ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันอังคารที่? 30 ธันวาคม พ.ศ. 2557  (อ่าน 1009 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันอังคารที่  30  ธันวาคม  พ.ศ. 2557


ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


- วันนี้จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2558 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังมีฝนกระจายและตกหนักบางแห่ง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง


2. การใช้ยาง


- คณะกรรมการยางอินเดียเปิดเผยว่า เดือนพฤศจิกายนอินเดียนำเข้ายางธรรมชาติเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 19 หรือ 33,156 ตัน เนื่องจากปริมาณการผลิตยางในประเทศลดลง และราคายางในตลาดโลกตกต่ำ ทำให้ผู้ผลิตยางล้อต้องนำเข้ายางจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยปริมาณผลผลิตยางเดือนพฤศจิกายนลดลงจากปีก่อน เนื่องจากเกษตรกรหลายรายงดกรีดยาง ภายหลังจากราคายางตกต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ขณะที่การใช้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบร้อยละ 12 หรือ 85,000 ตัน


- บริษัทโตโยต้า มอร์เตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์สะสม 11 เดือนมีปริมาณจำหน่าย 792,328 คัน หรือลดลงร้อยละ 34.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าตลาดรถยนต์เดือนธันวาคมมีแนวโน้มทรงตัว ถึงแม้ว่าจากสถิติการจำหน่ายเดือนธันวาคมจะเป็นเดือนที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของปี เนื่องจากคำสั่งซื้อโดยรวมในประเทศมีสัญญาณชะลอตัว เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ


3. เศรษฐกิจโลก


- คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานสูงสุดด้านการวางแผนเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2558 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 7.0 จากปี 2557 พร้อมเปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 2.0 ในปี 2558


- แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ธนาคารกลางจีนจะปรับกฎระเบียบเกี่ยวกับการคำนวณเงินฝากของธนาคาร ซึ่งจะเริ่มในปีหน้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มเม็ดเงินสำหรับปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ โดยธนาคารกลางจีนได้ยกเว้นให้ธนาคารต่าง ๆ ไม่ต้องกันเงินสำรอง


- สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนามรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ตลอดทั้งปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 5.98 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 5.80 ขณะที่ GDP ไตรมาส 4 ขยายตัวร้อยละ 6.96 เมื่อเทียบเป็นรายปี จากที่ขยายตัวร้อยละ 6.07 ในไตรมาส 3


- สำนักงานปริวรรตเงินตราแห่งรัฐของจีน (SAFF) เปิดเผยว่า จีนมียอดเกินดุลการลงทุนระหว่างประเทศสุทธิ 1.8 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนกันยายน


- ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนของกระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยว่า การลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ (FDI) ที่หลั่งไหลสู่จีนยังคงมีแนวโน้มมีเสถียรภาพในปี 2557 และ 2558 เนื่องจากบรรยากาศการลงทุนที่สดใส โดยประเมินว่า FDI จะยังอยู่ราว 1.20 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ สำหรับตลอดปี 2557 ค่อนข้างทรงตัวเมี่อเทียบกับ 1.176 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ ที่รายงานไว้เมื่อปีที่แล้ว


- กระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจรัสเซียเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เดือนพฤศจิกายนติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 2552 โดย GDP หดตัวลงร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบเป็นรายปี และคาดว่า GDP จะหดตัวลงร้อยละ 0.3 ในปี 2558 หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ที่ระดับ 60 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล และจะขยายตัวร้อยละ 0.8 หากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 80 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล


4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.98 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.05 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- เงินเยนอยู่ที่ 120.53 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.06 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ปิดตลาดที่ 53.61 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.12 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่าอุปทานน้ำมันในตลาดโลกอาจอยู่ในระดับที่สูงเกินไป หลังจากสหรัฐฯ ระบุว่าสต๊อคน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น และซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของกลุ่มโอเปคยืนยันว่าโอเปคไม่มีแนวโน้มจะลดปริมาณการผลิตน้ำมัน


- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ปิดที่ 57.88 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 1.57 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล


6. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ 193.1 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 3.3 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ 209.9 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 5.5 เยนต่อกิโลกรัม


- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 166.9 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 2.4 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


7. ข่าว


- เงินยูโรปรับตัวอ่อนลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี เมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐ หลังจากนายกรัฐมนตรีกรีซล้มเหลวในความพยายามเป็นครั้งที่ 3 และเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อให้มีการสนับสนุนผู้แทนจากรัฐบาลในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นการตอกย้ำถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองในกรีซ ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลใหม่และบรรดาเจ้าหนี้นานาประเทศ ส่งผลให้กรีซจะต้องจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดในช่วงต้นปีหน้า (มกราคม - กุมภาพันธ์)


8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ


- ราคายางปรับตัวสูงขึ้น โดยผู้ประกอบการกล่าวว่า ปริมาณผลผลิตมีน้อยมาก ฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉาะทางภาคใต้ตอนล่าง หากประเมินทั้งปีผลผลิตหายไปอย่างน้อยร้อยละ 20 - 30 ขณะนี้ผู้ส่งออกเริ่มขาดแคลนยาง ฉะนั้นหลังปีใหม่คาดว่าราคายางจะดีขึ้น เพราะต้องเร่งซื้อก่อนจะหยุดกรีดในฤดูยางผลัดใบ


แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดล่วงหน้าโตเกียวและเซียงไฮ้ โดยได้รับแรงหนุนจากข่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติการกระตุ้นเศรษฐกิจฉุกเฉินมูลค่า 3.5 ล้านล้านเยน และธนาคารกลางจีนปรับกฎระเบียบโดยเพิ่มเม็ดเงินสำหรับปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นสภาพคล่อง ประกอบกับสภาพอากาศทางภาคใต้ของไทยยังมีฝนตกชุก ไม่เอื้อต่อการกรีดยาง รวมทั้งนโยบายผลักดันราคายางของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง และการชะลอซื้อ - ขายของนักลงทุนก่อนถึงสิ้นปี และความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของกรีซ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคายางได้ในระดับหนึ่ง










ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา