ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันศุกร์ที่? 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557  (อ่าน 985 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันศุกร์ที่  26  ธันวาคม  พ.ศ. 2557


ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


-  มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังอ่อนแรงลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณทางตอนล่างของภาค ยังต้องระวังอันตรายจากปริมาณน้ำฝนที่จะตกสะสมต่อไปอีก 1-2 วัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง


2. การใช้ยาง


- นายอำนวย ปติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าขณะนี้กองทุนมูลภัณฑ์กันชน (Buffer Fund) ที่รัฐบาลให้เงินจำนวน 21,000 ล้านบาท ไปซื้อยางพาราในตลาดเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยได้เงินก้อนแรก 6,000 ล้านบาท ล่าสุดใช้เงินไปแล้ว 1,300 ล้านบาท ซื้อยางพาราได้แล้ว 16,000 ตัน ซึ่งการซื้อยางพาราในตลาดจะยังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ประกอบกับรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือยางพารา ทำให้เชื่อว่าราคายางพาราปีหน้าจะอยู่ระหว่าง 60-70 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 65 บาท พร้อมกับกล่าวว่าวันที่ 27 ธันวาคม นี้จะมีการส่งมอบยางให้บริษัทไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ อินดัสทรี กรุ๊ป และมองว่าในปี 2558 ในภาพรวมราคายางมีแนวโน้มทรงตัวและดีขึ้น


3.เศรษฐกิจโลก


- แถลงการณ์ของรัฐบาลจีน เปิดเผยว่า รัฐบาลจะเพิ่มสนับสนุนด้านการเงินแก่บริษัทจีนที่มีการลงทุนและดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ หรือมีความประสงค์ที่จะเข้าสู่ตลาดโลก โดยระบุว่าการยกระดับการสนับสนุนด้านการเงินนั้น จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถจัดการกับกำลังการผลิตส่วนเกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมความร่วมมือกับบริษัทในต่างประเทศ


- กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน ของญี่ปุ่น ปรับตัวลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า


- กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานในเดือนพฤศจิกายน ปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่พิจารณาถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีเมื่อเดือนเมษายน ดัชนี CPI พื้นฐานในเดือนพฤศจิกายน ขยายตัวร้อยละ 0.7 ซึ่งชะลอลงจากอัตราร้อยละ 0.9 ในเดือนตุลาคม และต่ำกว่าเป้าหมาย
ของธนาคารกลางญี่ปุ่นอย่างมาก


- รัฐบาลญี่ปุ่นเสร็จสิ้นการจัดทำชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉุกเฉิน ซึ่งมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้นโยบายอะเบะโนมิกส์ ของนายกรัฐมนตรีส่งผลกระเพื่อมไปถึงเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ชุดมาตรการฉุดเฉินดังกล่าว รวมถึงมาตรการสนับสนุนภาคครัวเรือนและบริษัทขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเข้าที่ปรับตัวขึ้น อันเนื่องมาจากการอ่อนค่าของเงินเยน และจากการขึ้นภาษีการบริโภคเมื่อวันที่ 1 เมษายน


- รัสเซียคาดปี 2558 จะขาดดุลมากกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจนเกือบเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยที่ผ่านมาการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกและราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจรัสเซีย โดยมีการประเมินจากธนาคารกลางรัสเซียว่า GDP ของรัสเซียอาจจะหดตัวลงอย่างน้อยร้อยละ 4.5 ในปีหน้า หากราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.87 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.01 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- เงินเยนอยู่ที่ 120.25 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.01 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


5. ราคาน้ำมัน


- ตลาดน้ำมันนิวยอร์กปิดทำการวันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม เนื่องในวันคริสต์มาส


- ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก ประกาศงบประมาณขาดดุลที่ระดับ 1.45 แสนล้านริยาล (3.86 หมื่นล้านดอลลาร์) ในปี 2558 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก ในขณะที่ยังคงเพิ่มรายจ่ายของรัฐบาลอีกร้อยละ 0.6


6. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ 188.9 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.4 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ 203.4 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.3 เยนต่อกิโลกรัม


- ราคาตลาด SICOM ปิดทำการในวันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม 2557 เนื่องในวันคริสต์มาส


7. ข่าว


- ตลาดหุ้นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย และฮ่องกง ปิดทำการ วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม เนื่องในวันคริสต์มาส


- รัฐบาลญี่ปุ่น รายงานว่า อัตราว่างงานของญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า โดยทรงตัวที่ร้อยละ 3.5


- นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เรียกร้องบรรดาผู้บริหารธุรกิจขึ้นค่าจ้างให้กับพนักงาน ตามที่ได้มีการตกลงกันไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรธุรกิจและสภาพแรงงาน โดยหวังว่าการปรับตัวขึ้นของค่าแรงจะช่วยส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ


8. ข้อคิดเห็นของ ผู้ประกอบการ


- ราคายางน่าจะทรงตัวเพราะใกล้ปีใหม่ หลายโรงงานชะลอการซื้อเพื่อปิดบัญชีประจำปีและหมดสัญญาส่งมอบ จึงต้องรอดูหลังปีใหม่  โดยผู้ประกอบการบางรายกล่าวว่าราคาน่าจะดีขึ้น เพราะต้องส่งมอบยางในเดือนหน้า ผู้ส่งออกจึงต้องเร่งซื้อ  ขณะที่ผลผลิตยางมีน้อยและอีก 1-2 เดือน ก็เริ่มเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ


แนวโน้ม   ราคายางมีแนวโน้มทรงตัวหรือเปลี่ยนแปลงในช่วงแคบ ๆ โดยมีปัจจัยบวกมาจากราคาตลาดโตเกียวปรับตัวสูงขึ้น และเงินเยนอยู่ในระดับอ่อนค่า ประกอบกับหลายพื้นที่ปลูกยางของไทยและมาเลเซีย ประสบปัญหาฝนตกหนัก เกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้อุปทานยางออกสู่ตลาดน้อยลง รวมทั้งนโยบายการแก้ไขปัญหาราคายางของภาครัฐ  ส่วนปัจจัยลบมาจากนักลงทุนชะลอการซื้อในช่วงใกล้หยุดยาวในเทศกาลปีใหม่ และยังไม่มั่นใจในแนวโน้มเศรษฐกิจโลก


ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา