรวมกันทางโบรกเกอร์ไม่มั่นใจจะทำได้"

แหล่งข่าวจากตลาด AFET กล่าวว่า ตอนนี้ทางผู้บริหารเอเฟทแจ้งว่า จะรับพนักงานเข้าทำงานตามปกติ โดยไม่มีการบอกหลักเกณฑ์ในการรับพนักงานกลับไปทำงานในองค์กรใหม่อย่างชัดเจน แต่เท่าที่ทราบทาง ก.ล.ต.ตั้งเงื่อนไขในการคัดเลือกพนักงานเข้าไปทำงาน โดยทุกคนต้องไปสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ จึงมีการสันนิษฐานว่าอาจจะมีการรับพนักงานเพียงบางส่วนหรือไม่ แล้วเหตุใดจึงไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้พนักงานในองค์กรทั้งหมดประมาณ 50 คนไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดเอเฟทมีสินค้า 7 รายการ ได้แก่ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3), ยางแท่งเอสทีอาร์ 20 (STR20), ข้าวขาว 5% แบบ Both Options (BWR5) ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 Both Options (BHMR) ข้าวขาว 5% FOB (WRF5) มันสำปะหลังเส้นแบบ Both Options (TC) สับปะรดกระป๋องชนิดชิ้นคละในน้ำเชื่อม(CPPL) และมีสมาชิกที่เป็นนายหน้าซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (โบรกเกอร์) 11 ราย ได้แก่ บริษัท เอเซีย คอมมอดิตี้ฟิวเจอร์ส จำกัด, บริษัท อินฟินิตี้ เวลท์ ฟิวเจอร์ส จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีเอส ฟิวเจอร์ส จำกัด, บริษัท แอโกรเวลท์ จำกัด, บริษัท หงต้า ฟิวเจอร์ส จำกัด, บริษัท พัฒนาเกษตรล่วงหน้า จำกัด, บริษัท ฟิวเจอร์ อกริ เทรด จำกัด และบริษัท แอ็กโกรว์ เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด

อนึ่ง ตลาด AFET เป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าปี 2542 มีฐานะเป็นนิติบุคคลอิสระ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าภายใต้กฎระเบียบที่ชัดเจน และสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ปริมาณการซื้อขายน้อยไม่ได้รับความนิยม ส่วนหนึ่งเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลใช้นโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร หรือจำนำ เช่น ข้าว และยางพารา ทำให้ราคาสินค้าเกษตรนิ่งไม่จูงใจให้เกิดการซื้อขายเก็งกำไร



ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (วันที่ 7 มกราคม 2558)