วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคายาง
วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557
ปัจจัย
วิเคราะห์
1. สภาพภูมิอากาศ
- ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นลง อุณหภูมิจะลดลง 3 - 5 องศาเซลเซียส ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ทำให้หลายพื้นที่กรีดยางได้เพิ่มขึ้น
2. การใช้ยาง
- สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดผลิตรถยนต์เดือนตุลาคมลดลงร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะ 816,936 คัน ลดลง 4 เดือนติดต่อกัน ขณะที่ความต้องการในประเทศและส่งออกยังคงซบเซา
3. สต๊อคยาง
- สต๊อคยางจีน ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 ลดลง 43,735 ตัน หรือลดลงร้อยละ 24.26 อยู่ที่ 136,531 ตัน จากระดับ 180,266 ตัน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557
4. เศรษฐกิจโลก
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า เงินเฟ้อในกลุ่มยูโรโซนเดือนพฤศจิกายนปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.3 ซึ่งชะลอตัวจากร้อยละ 0.4 ในเดือนตุลาคม ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี
- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมันเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี และยังปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
- Qfk กลุ่มวิจัยด้านการตลาด เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมันเดือนธันวาคมปรับตัวขึ้นแตะร้อยละ 8.7 จุด จากเดือนพฤศจิกายนที่ร้อยละ 8.5 เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นเกี่ยวกับรายได้
- สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน และสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนพฤศจิกายนลดลงแตะ 50.3 จุด จาก 50.8 จุด ในเดือนตุลาคม แสดงให้เห็นว่าบรรยากาศธุรกิจยังคงซบเซา ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอลง
- สำนักงานสถิติกลางอินเดียรายงานว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวร้อยละ 5.3 ซึ่งถือเป็นไตรมาส 2 ของปีงบประมาณปัจจุบัน โดยชะลอตัวลงจากอัตราร้อยละ 5.7 ในช่วงไตรมาสแรก
- สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศสเปิดเผยว่า ผู้บริโภคชาวฝรั่งเศสใช้จ่ายน้อยลงในการซื้อสินค้าภาคการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานในช่วงเดือนตุลาคม โดยข้อมูลระบุว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวลดลงร้อยละ 0.9 ในเดือนตุลาคม
- กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ตัวเลขการลงทุนทางธุรกิจประจำไตรมาส 3 ของบริษัทญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี ะ
5. อัตราแลกเปลี่ยน
- เงินบาทอยู่ที่ 32.91 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.11 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
- เงินเยนอยู่ที่ 118.91 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลง 0.72 เยนต่อดอลล่าร์สหรัฐ
6. ราคาน้ำมัน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาด Nymex ส่งมอบเดือนมกราคม 2558 ปิดตลาดที่ 66.15 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 7.54 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ตัดสินใจไม่เปลี่ยนแปลงเพดานการผลิตน้ำมันในการประชุมล่าสุด แม้ตลาดโลกมีอุปทานน้ำมันที่สูงขึ้นก็ตาม
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ตลาดลอนดอน ส่งมอบเดือนมกราคม 2558 ปิดที่ 70.15 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 2.43 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล
7. การเก็งกำไร
- ราคาตลาด TOCOM ส่งมอบเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ 187.4 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 3.3 เยนต่อกิโลกรัม และส่งมอบเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ 197.0 เยนต่อกิโลกรัม ลดลง 3.2 เยนต่อกิโลกรัม
- ราคาตลาด SICOM เปิดตลาดที่ 157.3 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม ลดลง 2.7 เซนต์สหรัฐต่อกิโลกรัม
8. ข่าว
- สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรปเปิดเผยว่า อัตราว่างงานของยูโรโซนเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 11.5 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนกันยายน แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 11.9 ส่วนอัตราว่างงานของสหภาพยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 10.0 ในเดือนตุลาคม ลดลงจากร้อยละ 10.7 โดยเฉพาะอิตาลีอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ร้อยละ 13.2 จากร้อยละ 12.9 ในเดือนกันยายน ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่
- กระทรวงการคลัง และสำนักงานจัดเก็บภาษีแห่งรัฐของจีน ประกาศว่า จีนจะปรับขึ้นภาษีการบริโภคผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยเริ่มมีผลในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ได้มีการปรับขึ้นครั้งก่อนเมื่อปี 2552 โดยภาษีบริโภคเบนซินจะเพิ่มขึ้นจาก 1 หยวน มาอยู่ที่ 1.12 หยวน
9. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการ
- ราคายางปรับตัวลดลงตามตลาดต่างประเทศ และผู้ส่งออกมีสัญญาส่งมอบยางล่วงหน้าในราคาต่ำ ดังนั้นเมื่อปริมาณยางเพิ่มขึ้นจากภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ผู้ส่งออกถือโอกาสกดดันราคา เพื่อป้องกันการขาดทุน
แนวโน้ม ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามตลาดล่วงหน้าโตเกียว และราคาน้ำมันที่ทำสถิติต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี ประกอบกับนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ยาง หลังจากหลายประเทศยังคงเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยเฉพาะจีนผู้ใช้ยางอันดับหนึ่งของโลกที่สัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว
ทีมวิเคราะห์สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา