ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557  (อ่าน 919 ครั้ง)

Rakayang.Com

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 84444
    • ดูรายละเอียด

วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง

วันพฤหัสบดีที่  18  ธันวาคม  พ.ศ. 2557


ปัจจัย


วิเคราะห์


1. สภาพภูมิอากาศ


- บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นกับมีลมแรง และอุณหภูมิลดลง 3 - 5 องศาเซลเซียส สำหรับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล


2. การใช้ยาง


- สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า มีความเป็นไปได้ที่ทางการจีนจะปรับขึ้นภาษีนำเข้ายางธรรมชาติในปี 2558 ทั้งนี้แม้ว่ายังไม่มีการกำหนดรายละเอียด แต่บุคคลในแวดวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า มาตรฐานการปรับภาษีนำเข้ายางธรรมชาติปี 2558 ระบุไว้ว่า ภาษีนำเข้ายางธรรมชาติบางรายการจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 หยวนต่อตัน จากปัจจุบัน1,200 หยวนต่อตัน ส่วนภาษีนำเข้าอิมัลชันธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 960 หยวนต่อตัน จาก 720 หยวนต่อตัน


- บริษัท วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศความสำเร็จในแผนการลงทุน 5,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งจะเริ่มปลายปี 2558 โดยการลงทุนครั้งนี้ 2,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในการขยายกำลังการผลิต อีก 2,000 ล้านบาท เป็นการขยายเครือข่ายการจัดจำหน่ายและการบริการ และอีก 1,000 ล้านบาท สำหรับสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคและศูนย์บริการสาขาบางนาแห่งใหม่ที่ ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย


- นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มั่นใจว่าจะเห็นราคายางที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่กิโลกรัมละ 60 บาท ได้ภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้ราคายางขยับขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และพร้อมจะลงพื้นที่ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรโดยตรง


3. เศรษฐกิจโลก


- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปหรือยูโรสแตท เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนเดือนพฤศจิกายนปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบรายปี ชะลอตัวจากร้อยละ 0.4 ในเดือนตุลาคม ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนไม่เปลี่ยนแปลงจากรายงานเบื้องต้นที่มีการเปิดเผยเมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว


- คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยมติการประชุมซึ่งเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557 โดยระบุว่าเฟดสามารถอดทนรอต่อไป ในการปรับท่าทีด้านนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมยืนยันว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับใกล้ศูนย์ต่อไป


- กระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยว่า ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 1.036 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ


- ผลสำรวจธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ภาคธุรกิจญี่ปุ่นคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ในปีหน้า ต่ำกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 2.0 และปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อ 3 เดือนก่อน


- มาร์กิต อิโคโนมิกส์ เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการของยูโรโซนเดือนธันวาคมปรับตัวขึ้นแตะ 51.7 จุด เป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 51.1 จุดในเดือนพฤศจิกายน


- ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายนปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 6 ปี เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพฤศจิกายนปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3 จากเดือนตุลาคม นับว่าลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียงร้อยละ 0.1


- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาสที่ 3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 อยู่ที่ 1.0026 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ จากระดับ 9.84 หมื่นล้านดอลล่าร์ในไตรมาสที่ 2 สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 9.75 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ


4. อัตราแลกเปลี่ยน


- เงินบาทอยู่ที่ 32.95 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.05 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ


- เงินเยนอยู่ที่ 118.78 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 2.10 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ


5. ราคาน้ำมัน


- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมกราคม 2558 ปิดตลาดที่ 56.47 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.54 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA.) เปิดเผยสต๊อคน้ำมันดิบปรับตัวลดลงในรอบสัปดาห์ที่แล้ว ช่วยให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานที่มีอยู่มากเกินไป


- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนมกราคม 2558 ปิดที่ 61.18 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.17 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล


- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA.) เปิดเผยว่า สต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในรอบสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ธันวาคม 2557 ลดลง 847,000 บาร์เรล อยู่ที่ 379.9 ล้านบาร์เรล ส่วนสต๊อคน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 207,000 บาร์เรล อยู่ที่ 121.5 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 1 ล้านบาร์เรล


6. การเก็งกำไร


- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ 189.4 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.4 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ 202.9 เยนต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.6 เยนต่อกิโลกรัม


- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 163.9 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.4 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม


7. ข่าว


- สัญญาทองคำตลาดล่วงหน้าสหรัฐฯ ปิดตลาดปรับขึ้นเล็กน้อย ถือว่าทรงตัว ท่ามกลางความวิตกกังวลของบรรดาเทรดเดอร์ในตลาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ใกล้จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ลดความน่าดึงดูดใจในการลงทุนทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย


8. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ


- ราคายางน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากนโยบายภาครัฐในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ประกอบกับปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดน้อยจากภาวะฝนตกหนักในภาคใต้








แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เพราะได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากสต๊อคน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง และผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาดลดลงซึ่งเป็นผลมาจากภาคใต้ของไทยมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนักลงทุนมีความเชื่อมั่นจากมติที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ร้อยละ 0 - 0.25






ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา