ผู้เขียน หัวข้อ: รัฐโล่งยางทะลุ60บาท/กก. (29/12/2557)  (อ่าน 848 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84473
    • ดูรายละเอียด
รัฐโล่งยางทะลุ60บาท/กก. (29/12/2557)
« เมื่อ: ธันวาคม 29, 2014, 09:13:26 AM »
รัฐโล่งยางทะลุ60บาท/กก. (29/12/2557)

รัฐบาลโล่งอกราคายาง ทะลุกิโลกรัมละ60บาท หลังใช้เงินกองทุนมูลภัณฑ์กันชนแค่1,300ล้าน สามารถดันราคาให้สูงขึ้นได้

หลังจากรัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์แก้ปัญหาราคายางพารา โดยใช้กองทุนมูลภัณฑ์กันชน (Buffer stock ) เป็นตัวขับเคลื่อนในการแก้ปัญหา เพื่อที่จะทำให้ราคาขายยางพาราให้ได้ที่กิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลที่ประกาศไว้

นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงราคายางพาราวานนี้ (26 ธ.ค.) ยางแผ่นดิบรมควันชั้น3 ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 60.50 บาท เป็นไปตามเป้าหมายแรกที่รัฐบาลต้องการให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการของชาวสวนที่ราคากิโลกรัมละ 60 บาทภายในปี 2557

ทั้งนี้จากข้อมูลของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ระบุว่าราคายางพารา ได้ปรับตัวสูงขึ้นแตะที่กิโลกรัมละ 60 บาทมาตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมาแล้ว โดยที่ตลาดกลางยางพาราสงขลา ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาขึ้นไปถึงระดับ 60 บาทต่อกิโลกรัมได้ปรับสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 2 บาท ส่วนยางแผ่นดิบ ราคา 55 บาทต่อกิโลกรัม ขยับขึ้น 1 บาท น้ำยางสด ณ โรงงาน ราคา 43 บาทต่อกิโลกรัม

ดึงกองทุนมูลภัณฑ์กันชนดันราคายาง
ส่วนกองทุนมูลภัณฑ์กันชน (Buffer stock ) วงเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลเบิกเงินมาใช้เพื่อซื้อนำราคาตลาดได้รับซื้อไปแล้ว 20,000 ตัน วงเงิน 1,300 ล้านบาท วงเงินดังกล่าวสามารถพยุงราคายางให้ขึ้นไปสู่เป้าหมายได้ ซึ่งยังมีเงินเหลืออีก 18,700 ล้านบาท เชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการยางพาราไม่ให้มีปัญหา

ส่วนการขายยางออกวานนี้ องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) จะส่งมอบยางพาราให้กับไห่หน่าน ประเทศจีนล็อตแรก จำนวน 2,000ตัน จากเป้าหมายการส่งมอบทั้งหมดล็อตแรก 20,000 ตัน ตามที่มีสัญญาซื้อขายกันไว้ระหว่างจีนกับไทย

ทั้งนี้ปี 2558 กระทรวงเกษตรฯจะเร่งขับเคลื่อนกลไก ของ 16 มาตรการที่ คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้มีการขับเคลื่อนเพื่อพยุงราคาและปรับโครงสร้างยางพารา ให้ชาวสวนยางและอุตสาหกรรมยางพาราเติบโต และมีรายได้เพิ่มขึ้น ในเดือนมี.ค.2558 ทุกมาตรการต้องบรรลุผล และทุกมาตรการของกระทรวงเกษตรฯ จะบรรลุเป้าหมาย

รัฐวาง16มาตรการแก้ปัญหาราคา
สำหรับ16 มาตรการ ประกอบด้วย 1.โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง 2.โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง รายละ 15,000 บาท 3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม รายละไม่เกิน100,000 บาท4. โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง 5.โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อใช้ในการรวบรวมยาง 6. โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา 5,000 ล้านบาท 7.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง 15,000 ล้านบาท 8.โครงการพัฒนาตลาดตามแผนปรับโครงสร้างระบบตลาดยางพารา

9.โครงการจัดหาตลาดใหม่เพื่อส่งออกยางพารา 10.โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศ โครงการสนับสนุนผู้ ประกอบผลิตภัณฑ์ยาง 11. โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมยาง 12. โครงการควบคุมปริมาณการผลิต 13.โครงการผลิตเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 14. โครงการลดต้นทุนการผลิต 15. โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตยาง และ 16.โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบปี 2557 ระยะสั้น สนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรไร่ละ 2,520 บาท

ชง42โรงงานขอสินเชื่อแปรรูปยาง
นายสมชาย หาญหิรัญ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการ ยาง 10,000 ล้านบาท ว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราประมาณ 42 ราย เข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการนี้และผ่านการตรวจสอบจากกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว มีวงเงินขอสินเชื่อรวมประมาณ 6,700 ล้านบาท กระทรวงฯจะรวบรวมรายชื่อส่งไปยังธนาคารกรุงไทยวันที่ 30 ธ.ค. นี้ หากมีวงเงินเหลือก็จะนำมาพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มกับผู้ที่เข้าร่วม โครงการ มั่นใจว่าจะใช้วงเงินสินเชื่อได้ครบจำนวน 10,000 ล้านบาท

?จากการประเมินจากทะเบียนโรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารามีถึง 94 ราย แต่ผ่านการคัดเลือกประมาณ 42 รายโดยผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือก ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่มีต่างชาติถือหุ้นกว่า 51% ทำให้ไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ที่กำหนด และบางส่วนไม่ต้องการกู้ทั้งนี้คาดว่าท้ายที่สุดจะมีวงเงินสินเชื่อจะเหลือ อยู่ราย 2,000-3,000 ล้านบาท จะนำมากระจายให้กับโรงงานที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มให้ครบจำนวน 10,000 ล้านบาท โดยจะพิจารณาตามศักยภาพการผลิตของเครื่องจักร และความสามารถในการเก็บสต็อกยาง? นายสมชายกล่าว

เชื่อสินเชื่อถึงมือไตรมาสแรกปี58
หลังจากนี้จะส่งรายชื่อโรงงานที่ผ่านการประเมินจากกระทรวงอุตสาหกรรมทั้ง หมด  ให้กับธนาคารกรุงไทย เพื่อพิจารณาปล่อยสินเชื่อในแต่ละรายต่อไป คาดว่าผู้ประกอบการทั้งหมดจะได้รับสินเชื่อภายในไตรมาส 1 ของปี 2558 โดยโครงการนี้คาดว่าจะดูดซับยางพาราส่วนเกินออกจากระบบได้ประมาณ 2 แสนตัน จะช่วยยกระดับราคายางพาราได้บางส่วน
อย่างไรก็ตาม มองว่าราคายางพารา ในปีหน้าจะสูงกว่านี้ เนื่องจากจะมีโรงงานแปรรูปยางพาราขนาดใหญ่จากจีนเข้ามาตั้งโรงงานในไทยเพิ่ม อีก 3-4 โรงงาน และยังมีการตั้งโรงงานและขยายกำลังการผลิตจากนักลงทุนไทยและชาติอื่นๆอีก หลายราย ประกอบกับคาดว่าราคาน้ำมันดิบไม่น่าจะต่ำกว่าระดับ 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ราคายางในตลาดโลกไม่น่าจะลดลงต่ำกว่านี้

หวังช่วยดูดซับปริมาณยางในตลาด

สำหรับโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการ ยางนี้ จะช่วยดูดซับยางพาราในช่วงที่ออกสู่ตลาดมากที่สุด คือ ระหว่างเดือนพ.ย. 2557 - เม.ย.2558 เพื่อสนับสนุนโรงงานน้ำยางข้นให้มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นในการรับซื้อน้ำ ยางดิบจากเกษตรกรโดยรัฐจูงใจด้วยการชดเชยดอกเบี้ยอัตรา 3% แก่ผู้ประกอบการในวงเงินชดเชย 300 ล้านบาท

ทั้งนี้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้น ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และเป็นลูกค้าของสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) และธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ โดยสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่ผู้ขอเข้าร่วมโครงการมีสถานประกอบการ ตั้งอยู่



ที่มา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (วันที่ 27 ธันวาคม 2557)

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 29, 2014, 09:14:59 AM โดย Rakayang.Com »